จัดพอร์ตสไตล์ ‘วิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล’ รับมือเศรษฐกิจเข้ายุค ‘เงินฝืด’

แต่ละครั้งที่เศรษฐกิจผ่านพ้นวิกฤติจะสร้างบาดแผลครั้งใหญ่เอาไว้ และกว่าที่บาดแผลนั้นจะหายสนิทคงต้องใช้เวลานานพอสมควร เช่นเดียวกับวิกฤติโควิด-19 ในครั้งนี้ที่ลุกลามรวดเร็วกระทบเศรษฐกิจภาค “Real Sector” หลายประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้ประเทศไทยที่พึ่งพารายได้จากต่างประเทศเป็นสัดส่วนมากกว่า 70% ของมูลค่า GDP แต่ละปี คงเลี่ยงไม่ได้ที่เศรษฐกิจไทยจะรับผลกระทบจากภาวะวิกฤติในระลอกนี้ด้วย

นายวิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล กรรมการผู้จัดการ บล.ทรีนีตี้ เปิดเผยกับ”อินโฟเควสท์”ว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากวิกฤติโควิด-19 คงต้องใช้เวลาฟื้นฟูอีกหลายปีกว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติอีกครั้ง เนื่องจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนทั่วโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก และผลกระทบที่ตามมาหลังจากเกิดวิกฤติโควิด-19 คือเศรษฐกิจโลกและรวมถึงเศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่ภาวะ “เงินฝืด” กำลังซื้อของประชากรจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ คาดว่าอาจต้องใช้เวลาถึง 5 ปีกว่าที่เศรษฐกิจจะผ่านพ้นภาวะ “เงินฝืด” ในรอบนี้ไปได้

สิ่งสะท้อนว่าเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะ “เงินฝืด” คือ ราคาน้ำมันตลาดโลกยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ชัดเจน ดังนั้น กลยุทธ์การลงทุนที่ปลอดภัยและได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่าภาพรวมตลาดฯ คือ การกระจายลงทุนหลากหลายสินทรัพย์ แบ่งเป็น สัดส่วน 30% เลือกลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงทั้งตลาดหุ้นไทยและตลาดหุ้นต่างประเทศ โดยคุณสมบัติของหุ้นต้องพิจารณาโครงสร้างธุรกิจว่าทนแรงเสียดทานจากวิกฤติโควิด-19 ได้ดี ผลประกอบการโดยรวมไม่ได้รับผลกระทบ มีสินค้าที่มีความจำเป็นต่อการใช้ชีวิตประจำวัน โครงสร้างของศักยภาพทำกำไรต้องมี “Economy Of Scale” มีความสามารถเพิ่มอัตรากำไรขั้นต้น และสามารถควบคุมต้นทุนการผลิตและการเงินได้ดี

ส่วนตลาดหุ้นต่างประเทศ เมื่อพิจารณาข้อมูลทางเศรษฐกิจพบว่าตลาดหุ้นจีนมีความน่าสนใจ เนื่องจากตัวเลข PMI คือ ดัชนีที่ใช้เป็นตัวบ่งชี้สภาวะทางเศรษฐกิจของภาคการผลิตและบริการพลิกกลับมาฟื้นตัวใกล้เคียงกับก่อนที่เผชิญวิกฤติโควิด-19 แล้ว นอกจากนั้น ตลาดหุ้นเวียดนามพบว่าเริ่มส่งสัญญาณเป็นบวกจากกระแสการไหลเข้าของเงินลงทุนทางตรงหลังจากวิกฤติโควิด-19 คลี่คลายไปในทิศทางดีขึ้น โดยหุ้นต่างประเทศควรคัดเลือกหุ้นที่มีคุณสมบัติตอบโจทย์ยุค “New Normal” เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี เป็นต้น

สำหรับสินทรัพย์ต่อไปคือเลือกลงทุนในตราสารหนี้ในสัดส่วน 25-30% เน้นเลือกที่มีอันดับเครดิต “Investment Grade” เพื่อลดความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและมีดอกเบี้ยรับสม่ำเสมอ

