การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจทั่วโลก ส่งผลให้ธนาคารกลางและรัฐบาลของหลายประเทศจำเป็นต้องงัดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งนโยบายการเงินและการคลังออกมาใช้ประคับคองเศรษฐกิจกันแบบชุดใหญ่ แต่มาตรการที่นักลงทุนเฝ้าจับตากันคือการพิมพ์เงินเข้าสู่ระบบแบบไม่จำกัดจำนวนของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) เป็นตัวแปรสำคัญช่วยเพิ่มสภาพคล่องเม็ดเงินกระจายไหลเข้าสินทรัพย์เสี่ยงอย่างตลาดหุ้น เป็นที่มาคำถามว่าเงิน “ร้อน” ที่หมุนเวียนในสินทรัพย์ทั่วโลกจะอยู่ยาวนานแค่ไหน และเม็ดเงินจะไหลไปลงทุนสินทรัพย์ใดบ้าง ??
แค่ 4 เดือนสภาพคล่องโลกทะลัก 15-16 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
นายวิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล กรรมการผู้จัดการ บล.ทรีนีตี้ เปิดเผยกับ”อินโฟเควสท์”ว่า เมื่อย้อนรอยวิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้พบว่าส่งผลกระทบอย่างมากในอุตสาหกรรม Real sector ที่เกี่ยวเนื่องกับเศรษฐกิจแท้จริง สะท้อนจากจำนวนคนว่างงานเกิดขึ้นหลายประเทศทั่วโลก เป็นที่มาของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ธนาคารกลางของแต่ละประเทศผลักดันออกมาใช้ ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อไม่ให้ลุกลามไปซ้ำเติมเป็นวิกฤติทางการเงินเพราะจะสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาเม็ดเงินที่แต่ละประเทศอัดฉีดเข้าสู่ระบบ พบว่าตั้งแต่เดือน ก.พ.63 เป็นต้นมา ธนาคารกลางของแต่ละประเทศอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบแล้วกว่า 15-16 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยในส่วนของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีขนาดงบดุลเพิ่มขึ้นมา 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯขานรับปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอย่างโดดเด่น เป็นผลพวงให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นไปในทิศทางเดียวกันเฉลี่ยประมาณ 30-50% จากที่ลงไปทำจุดต่ำสุดจากความกังวลวิกฤติโควิด-19 ในรอบนี้ ขณะเดียวกันเม็ดเงินยังไหลเข้าไปในสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างทองคำอีกด้วย
“วันนี้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) และเฟด ใช้นโยบาย Unlimited QE เป็นสิ่งสะท้อนว่ามาตรการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบของธนาคารกลางของประเทศที่พัฒนาแล้วใช้ค่อนข้างรุนแรง เป็นที่มาเม็ดเงินจำนวนมหาศาลที่เข้ามาในระบบกว่า 15-16 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งปัจจุบันเฟดใช้มาตรการลดอัตราดอกเบี้ยเหลือ 0% ,ใช้นโยบาย Unlimited QE หรือพิมพ์เงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจแบบไม่จำกัด นอกจากนำเงินไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลแล้ว ยังเข้าซื้อพันธบัตรประเภท Corporate ETF อีกด้วย และโครงการเงินกู้อัดฉีดเงิน 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ดังนั้น 4 มาตรการดังกล่าวเป็นส่วนช่วยสนับสนุนตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นมามาก นอกจากนั้นสิ่งที่เฟดจะมีโอกาสดำเนินการต่อไปคือใช้มาตรการ yield curve control คือเป็นการควบคุม bond yield ให้ต่ำ จุดประสงค์เพื่อเข้าซื้อพันธบัตรโดยมีต้นทุนไม่สูงนั่นเอง”
