นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะนำกฎหมายฉบับใดมารองรับมาตรการสกัดกั้นการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 หากต้องยกเลิกการบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยอาจจะนำมาตรการที่ใช้ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไปบรรจุไว้ใน พ.ร.บ.โรคติดต่อแทน เนื่องจาก พ.ร.บ.โรคติดต่อ ได้ปรับปรุงแก้ไขมาตั้งแต่ปี 58 แต่รัฐธรรมนูญออกมาปี 60 ทำให้ข้อกำหนดบางข้อยังไม่สอดคล้องกัน
ส่วนการจะต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หรือไม่นั้น จะต้องรอให้ที่ประชุมใหญ่ของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ในวันที่ 29 มิ.ย.พิจารณาว่าจะเห็นด้วยกับที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เสนอให้ขยายเวลาออกไปอีก 1 เดือนหรือไม่ เพราะต้องฟังความคิดเห็นจากหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากขณะนี้สถานการณ์ในต่างประเทศยังมีความเสี่ยงอยู่
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาทุกหน่วยงานได้ระมัดระวังกันอยู่แล้วในด้านการคุมเข้มกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งครั้งนี้จะเน้นไปโรงเรียนต่างๆที่กำลังจะเปิดเทอมในวันที่ 1 ก.ค.นี้ จะต้องดูแลเด็กๆเป็นกรณีพิเศษ นอกจากนี้ในส่วนของบริเวณชายแดนก็น่าเป็นห่วงเนื่องจากยังมีการเดินทางข้ามไปมาจากต่างประเทศ ซึ่งมีปัญหาอยู่พอสมควร
ส่วนกรณีที่ สมช.ระบุว่าจะไม่เข้มงวดกับนักธุรกิจมากเท่ากับนักท่องเที่ยวทั่วไป นายวิษณุ ชี้แจงว่า หากเป็นกรณีขอเข้ามาอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานานก็ต้องกักตัว 14 วัน แต่หากเข้ามาในระยะสั้นๆ แค่ 3-4 วันก็จะมีมาตรการอีกแบบหนึ่ง เช่น การใช้แอพพลิเคชั่นไทยชนะ พร้อมกับมีตารางเวลาที่จะต้องสามารถติดตามตัวได้ และต้องชี้แจงว่าเข้ามาทำธุรกิจอะไรและไปที่ไหนบ้าง
ข้อสำคัญคือด่านที่ตรวจสอบเชื้อ คือด่านแรกจากประเทศต้นทาง , ด่านที่สองคือมาตรวจเมื่อมาถึงที่ประเทศไทย จากนั้นเข้าสู่ขั้นตอนการเลือกโรงแรมที่จะเข้าพัก, ด่านที่สี่จะต้องจัดทำตารางเวลาการเดินทางระหว่างที่อยู่ในประเทศไทย, ด่านที่ห้าคือใช้แอพพลิเคชั่นไทยชนะในการให้ติดตามตัว, ด่านที่หกคือมีกำหนดเวลาที่แน่ชัด ซึ่งขณะนี้มีชาวต่างขาติที่แจ้งความจำนงต้องการเดินทางเข้ามาในประเทศไทยแล้วกว่า 20,000 คน
ส่วนการขยายเวลาพ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อไปอีกหนึ่งเดือน และถูกฝ่ายค้านและกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง มองว่า มีนัยทางการเมือง นายวิษณุ มองว่า เป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งเป็นอย่างนี้กันทั่วโลก หลายกลุ่มก็มีการออกมาคัดค้าน แต่ก็ถือว่า ดีเป็นการเตือนสติให้รัฐบาลจะได้คิด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 มิ.ย. 63)
Tags: COVID-19, พ.ร.ก.ฉุกเฉิน, วิษณุ เครืองาม, สภาความมั่นคงแห่งชาติ, สมช., โควิด-19