นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ระดับ 30.84/89 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าเล็กน้อยจากเย็นวานนี้ที่ปิดตลาดที่ระดับ 30.83 บาท/ดอลลาร์
วันนี้เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าได้เล็กน้อย เนื่องจาก US Index แข็งค่าขึ้น ในขณะที่เมื่อวานนี้ เงินบาทแข็งค่าไปเล็กน้อย หลังจากที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงดอกเบี้ยไว้ในระดับเดิมที่ 0.50%
อย่างไรก็ดี ตลาดยังคงมีความกังวลกับการกลับมาระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบสอง
นักบริหารเงิน คาดว่า วันนี้เงินบาทอาจอ่อนค่าได้เล็กน้อย ให้กรอบไว้ที่ 30.80-31.00 บาท/ดอลลาร์
THAI BAHT FIX 3M (24 มิ.ย.) อยู่ที่ระดับ 0.28769% ส่วน THAI BAHT FIX 6M อยู่ที่ระดับ 0.44609%
ปัจจัยสำคัญ
- เงินเยนอยู่ที่ระดับ 106.85/107.30 เยน/ดอลลาร์ จากเย็นวานที่ระดับ 106.50 เยน/ดอลลาร์
- เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.1230/1270 ดอลลาร์/ยูโร จากเย็นวานที่ระดับ 1.1308 ดอลลาร์/ยูโร
- อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของธปท.อยู่ที่ระดับ 30.872 บาท/ดอลลาร์
- ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (24 มิ.ย.) เนื่องจากนักลงทุนแห่ซื้อดอลลาร์ซึ่งเป็นสกุลเงินปลอดภัย ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่พุ่งขึ้นทั่วสหรัฐ
- Worldometer ซึ่งเป็นเว็บไซต์รายงานข้อมูลล่าสุดที่มีการรวบรวมจากหน่วยงานด้านสาธารณสุขทั่วโลก ระบุว่า สหรัฐมีผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จำนวน 2,424,493 ราย และมีผู้เสียชีวิต 123,476 ราย โดยขณะนี้สหรัฐติดอันดับ 1 ของโลกทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และผู้เสียชีวิต
- กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจโลกในปี 63 ลงเหลือ -4.9% จากเดิมคาด -3% ส่วนปี 64 คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะกลับมาขยายตัวได้ 5.4% แต่ยังน้อยกว่าเดิมที่เคยคาดไว้ที่ 5.8% พร้อมกับเตือนว่า สถานะทางการคลังของรัฐบาลประเทศต่างๆ จะทรุดตัวลงอย่างหนัก ขณะที่ได้รับผลกระทบจากการทุ่มงบประมาณเพื่อสกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
- กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุว่า ธนาคารกลางและรัฐบาลต่างๆ ยังคงมีความจำเป็นที่จะต้องออกมาตรการสนับสนุนการจ้างงานและภาคธุรกิจเพื่อเยียวยาผลกระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
- สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนส.ค. ลดลง 6.9 ดอลลาร์ หรือ 0.39% ปิดที่ 1,775.1 ดอลลาร์/ออนซ์ โดยสัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ อย่างไรก็ดี สัญญาทองคำปรับตัวลงไม่มากนัก เนื่องจากตลาดหุ้นสหรัฐที่ร่วงลงอย่างหนัก ได้กระตุ้นให้นักลงทุนส่วนหนึ่งยังคงเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย
- นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐที่มีกำหนดเปิดเผยในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 1/2563, ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนพ.ค., ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือนพ.ค. และความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมิ.ย.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 5% มาปิดที่ 38.01 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เมื่อคืนนี้ (24 มิ.ย.) หลังจากทางการสหรัฐเปิดเผยสต็อกน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 3 ติดต่อกัน นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากความกังวลที่ว่า การแพร่ระบาดครั้งใหม่ของไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐจะกระทบต่อเศรษฐกิจและอุปสงค์น้ำมัน
- นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า โจทย์ของรัฐบาลหลังจากออกมาตรการเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นเวลา 1 ไตรมาส จนทำให้ไม่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา คือการฟื้นฟูเศรษฐกิจด้วยความสมดุล พิจารณาโดยยึดหลักความเป็นจริง การผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดต้องทำอย่างมีเหตุผล รอบคอบและระมัดระวัง ซึ่งที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างเต็มที่ ขณะที่ในช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค.นี้ รัฐบาลจึงได้วางแผนให้ส่วนราชการเร่งเสนอโครงการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ ภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงินฉุกเฉิน วงเงิน 1 ล้านล้านบาท ซึ่งภายในเดือน มิ.ย.63 คาดว่าจะเสนอโครงการต่าง ๆ ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาได้ตามแผน
- คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 63 ลงเหลือ -8.1% จากเดิมคาด -5.3% โดยเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มหดตัวมากกว่าที่ประเมินไว้เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างไรก็ดี กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีสัญญาณปรับดีขึ้น หลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด พร้อมกันนี้ได้ปรับลดคาดการณ์การส่งออกไทยในปีนี้ลงเหลือ -10.3% จากเดิมคาด -8.8% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปีนี้ คาดว่าจะหดตัวอยู่ที่ -1.7% จากเดิมคาด -1.0% โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มกลับเข้า
สู่กรอบเป้าหมายในช่วงปี 64 - คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเอกฉันท์ ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี เนื่องจากประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปี 2563 มีแนวโน้มหดตัวกว่าที่ประมาณการไว้เดิม เนื่องจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รุนแรงกว่าที่คาดไว้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 มิ.ย. 63)
Tags: ค่าเงินบาท, อัตราแลกเปลี่ยน, เงินบาท