นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยถือว่ามีแนวโน้มที่ดี เนื่องจากไม่พบผู้ติดเชื้อในประเทศต่อเนื่องมาถึง 32 วันแล้ว ซึ่งเป็นผลจากความร่วมมือของประชาชนในการปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการใส่หน้ากากอนามัยเมื่อออกจากบ้าน, ลดการพบปะสังสรรค์, การทำงานจากที่บ้าน ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ส่งผลดีให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคระบบทางเดินหายใจลดต่ำลงด้วย ไม่ว่าจะเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ หรือโรคปอดอักเสบ
“มาตรการต่างๆ ที่เราใช้ป้องกันโควิดนั้น ได้ผลจริงๆ เพราะไม่เพียงแต่ทำให้สถานการณ์โควิดลดลง แต่ยังช่วยป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ และช่วยป้องกันโรคระบบทางเดินหายใจอื่นๆ ด้วย ทำให้ปัญหาสุขภาพ โดยเฉพาะโรคระบบทางเดินหายใจลดลงอย่างต่อเนื่อง” นพ.ธนรักษ์ กล่าว
รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การจัดการกับปัญหาโรคไวรัสโควิด-19 ที่ดีที่สุดนั้น จะต้องหาจุดที่สมดุลที่จะทำให้มีผู้ป่วยน้อยรายที่สุด ไม่เกินระดับที่ระบบสาธารณสุขในประเทศจะรองรับได้ ในขณะเดียวกันยังคงสามารถทำให้วิถีชีวิต เศรษฐกิจ และสังคมสามารถดำเนินต่อไปได้ พร้อมขอความร่วมมือประชาชนทุกคนในการป้องกันการแพร่ระบาดกันต่อไป เพราะยังมีโอกาสที่การระบาดจะกลับมาได้อีกในอนาคต
“เรายังมีความเสี่ยงที่จะเกิดการแพร่ระบาดได้ตลอดเวลา จนกว่าจะมีวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่คนไทยได้ ตอนนี้เรายังติดตามการพัฒนาวัคซีน และยารักษาโรคอย่างใกล้ชิด ซึ่งมาตรการที่ดีที่สุดในระหว่างนี้ คือมาตรการด้านสาธาณสุข เพราะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจน้อยมากหรือแทบไม่มีเลย ต่างจากมาตรการทางสังคม ซึ่งเป็นมาตรการภาคบังคับต่างๆ”
นพ.ธนรักษ์ ระบุ
ด้าน นพ.พลวรรธน์ วิทูรกลชิต ผู้ตรวจราชการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) เปิดเผยว่า ภาพรวมการใช้งาน “ไทยชนะ” ในประเทศไทย พบว่า ข้อมูลล่าสุดมีร้านค้า/กิจการ ที่ลงทะเบียนแล้ว 230,768 ร้านค้า ประชาชนลงทะเบียนแล้ว 30.79 ล้านคน ทั้งนี้ สัดส่วนการเช็คอิน-เช็คเอาท์ ผ่านแพลตฟอร์มไทยชนะ คิดเป็น 55.6% ขณะที่การเช็คอิน-เช็คเอาท์ ผ่านไทยชนะ คิดเป็น 86.7% และมีการดาวน์โหลดเพื่อใช้งานแอปพลิเคชั่นไทยชนะทั้งในระบบเอนดรอยด์ และ IOS รวมแล้ว 4.24 แสนคน
“เรียกง่ายๆ ว่าตอนนี้คนไทย 1 ใน 3 ใช้ระบบไทยชนะแล้ว เป็นตัวเลขที่น่าสนใจสำหรับการพัฒนาด้านดิจิทัลในบ้านเรา…ถ้าเรายังไม่การ์ดตก ดำเนินมาตรการ 5 ข้อต่อไปเรื่อยๆ เคสใหม่ในไทยจะน้อย หรือถ้าเกิดใหม่ก็จะไม่รุนแรง และถ้ายิ่งใช้ไทยชนะด้วย ก็จะช่วยจำกัดวงการแพร่ระบาด และสอบสวนโรคได้ไว้ขึ้น”
