นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธาน เห็นชอบในหลักการโครงการประกันรายได้ และมาตรการคู่ขนาน ปีการผลิต 63/64 เพื่อช่วยเกษตรกร
สำหรับโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2563/2564 ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.63-31 พ.ค.64 ให้ใช้แนวทางการดำเนินการเหมือนปีที่ผ่านมา และให้อนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดกฎเกณฑ์กลางราคาอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวไปพิจารณาราคาประกันรายได้ต่อครัวเรือน และนำกลับมาเสนอให้ นบข.พิจารณาอีกครั้ง เพื่อให้การดูแลชาวนาสอดคล้องกับต้นทุนการผลิตอย่างแท้จริง
“ที่ประชุมเห็นชอบแนวทางรับประกันเท่าเดิม แต่ให้พิจารณาราคาประกันให้เป็นประโยชน์กับผู้ปลูกข้าวมากสุด”
นางสาวรัชดา กล่าว
นางสาวรัชดา กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำเรื่องการพัฒนาพันธุ์ข้าวไทย เพราะเป็นหัวใจสำคัญในการยกระดับคุณภาพและประสิทธิภาพการผลิต โดยกำชับให้กรมการข้าว หน่วยงานวิจัยภาครัฐและเอกชน รวมถึงเครือข่ายเกษตรกรร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพข้าวและการใช้พันธุ์ข้าวที่ได้รับการรับรองให้ได้อย่างกว้างขวาง
ส่วนมาตรการคู่ขนาน ประกอบด้วย
1.มาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ปีการผลิต 2563/64 ผ่าน 1)โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี วงเงินรวม 1.98 หมื่นล้านบาท 2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร วงเงินรวม 1.55หมื่นล้านบาท 3) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ในอัตราชดเชยดอกเบี้ย 3% วงเงินรวม 610 ล้านบาท
ทั้ง 3 โครงการคาดว่าจะสามารถดูดซับอุปทานในช่วงที่ข้าวเปลือกออกมาสู่ตลาดมาก โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ 7 ล้านตันข้าวเปลือก
2.โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว อัตราสนับสนุนไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ วงเงิน 5.6 หมื่นล้านบาท และ 3.โครงการจัดตลาดนัดข้าวเปลือก และโครงการยกระดับคุณภาพและต่อยอดด้านการตลาดข้าวหอมมะลิของประเทศไทย
นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ รับทราบสถานการณ์การผลิตข้าวทั่วโลกปี 63/64 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 8.1 ล้านตัน จาก 493.79 ล้านตัน เป็น 501.96 ล้านตัน ส่วนสต็อกข้าวทั่วโลก ณ ปลายปี 63/64 คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 3.83 ล้านตัน เป็น 184.18 ล้านตัน โดยจีนมีสต็อกข้าวมากที่สุด รองลงมา คือ อินเดียและไทย ส่วนภูมิภาคที่ซื้อข้าวจากไทยมากที่สุดในปี 62 คือ แอฟริกา 4.11 ล้านตัน
ส่วนสถานการณ์การส่งออกของไทย คู่แข่งที่สำคัญของไทยคือเวียดนามและอินเดียที่มีราคาข้าวต่ำกว่าของไทย ขณะที่ปัจจัยสนับสนุนการส่งออกข้าวไทยในปีนี้ ได้แก่ การได้รับการจัดสรรโควต้าส่งออกไปเกาหลีใต้ ปริมาณ 2.8 หมื่นตันต่อปี และการที่ญี่ปุ่นเปิดประมูลข้าวอย่างต่อเนื่องจึงเป็นโอกาสของข้าวไทย
สำหรับการดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 62/63 ตั้งแต่วันที่ 15 ต.ค.62-31 พ.ค.63 จ่ายไปแล้ว 30 งวด จำนวน 1.1 ล้านครัวเรือน วงเงิน 1.9 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 92.67% ของงบประมาณ แต่งวดที่ 23-27 ไม่มีการจ่ายชดเชย เนื่องจากราคาอ้างอิงของข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ข้าวเปลือกเหนียวสูง กว่าราคาประกันรายได้ และรับทราบการดำเนินการมาตรการคู่ขนานเพื่อชะลอการจำหน่ายข้าว ผ่านโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่ม และโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก สามารถดึงอุปทานได้รวม 5.13 ล้านตัน
ทั้งนี้ ที่ประชุมรับทราบมาตรการสนับสนุนต้นทุนการผลิต และมาตรการการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว จ่ายเงินแล้วมาตรการละ 4 ล้านกว่า ครัวเรือน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 มิ.ย. 63)
Tags: ข้าว, ข้าวเปลือก, คณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ, จีน, ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย, นบข., ประกันรายได้, ประยุทธ์ จันทร์โอชา, พันธุ์ข้าวไทย, รัชดา ธนาดิเรก, สต็อกข้าว, อินเดีย, เกษตรกร, เวียดนาม