เฟซบุ๊ก อิงค์เปิดเผยว่า บริษัทจะติดแถบข้อความเตือนบนโฆษณาทางการเมืองที่ถูกแชร์ในฟีดของผู้ใช้งาน เพื่อปิดช่องโหว่ในมาตรการสร้างความโปร่งใสของเฟซบุ๊กที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ซึ่งได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์มานานหลายปีแล้ว
เฟซบุ๊กซึ่งเป็นเครือข่ายโซเชียลใหญ่สุดของโลกเปิดเผยว่า บริษัทได้ติดแถบข้อความ “จ่ายโดย” (“paid for by”) ให้กับโฆษณาทางการเมืองมาตั้งแต่ปี 2561 หลังจากที่เผชิญกับกระแสโจมตีที่บริษัทประสบความล้มเหลวในการยับยั้งรัสเซียจากการใช้แพลตฟอร์มของเฟซบุ๊กเพื่อสร้างอิทธิพลต่อการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในปี 2559
อย่างไรก็ตาม แถบข้อความเตือนดังกล่าวได้หายไปเมื่อผู้ใช้งานแชร์โฆษณานั้นในฟีดของพวกเขาเอง ซึ่งนักวิจารณ์ระบุว่าเป็นการทำลายประโยชน์ของแถบข้อความนั้น และปล่อยให้มีการแพร่กระจายข้อมูลที่ไม่ถูกต้องต่อไปโดยไม่มีการตรวจสอบ
ซาราห์ ชิฟฟ์ ผู้จัดการฝ่ายผลิตภัณฑ์ของเฟซบุ๊กซึ่งดูแลการเปลี่ยนแปลงในเรื่องดังกล่าวระบุว่า “ก่อนหน้านี้ บริษัทคิดว่าโพสต์ส่วนตัวของผู้ใช้งานนั้นไม่จำเป็นต้องมีข้อมูลเกี่ยวกับการโฆษณา แต่หลังจากที่ได้รับความคิดเห็นจากหลายฝ่าย บริษัทก็พิจารณาว่า เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องเปิดเผยข้อมูล หากโพสต์นั้นๆ เป็นการโฆษณา”
เฟซบุ๊กได้ติดแถบข้อความเตือนสำหรับสื่อข่าวของรัฐบาลเมื่อต้นเดือนนี้ด้วยเช่นกัน แต่แถบข้อความนั้นบางครั้งก็หายไปเมื่อมีการแชร์ต่อ และยังไม่ปรากฏแถบข้อความให้เห็นเมื่อผู้ใช้งานโพสต์ลิงค์ในฟีดของตนเองไปยังสื่อข่าวเหล่านั้น
ทั้งนี้ เฟซบุ๊กกำลังเผชิญกับข้อเรียกร้องมากขึ้นให้จัดการกับข้อมูลไวรัลที่ไม่ถูกต้องก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในวันที่ 3 พ.ย.นี้ รวมถึงจากนายโจ ไบเดน ตัวแทนจากพรรคเดโมแครตในการลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐซึ่งเรียกร้องให้นายมาร์ก ซัคเคอร์เบิร์ก ซีอีโอของเฟซบุ๊กทบทวนการตัดสินใจของเขาที่จะยกเว้นการตรวจสอบข้อเท็จจริงของโฆษณาทางการเมือง
ด้านนายซัคเคอร์เบิร์กได้ตอบโต้ว่า เขามีเครื่องมือในการสร้างความโปร่งใส เพื่อให้ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งสามารถตรวจสอบแถลงการณ์ต่างๆ จากบุคคลที่จะขึ้นเป็นผู้นำทางการเมืองได้อย่างไม่จำกัด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 มิ.ย. 63)
Tags: Facebook, ซาราห์ ชิฟฟ์, สหรัฐ, เฟซบุ๊ก, เฟซบุ๊ก อิงค์, เลือกตั้งสหรัฐ, โฆษณาทางการเมือง, โจ ไบเดน