ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วานนี้ (24 มิ.ย.) กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% ต่อปี พร้อมประเมินเศรษฐกิจไทยและอัตราเงินเฟ้อปีนี้ว่ามีแนวโน้มหดตัวมากกว่าประมาณการเดิม โดยเศรษฐกิจไทยได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดแล้วในไตรมาส 2 ปีนี้ และจะกลับมาขยายตัวได้ในปี 64 รวมทั้งแสดงความกังวลต่อสถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่าขึ้น
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้อย่างช้า ๆ ในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ ตามสถานการณ์โควิด-19 ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงอย่างมีนัยและเริ่มมีการเปิดเมืองมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป
ในด้านภาวะการเงินไทย มีทิศทางที่ผ่อนคลายลงบ้างในบางมิติ ไม่ว่าจะเป็นดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยที่ฟื้นตัว 32.4% จากจุดต่ำสุด อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลที่อยู่ในระดับต่ำ และเงินทุนเคลื่อนย้ายที่เริ่มไหลกลับเข้ามายังตลาดการเงินไทย โดยนับตั้งแต่ต้นเดือนมิ.ย.63 มีเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลเข้า 1.8 หมื่นล้านบาท
อย่างไรก็ดี แรงกดดันด้านเงินเฟ้อยังคงต่ำ โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะไม่สามารถกลับมาแตะขอบล่างของกรอบเป้าหมายที่ 1-3% ได้ในปีนี้ แต่จะทยอยฟื้นตัวกลับมาอยู่ที่ 0.9% ในปี 65 ดังนั้น SCB EIC จึงมองว่าความจำเป็นที่ต้องรีบขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมแรงกดดันด้านเงินเฟ้อนั้นยังมีน้อย
ส่วนมาตรการภาครัฐ และนโยบายการเงินด้านอื่น ๆ ที่ออกมาก่อนหน้า มีส่วนช่วยประคับประคองเศรษฐกิจได้ในระดับหนึ่ง โดยนอกจากมาตรการภาครัฐขนาดใหญ่ที่ออกมานั้น ล่าสุด ธปท. ได้ออกนโยบายช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยเพิ่มเติมระยะที่ 2 ซึ่งจะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ความจำเป็นในการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมมีน้อยลง
“เหตุนี้ EIC จึงมองว่า กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ ณ ระดับต่ำสุดในประวัติศาสตร์ที่ 0.5% ในช่วงที่เหลือของปีนี้เป็นอย่างน้อย และอาจมีการขยายมาตรการด้านอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น มาตรการด้านอุปทานที่ช่วยสนับสนุนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ มาตรการด้านสินเชื่อและการปรับโครงสร้างหนี้ รวมถึงมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย”
บทวิเคราะห์ระบุ
SCB EIC ประเมินว่า กนง. เหลือขีดความสามารถในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้อีกอย่างมาก 1 ครั้ง (25 bps) หากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มหดตัวมากกว่าที่ กนง. ประเมินไว้ แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตัวจากจุดต่ำสุด แต่ยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงด้านต่ำ ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงจากการระบาดของโควิด-19 ระยะที่ 2 ซึ่งจะทำให้ภาครัฐต้องกลับมาดำเนินนโยบายปิดเมืองอีกครั้ง หรือความเสี่ยงจากสงครามการค้า ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้ากว่าในกรณีฐาน
หากปัจจัยเหล่านี้เกิดขึ้นจะส่งผลทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด และอาจทำให้ กนง. พิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติม อย่างไรก็ดี SCB EIC มองว่า กนง. เหลือขีดความสามารถในการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกไม่มาก และจะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้อีกอย่างมาก 1 ครั้ง (25 bps) และประเมินว่ามีความเป็นไปได้น้อยที่ กนง. จะใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ
SCB EIC วิเคราะห์ว่า ประสิทธิภาพของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจมีน้อยลง จากมาตรฐานการให้สินเชื่อที่มีแนวโน้มเข้มงวดขึ้น ตามความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยที่อยู่ในระดับสูง แม้ว่าภาครัฐจะสนับสนุนให้มีการปล่อยสินเชื่อมากขึ้นก็ตาม และความต้องการสินเชื่อของภาคธุรกิจเพื่อใช้สำหรับลงทุนเพิ่มเติมก็มีแนวโน้มปรับลดลงเช่นกันตามภาวะเศรษฐกิจ อีกทั้งสถานการณ์หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ก็บั่นทอนการบริโภคที่เพิ่มขึ้น
“ดังนั้น การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติม อาจไม่สามารถกระตุ้นการใช้จ่ายและการลงทุนได้มากนัก ในช่วงที่เศรษฐกิจไทยยังคงฟื้นตัวช้า อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำมาก อาจสร้างความเปราะบางต่อเสถียรภาพระบบการเงิน จากพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield) ที่มาจากการประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควรของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ”
บทวิเคราะห์ระบุ
นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมาก ยังเป็นความเสี่ยงต่อกองทุนบำเหน็จบำนาญและภาคธุรกิจประกันภัย เนื่องจากอัตราผลตอบแทนที่หาได้จะลดลง ทำให้อาจต้องลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น อีกทั้งการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกอาจเพิ่มความเสี่ยงด้านเสถียรภาพต่อสถาบันการเงิน เพราะอาจส่งผลต่อส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (Net Interest Margin: NIM) ซึ่งจะมีผลทำให้แนวโน้มการปล่อยสินเชื่อชะลอลงอีก
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 มิ.ย. 63)
Tags: SCB EIC, กนง., คณะกรรมการนโยบายการเงิน, ดอกเบี้ย, ดอกเบี้ยนโยบาย, ธนาคารแห่งประเทศไทย, ธนาคารไทยพาณิชย์, ธปท., อัตราดอกเบี้ย, อัตราดอกเบี้ยนโยบาย, เศรษฐกิจไทย