- ตลาดหลักทรัพย์ ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,333.43 จุด ลดลง 23.00 จุด (-1.70%) มูลค่าการซื้อขาย 60,885.82 ล้านบาท
- การซื้อขายหุ้นวันนี้ ดัชนีหุ้นไทยช่วงเช้าเคลื่อนไหวในแดนบวกก่อนจะพลิกกลับมาเคลื่อนไหวแดนลบในช่วงบ่าย โดยดัชนีทำระดับสูงสุดที่ 1,365.46 จุด และทำระดับต่ำสุด 1,333.32 จุด
- ส่วนหลักทรัพย์เปลี่ยนแปลงวันนี้ เพิ่มขึ้น 385 หลักทรัพย์ ลดลง 1,065 หลักทรัพย์ และไม่เปลี่ยนแปลง 259 หลักทรัพย์
นายวีระวัฒน์ วิโรจน์โภคา ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟินันเซีย ไซรัส กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเคลื่อนไหวแดนบวกในภาคเช้า ก่อนจะพลิกกลับมาปรับลดลงแรงในช่วงบ่ายนั้น ปัจจัยหลักมาจากการที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 63 ลงเหลือ -8.1% จากเดิมคาด -5.3% ซึ่งนับเป็นระดับที่ค่อนข้างแรงพอสมควร ทำให้ตลาดมีมุมมองว่าเศรษฐกิจจะแย่กว่าที่ประเมินไว้ ประกอบกับตลาดหุ้นภูมิภาคกอ่อนตัวลงจากภาคเช้า และบางตลาดพลิกเป็นลบ จากความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกที่สองที่เริ่มเห็นสัญญาณในหลายประเทศ
อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นไทยยังมีแรงประคองจากหุ้นกลุ่มแบงก์ที่แบงก์ใหญ่ยังยืนบวกได้ แม้จะแผ่วตัวลงจากช่วงเช้า แต่ภาพรวมการลงทุนกลุ่มแบงก์ยังคงถูกกดดันจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ได้ลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปีนี้ค่อนข้างแรง และการขอให้แบงก์พาณิชย์งดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลจากผลการดำเนินงานปี 63 ทำให้มองว่า ธปท.ประเมินเศรษฐกิจไทยน่าจะได้รับผลกระทบหนักและฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่ประเมิน ทำให้มองว่าการลงทุนในหุ้นกลุ่มแบงก์ระยะกลางถึงยาวอาจยังไม่น่าสนใจเพราะแบงก์น่าจะเป็นกลุ่มที่ฟื้นตัวไดัช้าสุด
ส่วนแนวโน้มการซื้อขายวันพรุ่งนี้ (25 มิ.ย.) ภาพตลาดรวมน่าจะยังคงพักฐาน ขณะที่ยังต้องจับตาสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกสอง และการเปิดเผยรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (WEO) ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ในช่วงคืนนี้ด้วย พร้อมให้แนวรับที่ 1,330 และ 1,300 จุด ส่วนแนวต้านที่ 1,350-1,360 จุด
อนึ่ง ผลประชุมกนง.วันนี้ มีมติเอกฉันท์ ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี เนื่องจากประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปี 63 มีแนวโน้มหดตัวกว่าที่ประมาณการไว้เดิม เนื่องจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รุนแรงกว่าที่คาดไว้ โดยปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย (GDP) ในปี 63 ลงเหลือ -8.1% จากเดิมคาด -5.3% ซึ่งนับเป็น GDP ที่ต่ำสุดในประวัติการณ์ ซึ่งเมื่อเทียบกับช่วงที่ไทยเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 40 พบว่า GDP อยู่ที่ -7.6%
ส่วนหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงสุด 5 หลักทรัพย์ ได้แก่
KCE มูลค่าการซื้อขาย 3,356.66 ล้านบาท ปิดที่ 21.00 บาท เพิ่มขึ้น 1.30 บาท
KBANK มูลค่าการซื้อขาย 3,257.40 ล้านบาท ปิดที่ 90.25 บาท เพิ่มขึ้น 1.25 บาท
MINT มูลค่าการซื้อขาย 2,360.11 ล้านบาท ปิดที่ 20.90 บาท เพิ่มขึ้น 0.30 บาท
SCB มูลค่าการซื้อขาย 2,124.59 ล้านบาท ปิดที่ 72.75 บาท ราคาไม่เปลี่ยนแปลง
BBL มูลค่าการซื้อขาย 2,025.87 ล้านบาท ปิดที่ 107.50 บาท เพิ่มขึ้น 1.50 บาท
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 มิ.ย. 63)
Tags: SET, SET Index, ตลาดหุ้น, ตลาดหุ้นไทย, วีระวัฒน์ วิโรจน์โภคา, หุ้นร่วง, หุ้นไทย