และสัดส่วนอีก 10-15% เลือกลงทุนในทองคำ เพราะสถานการณ์ของสภาพคล่องที่มีจำนวนมากจากการพิมพ์เงินเข้าสู่ระบบ ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงติดลบ ช่วยสนับสนุนราคาทองคำยังคงแนวโน้มเพิ่มขึ้นได้ในระยะถัดไป และสุดท้ายคือต้องมีเงินสด 25% เพื่อรอจับจังหวะเข้าซื้อสินทรัพย์เมื่อราคาปรับตัวลดลงรอบใหม่

“ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าเสน่ห์ของตลาดหุ้นไทยคงเป็นเรื่องเงินปันผลที่เหมาะสมและสม่ำเสมอ แต่ยามที่ตลาดหุ้นไทยขึ้นมาแล้วมากกว่า 30% นักลงทุนต้องศึกษาหาหุ้นที่เป็นลักษณะ “อัลฟ่า” หุ้นที่มีคุณสมบัติปรับตัวดีกว่าตลาดทนแรงเสียดทานจากวิกฤติโควิด-19 ได้ดี ดังนั้นการค้นหาหุ้นที่มีพื้นฐานที่ดีจริงๆจะเป็นส่วนช่วยให้นักลงทุนอยู่รอดปลอดภัยจากความไม่แน่นอนของตลาดหุ้นในอนาคต”

นายวิศิษฐ์ กล่าว

ขณะที่นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.63 โดยระบุหัวข้อว่า “เศรษฐกิจถดถอย ตลาดหุ้นกระทิง … ผิดปกติหรือไม่ว่า หลัง SET Index ทะยานขึ้น 50% จากช่วงกลางมีนาคมจนถึงต้นมิถุนายน ก็เกิดคำถามมากมายว่าเกิดอะไรขึ้นกับตลาดหุ้น ทำไมถึงโตสวนทางเศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะถดถอยที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ปี 1997-98 และเริ่มมีเสียงเตือนออกมาให้นักลงทุนระวังแรงเทขาย เพราะราคาหุ้นปรับขึ้นแซงหน้าปัจจัยพื้นฐานไปมาก

หลังจากนั้น ในช่วงเพียงสัปดาห์เศษที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยก็ปรับลงถึง 110 จุด มูลค่าตลาดหายไป 1 ล้านล้านบาท สวนทางกับสถานการณ์โควิดที่ไม่มีผู้ติดเชื้อในประเทศนานต่อเนื่องถึง 3 สัปดาห์ และภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มดีขึ้นจากมาตรการคลายล็อกทั้ง 4 ระยะ

ความผันผวนที่รุนแรง ถือเป็นภาวะปกติของตลาดหุ้นในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ เพราะความไม่แน่นอนมีสูง ทำให้การประเมินมูลค่าหุ้นทำได้ยากมาก เวลาหุ้นลงก็มักจะลงมากไป เวลาขึ้นก็ขึ้นมากไป การเทรดหุ้นระยะสั้นๆ ในภาวะแบบนี้ถือว่ามีความเสี่ยงสูงมาก เพราะไม่มีใครบอกได้ว่าจุดต่ำสุดและสูงสุดของราคาหุ้นในแต่ละรอบอยู่ที่ไหน

โดยส่วนตัวยังเชื่อว่าเราอยู่ในตลาดหุ้นขาขึ้นระยะยาว และมองการปรับลงรอบนี้เป็นการปรับฐานเพื่อหาจุดสมดุลใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่นักลงทุนไม่จำเป็นต้องตื่นตระหนก ผมเชื่อว่าการลงทุนระยะยาวในช่วงนี้ คุ้มค่ากับความเสี่ยงที่ต้องรับ

หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมคิดเช่นนั้น

ข้อแรก การที่รัฐบาลสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้การคลายล็อกกิจกรรมด้านเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิตเกิดขึ้นเร็วกว่าที่คาดไว้มาก เม็ดเงินที่รัฐบาลใช้ในการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งสูงถึง 10% ของ GDP น่าจะมากพอที่จะประคองเศรษฐกิจไปได้จนเริ่มมีวัคซีนต้านโควิดออกมา และถ้าจำเป็น รัฐบาลก็ยังมีช่องว่างในการกู้เงินมากระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกพอสมควร

