นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้การพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ของไทยมีความคืบหน้าไปมาก ทั้งของคณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาฯ และภาคเอกชน หรือไบโอเน็ต-เอเชีย ที่ภาพรวมอยู่ในขั้นตอนการทดลองในหนู
ซึ่งเมื่อวานนี้ (18 มิ.ย.) ได้รับรายงานจากอธิบดีกรมการแพทย์ว่าผลการทดลองเป็นไปด้วยดี มีภูมิต้านทานในสัตว์ทดลอง โดยหลังจากนี้จะมีการทดลองในลิง และทดลองในคน ทุกอย่างมีลำดับขั้นตอน และกว่าจะทดลองในคนก็ต้องผ่านมาตรฐานความปลอดภัย แต่น่าจะเริ่มได้ในอีก 3-4 เดือนนับจากนี้
โดยกระทรวงสาธารณสุขจะสนับสนุนงบประมาณจำนวน 3,000 ล้านบาท มาใช้ในการโครงการวิจัยหาวัคซีน และมั่นใจว่าคนไทยจะทำสำเร็จ เพราะเรื่องนี้เราควรหาทางพึ่งพาตัวเองให้ได้มากที่สุด เพื่ออำนวยความสะดวกแก่คนไทย และไม่ต้องไปต่อคิวรอซื้อจากต่างชาติ ซึ่งต้องลุ้นว่าจะได้รับเมื่อไร เพียงพอหรือไม่
“ส่วนตัวผมมีความมั่นใจในการเป็นอาสาสมัครทดลองรับวัคซีน เพราะติดตามความคืบหน้ามาตลอด มีความมั่นใจ แต่จะได้รับเลือกให้ร่วมรับวัคซีนทดลองหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของทีมผู้เชี่ยวชาญ”
นายอนุทิน กล่าว
ส่วนการใช้งบตาม พ.ร.ก.เงินกู้เพื่อแก้ปัญหาการระบาดของโควิด-19 นั้นจะมีการกระจายงบไปที่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อพัฒนาการบริการประชาชนเช่นเดียวกับงบบางส่วน ได้จัดสรรให้ อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.), ร.ร.แพทย์, สถาบันวัคซีน รวมไปถึงการเพิ่มศักยภาพหน่วยบริการสาธารณสุข แต่ที่ต้องเน้นย้ำคือ เมื่อเป็นการนำเงินกู้มาใช้ก็ต้องคำนึงถึงผลตอบรับที่กลับมาด้วยว่าประชาชนได้อะไรกลับมาบ้าง คุ้มค่ากับการใช้งบหรือไม่ ต้องคำนึงถึงประสิทธิภาพ การลงทุน ต้องไม่เสียเปล่า
อาทิ การจัดซื้อเครื่องช่วยหายใจก็ต้องจัดสรรให้โรงพยาบาลศูนย์ เพราะมีความพร้อมและความจำเป็นมากกว่า ขณะที่โรงพยาบาลชุมชนต้องให้ความสำคัญกับการรับส่งผู้ป่วย สำหรับงบก้อนนี้โรงพยาบาลชุมชนจะได้รับจัดสรรมากกว่าโรงพยาบาลศูนย์ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการรักษาพยาบาลในพื้นที่ต่างๆ ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 มิ.ย. 63)
Tags: กระทรวงสาธารณสุข, คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาฯ, พ.ร.ก.เงินกู้, วัคซีน, อนุทิน ชาญวีรกูล, โรงพยาบาล, ไบโอเน็ต-เอเชีย