ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่าจากความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลกที่สูงขึ้น รวมถึงปัจจัยค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่านับตั้งแต่เดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ยังเป็นปัจจัยที่กดดันการส่งออกของไทยในระยะข้างหน้า
โดยยังคงประมาณการการส่งออกไทยปีนี้ว่าจะหดตัว -6.1% โดยที่ยังต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดรอบ 2 ซึ่งอาจจะทำให้การส่งออกมีแนวโน้มหดตัวมากกว่าที่ประเมินไว้
แม้การส่งออกทองคำจะมีน้ำหนักช่วยพยุงภาพรวมการส่งออกสินค้าไทยในปี 63 แต่เศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะในเรื่องสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในต่างประเทศ ยิ่งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในต่างประเทศยืดเยื้ออกไปจากไตรมาสที่ 2/63 ด้วยแล้ว ยิ่งเป็นความเสี่ยงให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยที่รุนแรงขึ้น ซึ่งน่าจะทำให้ภาพรวมการส่งออกสินค้าไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 63 หดตัวลึกกว่าที่ประเมิน
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์รายงานมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยในเดือน พ.ค.63 อยู่ที่ 16,278 ล้านดอลลาร์ฯ หดตัว -22.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากมาตรการปิดเมืองของหลายประเทศทั่วโลก ส่งผลให้ 5 เดือนแรก ส่งออกไทยหดตัว -3.7% โดยการส่งออกที่หดตัวในเดือนพ.ค.นับเป็นการหดตัวลึกที่สุดในรอบกว่า 10 ปี (มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยในเดือน ก.ค.52 หดตัว -25.7%)
- บาทแข็งค่าหลัง กนง.คงดอกเบี้ยต่ำสุดเป็นประวัติการณ์
- กนง.ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 63 เหลือ -8.1% ส่งออก -10.3%
- กนง.มีมติเอกฉันท์ คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50%
และเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับการส่งออกสินค้าของประเทศในภูมิภาค เช่น ญี่ปุ่น (หดตัว -28.3%) เกาหลีใต้ (หดตัว -23.7%) อินโดนีเซีย (หดตัว -29.0%) สาเหตุหลักมาจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เข้มงวดทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งส่งผลให้ห่วงโซ่การผลิตโลกชะงักงัน (Supply Disruption) อีกทั้งอุปสงค์โลกอ่อนแอลงค่อนข้างมากจากมาตรการล็อกดาวน์
อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าไทยในเดือนพ.ค.63 ยังได้อานิสงส์จากการส่งออกทองคำที่ขยายตัวสูงถึง 735.1% หากหักลบมูลค่าการส่งออกทองคำแล้ว มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยหดตัว -27.9%
หากพิจารณารายตลาดส่งออกของไทย พบว่า การส่งออกสินค้าไทยไปจีนขยายตัว 15.3% ในเดือน พ.ค.63 ซึ่งนับเป็นตลาดหลักเพียงตลาดเดียวที่มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยขยายตัวเป็นบวก ซึ่งสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง โดยเฉพาะทุเรียน (ขยายตัว 234.4%) รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ (ขยายตัว 204.2%) และผลิตภัณฑ์ยาง (ขยายตัว 35.6%)
หากพิจารณารายสินค้าส่งออกของไทย พบว่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรยังขยายตัวเป็นบวกจากอานิสงส์ความต้องการที่เพิ่มขึ้นของสินค้าบางประเภท เช่น ผลไม้ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และทูน่ากระป๋อง เป็นต้น
ในขณะที่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไทยหดตัวสูงถึง -27.0% ในเดือน พ.ค.63 โดยเป็นการหดตัวในทุกหมวดสินค้าส่งออกอุตสาหกรรมศักยภาพของไทย อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (หดตัว -62.6%) และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่พลิกกลับมาหดตัว -14.6% หลังอานิสงส์ของการทำงานที่บ้านสิ้นสุดลง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 มิ.ย. 63)
Tags: ค่าเงินบาท, บาทแข็ง, ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, ส่งออก, เงินบาท, เศรษฐกิจไทย