ข้อ 2 เชื่อว่าตลาดหุ้นได้สะท้อนแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจแบบรูปตัว U ไปแล้ว และถ้าดูจากมูลค่าตลาดที่ลดลงไปเกือบ 2 ล้านล้านบาท (จาก 12 เดือนก่อนหน้านี้) หรือเท่ากับ 200% ของมูลค่า GDP ที่คาดว่าจะลดลง 1 ล้านล้านบาทในปีนี้ ราคาหุ้นก็น่าจะสะท้อนความเสียหายของวิกฤติครั้งนี้ไปพอสมควรแล้ว

ข้อ 3 ถ้าเกิดการแพร่ระบาดของโควิดรอบสองอีกครั้งจริง ผมเชื่อว่ารัฐบาลจะสามารถจัดการกับปัญหาได้ด้วยการปิดธุรกิจเป็นประเภทๆไป หรือเป็นพื้นที่ๆ โดยไม่ต้องกลับไปปิดเศรษฐกิจทั้งประเทศอีกรอบ ผลกระทบในวงกว้างแบบที่ผ่านมาก็ไม่น่าจะเกิดขึ้นอีก

ข้อ 4 ถึงแม้ค่า Forward P/E ปีหน้าของตลาดหุ้นไทยที่ 16 เท่า อาจดูแพงเมื่อเทียบกับบางประเทศ แต่ก็อยู่ในระดับเดียวกับค่าเฉลี่ยในอดีต 10 ปีของตลาดหุ้นไทยที่ 16 เท่า และต้องไม่ลืมด้วยว่าอัตราดอกเบี้ยในประเทศอยู่ในระดับต่ำสุดในประวัติศาสตร์ ซึ่งแปลว่า Forward P/E ในปัจจุบันอาจไม่สูงเกินไป

ข้อ 5 นักวิเคราะห์ได้ลดประมาณการกำไรของบริษัทจดทะเบียนไปแล้วถึง 30% ซึ่งน่าจะสะท้อนความเสียหายจากวิกฤติครั้งนี้ไปพอสมควรแล้ว

ข้อ 6 ถ้าดูจากปริมาณสภาพคล่องในระบบการเงินที่เพิ่มขึ้นมหาศาล ทั้งในประเทศและต่างประเทศ จากการผ่อนคลายนโยบายการเงินอย่างเต็มสูบของธนาคารกลางทั่วโลก โอกาสที่จะเห็นเม็ดเงินเหล่านี้ทยอยไหลเข้าตลาดหุ้นในระยะยาวมีสูงมาก

ข้อ 7 ในช่วงสามเดือนที่ผ่านมา มีเม็ดเงินจำนวนมากทั่วโลกที่ไหลเข้ากองทุนประเภทเสี่ยงต่ำที่สุดอย่าง Money Market Funds (MMF) ซึ่งสะท้อนว่ายังมีนักลงทุนอีกพอสมควรทั่วโลกที่ยังไม่ได้กลับเข้าตลาดหุ้น ในไทย เม็ดเงินไหลเข้ากองทุน MMF มากถึง 150,000 ล้านบาท นับจากเดือนมีนาคม หรือเพิ่มขึ้นกว่า 50% ในขณะที่ของสหรัฐฯ เงินไหลเข้า MMF สูงถึง 1.2 ล้านล้านเหรียญ เม็ดเงินเหล่านี้น่าจะพร้อมไหลเข้าตลาดหุ้นอีกครั้งเมื่อความเสี่ยงลดลง

“ในระยะยาว ผมเชื่อว่าเราจะเห็นการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในตลาดหุ้น ของ Pension Funds ทั่วโลก เพราะภาวะดอกเบี้ยต่ำที่จะอยู่กับเราไปอีกหลายปี แปลว่ากองทุนเหล่านี้จำเป็นต้องเพิ่มน้ำหนักลงทุนในตลาดหุ้น เพื่อสร้างผลตอบแทนให้กับผู้เกษียณ”

นายวิศิษฐ์ กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 มิ.ย. 63)

Tags: , , , , , , ,
Back to Top