นายวิศิษฐ์ กล่าว
นายวิศิษฐ์ กล่าวต่อว่า สำหรับเม็ดเงิน 15-16 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯนับเป็นจำนวนมากในรอบหลายๆปี ซึ่งการเพิ่มสภาพคล่องเช่นนี้ในอดีตต้องใช้ระยะเวลากว่า 4 ปี แต่ครั้งนี้ใช้เวลาไม่ถึง 4 เดือน แม้ว่าคนที่อยู่ในภาค Real sector จะมองเศรษฐกิจไม่ดี แต่ผู้คนที่อยู่ในภาคการเงิน ตลาดหุ้น กลับมีความเชื่อมั่นสะท้อนได้จากตลาดหุ้นทั่วโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นรวดเร็ว
แต่สิ่งที่สะท้อนว่าตลาดหุ้นเพิ่มขึ้นไม่ได้เกิดจากปัจจัยพื้นฐานคือตัวเลข Earning Yield Gap ซึ่งเป็นส่วนต่างระหว่าง Earning Yield ของตลาดหุ้น เทียบกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว ซึ่งในอดีต Earning Yield Gap ของตลาดทุนทั่วโลกเฉลี่ยสูงประมาณ 7-8% ตอนนี้เหลือแค่ 3% เป็นสิ่งสะท้อนว่า Earning หรือผลประกอบการของตลาดหุ้นเติบโตไม่ทันราคาหุ้นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น นั่นแปลว่าเศรษฐกิจยังไม่ได้ฟื้นตัวแต่ราคาหุ้นกลับปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา
เงินร้อน Carry Trade ดันค่าเงินบาทแข็ง
นายวิศิษฐ์ กล่าวว่า จากจำนวนสภาพคล่องที่มีมหาศาลทั้งภายในและภายนอกประเทศ ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นวันนี้คือ Carry Trade คือกระแสเม็ดเงินไหลจากประเทศที่มีผลตอบแทนต่ำไปหาประเทศที่มีอัตราผลตอบแทนสูง สะท้อนตัวเลข Real Bond Yield ผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีนำมาลบกับตัวเลขเงินเฟ้อ ซึ่งเมื่อนำ Real Bond Yield ของไทยมาหักลบกับ Real Bond Yield ของสหรัฐฯมีความแตกต่างกัน 4.1% เป็นอัตราสูงสุดในรอบเกือบ 10 ปี โดยผลจาก Carry Trade เงินได้ไหลเข้าสู่สินทรัพย์ของไทยเป็นผลเชื่อมโยงให้อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินกลับมาแข็งค่าขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
“ปรากฎการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นกับประเทศอินโดนีเซียและไทย ซึ่งหากมอง Real Bond Yield ของประเทศอินโดนีเซียจะเฉลี่ยอยู่ที่ 5% สูงสุดเป็นอันดับหนึ่งของประเทศอาเซียน และของไทยเป็นอันดับสอง นั่นเป็นสาเหตุให้ค่าเงินของไทยแข็งค่าเป็นอันดับสองรองจากประเทศอินโดนีเซียนั่นเอง และเมื่อสังเกตจะพบว่านักลงทุนต่างชาติเข้าซื้อพันธบัตรตั้งแต่ต้นเดือน มิ.ย.63 เป็นต้นมา เป็นวงเงินกว่า 3 หมื่นล้านบาทสัดส่วนมากกว่า 50% เป็นพันธบัตรระยะสั้น เป็นการบ่งชี้ว่าส่วนหนึ่งเข้ามาเก็งกำไรในค่าเงินบาทด้วย”
ส่วนตลาดหุ้นไทยที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนั้น นายวิศิษฐ์ กล่าวว่า ส่วนใหญ่เกิดจากฐานกำลังซื้อของคนในประเทศ เพราะถ้าสังเกตจะพบว่านักลงทุนต่างชาติเพิ่งเข้ามาซื้อตลาดหุ้นไทยในเดือน มิ.ย.63 แต่ตลาดหุ้นไทยถูกผลักดันด้วยสภาพคล่องในประเทศทั้งจากกลุ่มนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนกลุ่มบุคคล
ยกตัวอย่างตัวเลข M2 ที่ใช้วัดฐานกำลังซื้อของคนในประเทศในเดือน พ.ค.63 เติบโต 7% นับเป็นการเติบโตมากที่สุดในรอบเกือบ 10 ปี สะท้อนว่านักลงทุนบุคคลในประเทศเข้ามามีส่วนร่วมผลักดันตลาดหุ้นไทยเป็นสัดส่วนเกือบ 50% ของมูลค่าซื้อขาย ส่วนหนึ่งคือนักลงทุนเลือกที่จะไม่ออมในตลาดพันธบัตร และกลุ่มที่มีเงินฝากอยู่กับสถาบันการเงินในประเทศนำเงินออกมาลงทุนในหุ้น
