นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า หนังสือเวียนฉบับแรกที่ ธปท.ขอให้ธนาคารพาณิชย์ดูแลบริหารจัดการเงินกองทุนนั้น
ที่ผ่านมา ธปท.ได้หารือกับสมาคมธนาคารไทยมาอย่างต่อเนื่อง ถึงสถานการณ์โควิด-19 ที่ค่อนข้างรุนแรงและกระทบต่อเศรษฐกิจวงกว้าง มีความไม่นอนสูง และยากที่จะบอกได้ว่าจะยุติลงเมื่อใด ซึ่งสมาคมฯ ได้มาหารือกับ ธปท. ด้วยแนวคิดที่ต้องการเห็นนโยบายกลางเพื่อให้สถาบันการเงินทุกแห่งใช้เป็นแนวปฏิบัติในการบริหารจัดการกองทุน
โดยที่ผ่านมา ธปท.ได้ให้ธนาคารพาณิชย์ประเมินระดับเงินกองทุนว่าจะมีผลอย่างไร ซึ่งได้เริ่มเข้าไปดูแลตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 ดังนั้น สิ่งแรกที่ ธปท.และสมาคมธนาคารไทยมีความเห็นร่วมกัน คือการประเมินระดับเงินกองทุนจากผลกระทบของโควิดว่ามีผลกระทบอย่างไร
“จึงเป็นที่มาของหนังสือเวียนฉบับนี้ สิ่งแรกที่อยากเห็น คือ การดูแลบริหารจัดการระดับเงินกองทุนให้เข้มแข็ง มีการ์ดสูงไว้ เพราะว่าเราไม่รู้ว่าโควิดจะกระทบในวงกว้างอย่างไร ความไม่แน่นอนอยู่ในระดับสูง เพราะฉะนั้นการที่เราประเมินระดับเงินกองทุน เพื่อบริหารจัดการ จึงเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญลำดับแรก เพราะระดับเงินกองทุนเป็นหัวใจสำคัญในการบริหารจัดการ สนับสนุนภาวะเศรษฐกิจในช่วงก่อนและหลังโควิด การมีเงินกองทุนสูงถือว่าเป็นผลดี ไม่ใช่เฉพาะสถาบันการเงิน แต่เป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ เพราะสถาบันการเงินเป็นกลไกสำคัญขณะนี้ที่ช่วยเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ” นายรณดลระบุ
ทั้งนี้ ผลที่คาดหวังจากการเสริมสร้างเงินกองทุนเพื่อรองรับความเสี่ยงจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ประกอบด้วย
1. เพื่อให้มีเงินทุนในการให้สินเชื่อแก่ประชาชนและภาคธุรกิจได้เพิ่มขึ้น และสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงฟื้นตัวหลังโควิด-19
2. เพื่อเป็นกันชนรองรับความไม่แน่นอนในอนาคตที่จะเกิดขึ้น และ
3. เพื่อให้ระบบสถาบันการเงินมีระดับเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ฝากเงินและผู้ลงทุน
โดยมีการวางมาตรการเชิงป้องกัน (Pre-emptive measure) ดังนี้
1. ประเมินและจัดทำแผนบริหารจัดการระดับเงินกองทุน สำหรับระยะ 1-3 ปีข้างหน้า โดยคำนึงถึงแนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคต และศักยภาพของลูกหนี้หลังโควิดคลี่คลายลง
2. งดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล จากผลการดำเนินงานในปี 2563 และ
3. ห้ามซื้อหุ้นคืน
“สิ่งที่หนังสือเวียนฉบับนี้พูดถึง คือการประเมินระดับเงินกองทุนในช่วงต่อจากนี้ไป ว่าผลกระทบของโควิดจะเป็นอย่างไร ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น คือในเมื่อต้องประเมินระดับเงินกองทุนก่อน จึงขอให้สถาบันการเงินงดซื้อหุ้นคืนในช่วงนี้ รวมถึงงดการจ่ายเงินปันผลเฉพาะกาล” นายรณดล ระบุ
ทั้งนี้ ธนาคารกลางของหลายประเทศก็ใช้นโยบายในลักษณะดังกล่าวนี้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นธนาคารกลางในยุโรป ออสเตรเลีย และแคนาดา ที่ขอให้ธนาคารพาณิชย์งดจ่ายปันผลและงดซื้อหุ้นคืนในช่วงนี้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 มิ.ย. 63)
Tags: BOT, งดจ่ายปันผล, ซื้อหุ้นคืน, ธนาคารพาณิชย์, ธนาคารแห่งประเทศไทย, รณดล นุ่มนนท์, หุ้นกลุ่มธนาคาร, หุ้นแบงก์, เงินปันผลระหว่างกาล