ก.ล.ต. แนะเช็คลิสต์ 5 ข้อก่อนซื้อ ‘หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน’

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แนะนักลงทุนต้องเช็คลิสต์ 5 ข้อก่อนตัดสินใจลงทุนในหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน (perpetual subordinated bond) ที่มีหลายบริษัทเสนอขายแก่ผู้ลงทุนและเป็นที่สนใจมาก เพราะให้ผลตอบแทนสูงกว่าหุ้นกู้ปกติ แต่หุ้นกู้ดังกล่าวก็มีลักษณะที่ซับซ้อนและความเสี่ยงที่มากกว่าหุ้นกู้ทั่วไป

สำหรับการตรวจสอบ 5 ข้อดังกล่าว ประกอบด้วย การทำแบบประเมินความเสี่ยงก่อนลงทุน โดยเจ้าหน้าที่การตลาดที่ขายหุ้นกู้จะให้ผู้ซื้อลงนามรับทราบความเสี่ยงการซื้อหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนก่อนซื้อ, เงินที่นำมาลงทุนเป็นเงินสำหรับลงทุนได้ในระยะยาวมาก, ศึกษา factsheet และลักษณะของหุ้นกู้ (features) และเงื่อนไขต่าง ๆ ให้ครบถ้วน เช่น การไถ่ถอนคืนก่อนกำหนด การจ่ายดอกเบี้ย, รู้เครดิตเรทติ้ง และรู้วิธีขายคืน

สำนักงาน ก.ล.ต. ระบุว่า หุ้นกู้นับเป็นหนึ่งในการลงทุนที่น่าสนใจในช่วงที่ภาวะดอกเบี้ยต่ำ เพราะไม่เน้นความหวือหวา และให้ผลตอบแทนสม่ำเสมอ แต่อาจแตกต่างกันไปตามความเสี่ยง ยิ่งช่วงนี้มีบริษัทจดทะเบียนหลายแห่งทยอยออกหุ้นกู้ให้ดอกเบี้ยที่น่าดึงดูดใจอย่างมาก จึงขอให้ข้อคิดว่าอย่าดูแต่ผลตอบแทนอย่างเดียว แต่ให้พิจารณาความเสี่ยงอื่น ๆ

ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงด้านดอกเบี้ย ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง และความเสี่ยงด้านเครดิตที่สะท้อนในเครดิตเรทติ้ง เช่น หากไม่มีเรทติ้ง (unrated) หรือเรทติ้งต่ำกว่าระดับที่ลงทุนได้ (non-investment grade) ความเสี่ยงยิ่งสูง จึงมักจะให้ดอกเบี้ยสูงเพื่อจูงใจ

ส่วนหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน เป็นหุ้นกู้อีกประเภทหนึ่งที่อยากให้ศึกษามาก ๆ ก่อนตัดสินใจลงทุน โดยหุ้นกู้ชนิดนี้มาพร้อมกับลักษณะพิเศษ ได้แก่

1. ส่วนแรกของชื่อ “หุ้นกู้ด้อยสิทธิ” ก็คือ หุ้นกู้ที่ผู้ลงทุนมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ แต่จะมีสิทธิได้รับชำระหนี้ ‘หลัง’ จากเจ้าหนี้รายอื่น ๆ ซึ่งผู้ลงทุนอาจได้รับคืนทั้งหมด หรือบางส่วน หรือไม่ได้เงินคืนเลยก็ได้ แต่ยังมีสิทธิจะได้รับเงิน ‘ก่อน’ ผู้ถือหุ้นสามัญ

2. ส่วนท้ายของชื่อ “มีลักษณะคล้ายทุน” ก็คือ สิทธิได้รับชำระหนี้ต่อเมื่อบริษัทเลิกกิจการ หรือเมื่อผู้ออกหุ้นกู้ใช้สิทธิไถ่ถอนหุ้นกู้ นั่นคือ ผู้ลงทุนต้องถือหุ้นกู้ตัวนี้ไปเรื่อย ๆ ไม่มีกำหนด และอาจไม่ได้รับคืนเงินต้นตลอดช่วงเวลาที่ถือหุ้นกู้อยู่นั้น ด้วยลักษณะพิเศษแบบนี้เองจึงทำให้หุ้นกู้นี้ถูกเรียกว่า หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์บ้าง หุ้นกู้ตลอดชีพบ้าง เพราะชะตาชีวิตถูกกำหนดโดยผู้ออก ผู้ถือหุ้นกู้ไม่มีสิทธิบังคับให้ผู้ออกต้องไถ่ถอนหุ้นกู้ในช่วงใด ๆ ก็ตาม

ดังนั้น หากไม่ต้องการถือหุ้นกู้นี้อีกต่อไป ผู้ถือหุ้นกู้นี้จะทำได้เพียงขายออกไปเท่านั้น ซึ่งอาจขายได้ ในราคาที่ต่ำกว่าราคาที่ได้มา หรือไม่ได้ตามเวลาที่ต้องการ หรืออาจขายไม่ได้เลย ขึ้นอยู่กับว่าช่วงเวลานั้น ๆ ว่าคนยังสนใจหุ้นกู้นี้อยู่หรือไม่ เป็นความเสี่ยงด้านสภาพคล่องที่ต้องยอมรับได้

3. ผู้ออกหุ้นกู้มีสิทธิเลื่อนการชำระดอกเบี้ยพร้อมกับสะสมดอกเบี้ยจ่ายไปชำระในวันใดก็ได้ ไม่จำกัดระยะเวลา และไม่จำกัดจำนวนครั้ง และผู้ออกอาจไม่จ่ายดอกเบี้ยสำหรับส่วนที่ค้างชำระก็ได้ ผู้ถือหุ้นกู้จะได้รับดอกเบี้ยเมื่อใดก็ขึ้นอยู่กับผู้ออกเช่นกัน ผู้ถือหุ้นกู้ตัวนี้จึงมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับดอกเบี้ยหรือได้รับดอกเบี้ยล่าช้า นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยเป็นแบบลอยตัว ซึ่งจะระบุดอกเบี้ยชัดเจนในช่วง 5 ปีแรก ส่วนในปีต่อ ๆ ไปจะเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด

4. หุ้นกู้นี้ไม่มีเงื่อนไขการผิดนัดไขว้ (cross-default) คือหากผู้ออกหุ้นกู้มีการผิดนัดชำระหนี้ ในหุ้นกู้อื่น หรือสัญญาทางการเงินอื่น หรือเจ้าหนี้อื่นของผู้ออกหุ้นกู้ จะไม่ทำให้ผู้ออกหุ้นกู้เป็นผู้ผิดนัดชำระภายใต้หุ้นกู้ นี้ด้วย และเมื่อไม่ผิดนัดชำระ ผู้ถือหุ้นกู้นี้จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้ผู้ออกหุ้นกู้ต้องชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ย นอกจากนี้ หากผู้ออกหุ้นกู้ชำระหนี้คืนให้เจ้าหนี้อื่นจนทำให้ขาดสภาพคล่อง ผู้ถือหุ้นกู้นี้จะมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับดอกเบี้ยตามกำหนด

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 มิ.ย. 63)

Tags: , , , , ,
Back to Top