จับตา”เฟด”ลดวงเงินใช้ QE
กูรูด้าน Fund Flow ย้ำว่า ปัจจุบันตลาดหุ้นทั่วโลกปรับขึ้นมาเฉลี่ย 30-50% จากมาตรการ QE แต่เมื่อพิจารณาเชิงลึกจะพบว่าเฟดเริ่มส่งสัญญาณลดใช้วงเงิน QE แล้ว จากในอดีตที่เคยใช้ QE เข้าซื้อพันธบัตรเฉลี่ย 6-7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อสัปดาห์ แต่ปัจจุบันใช้ QE ประมาณ 3-4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯเท่านั้น เป็นการสะท้อนว่าเฟดอาจลดวงเงินอย่างมีนัยสำคัญ
“ช่วงที่เฟดใช้ QE จำนวนมากคือช่วงที่มีคนรับสวัสดิการว่างงานสูง ปัจจุบันคนที่รับสวัสดิการว่างงานอยู่ที่ 2-3 ล้านคนเป็นจำนวนลดลงจากเดือน เม.ย.63 ที่เพิ่มขึ้นไปถึง 8 ล้านคน นั่นแปลว่าเฟดอ้างอิงกับตัวเลขเศรษฐกิจด้วย ในยุค ค.ศ.2013 “เบน เบอร์นันเก้” เป็นประธานเฟดก็ใช้นโยบาย QE แบบไม่จำกัดวงเงินเช่นกัน และสุดท้ายก็มาลดวงเงิน QE ช่วงนั้นตลาดหุ้นก็ตื่นตระหนก ปรับตัวลดลงไปค่อนข้างหนักเหมือนกัน”
ทั้งนี้ แม้ว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯจะยังไม่ฟื้นตัวอย่างเต็มที่ แต่อาจหันมาใช้มาตรการอื่นทดแทนมาตรการ QE เช่น มาเน้นมาตรการ yield curve control เข้ามาแทน เช่น เข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลในต้นทุนที่กำหนด หรืออาจเข้าซื้อพันธบัตรเอกชนประเภท Corporate ETF หรืออัดฉีดเข้าไปใน Real Sector ด้วยการเข้าซื้อใน Individual Bonds เป็นพันธบัตรที่ถือโดยบุคคล เป็นสิ่งสะท้อนว่าเฟดมีนโยบายที่หลากหลายใช้กระตุ้นเศรษฐกิจนอกเหนือจากมาตรการ QE แบบไม่จำกัด
“แม้ว่าเฟดจะลดวงเงินใช้ QE แต่สภาพคล่องโดยรวมในโลกอาจจะยังไม่ได้ลดลงมากนัก แต่การเติมเข้ามาใหม่จะลดลง ในกรณีสภาพคล่องจะลดลงคือเฟดต้องลดขนาดงบดุลเหมือนกับในช่วง 2-3 ปีที่แล้วแต่ปัจจุบันเฟดยังไม่มีนโยบายลดงบดุล”
นายวิศิษฐ์ กล่าว
เตือนตลาดหุ้นไทย อาจหมดยุค “Easy Money” เข้าสู่โลกความเป็นจริง!!
นายวิศิษฐ์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันตลาดหุ้นทั่วโลกและตลาดหุ้นไทยอาจกำลังผ่านพ้นช่วง “Easy Money” ก่อนจะเข้าสู่โลกความเป็นจริง ทั้งความเสี่ยงเฟดลดวงเงินใช้ QE ,ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนไตรมาส 2/63 ที่จะประกาศในเดือน ก.ค.-ส.ค.63 รวมถึงความเสี่ยงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ เช่น นักลงทุนยังไม่ตอบรับกับความเสี่ยงสงครามการค้าระลอกสอง เป็นต้น น่าจะเป็นตัวแปรสร้างความผันผวนให้กับตลาดหุ้นไทยได้ในไตรมาส 3/63
“ผมเคยวิเคราะห์ว่าไตรมาส 2/63 ตลาดหุ้นบ้านเราจะเจอกับ bear market rally เป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงที่เกิดตลาดหมี นั้นคือ EPS โตไม่ทันราคาหุ้น สภาพคล่องเป็นตัวผลักดันขึ้นมา ไตรมาส 3/63 นักลงทุนต้องมาศึกษาว่าบริษัทใดเป็นของจริงหรือของปลอม เชื่อว่าการทำการบ้านจะทำให้นักลงทุนเลือกหุ้นได้ถูกตัวและอยู่รอดในยามตลาดผันผวนอีกครั้ง” นายวิศิษฐ์ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 มิ.ย. 63)
Tags: Fund Flow, ค่าเงินบาท, ตลาดหุ้น, ทรีนีตี้, วิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล, สภาพคล่อง, หุ้นไทย, เงินบาท