ผู้ตรวจราชการกระทรวง DES ระบุ
นพ.พลวรรธน์ กล่าวถึง 5 จังหวัด ที่มีสัดส่วนการลงทะเบียนในแพลตฟอร์มไทยชนะ และช่วยประเมินผลกิจการ/กิจกรรมสูงสุดว่า อันดับ 1 คือ ปทุมธานี อันดับ 2 นครปฐม อันดับ 3 กรุงเทพมหานคร อันดับ 4 นนทบุรี อันดับ 5 ชลบุรี โดยพบว่ามี 5 ประเภทกิจการ/กิจกรรม ที่ได้รับคะแนนผลการประเมินเฉลี่ยต่ำสุด อันดับแรก คือ ตลาด, ตลาดนัด, ตลาดค้าส่ง, หาบเร่, แผงลอย และรถเข็น อันดับ 2 ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ ร้านค้าปลีก-ส่ง อันดับ 3 การจำหน่ายสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภค อันดับ 4 ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า และคอมมูนิตี้มอลล์ และอันดับ 5 ร้านค้าปลีกธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม
“สิ่งที่น่าห่วงคือ ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ และห้างสรรพสินค้า จากวันแรกๆ ที่อยู่อันดับ 1 พอผ่านมาเดือนกว่า ตกลงมาอยู่เกือบท้ายๆ ในอนาคตเมื่อมีนักท่องเที่ยวเข้ามา และการท่องเที่ยวเริ่มขับเคลื่อน กิจการที่ได้อันดับ 2-4 นี้จะมีคนมาใช้บริการมากขึ้น จึงน่าจะต้องเข้มงวดให้มากกว่านี้ ขอฝากผู้ประกอบการเหล่านี้ไว้ ช่วยเข้มงวด เพราะวันที่เราเปิดประเทศ เราจะกลายเป็นตัวทำให้เกิดการแพร่กระจายโรคเสียเอง ” นพ.พลวรรธน์ กล่าว
พร้อมย้ำว่า ทั้งแพลตฟอร์ม และแอปพลิเคชั่น “ไทยชนะ” คำนึงถึงความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลเป็นสำคัญ ซึ่งตั้งแต่เริ่มเปิดให้ลงทะเบียนมาตั้งแต่กลางเดือนพ.ค.63 ฐานข้อมูลต่างๆ ที่ถูกบันทึกไว้ยังไม่ได้มีการนำออกมาใช้ เนื่องจากยังไม่พบว่ามีผู้ติดเชื้อ หรือมีการแพร่ระบาดภายในประเทศ ซึ่งหากครบระยะเวลา 60 วัน ก็จะมีการลบข้อมูลในส่วนนี้ออกเป็นรอบแรก
ส่วนข้อร้องเรียนว่าเมื่อผู้ใช้โทรศัพท์มือถือระบบ IOS โหลดแอปไทยชนะแล้วได้รับ spam นั้น ผู้ตรวจราชการกระทรวงดีอีเอส กล่าวว่า กระทรวงดีอีเอส และ กสทช. ได้เชิญค่ายแอปเปิ้ล มาหารือ 2 ครั้งแล้ว จากกรณีที่ลูกค้าได้รับข้อความผ่านทาง I message ซึ่งมีการใช้ช่องโหว่ในส่วนนี้ส่งข้อมูลเข้ามาทางโทรศัพท์มือถือในระบบ IOS ซึ่งไม่เกี่ยวกับการดาวน์โหลดแอปไทยชนะแต่อย่างใด โดยขอให้ทางบริษัทฯ เร่งไปดำเนินการแก้ไข แต่ล่าสุดก็ยังไม่มีความคืบหน้า ซึ่งกระทรวงดีอีเอส เตรียมจะส่งหนังสือเชิญรอบ 3 เพื่อมาหารือร่วมกันว่าจะมีวิธีจัดการกับ spam ดังกล่าวอย่างไร
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 มิ.ย. 63)
Tags: COVID-19, กรมควบคุมโรค, กระทรวงสาธารณสุข, ธนรักษ์ ผลิพัฒน์, พลวรรธน์ วิทูรกลชิต, โควิด-19, ไทยชนะ