นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ประเมินว่าในเดือน ก.ย.นี้ น่าจะเริ่มเห็นสายการบินต่าง ๆ กลับมาให้บริการเส้นทางบินระหว่างประเทศ หลังจากหลายประเทศเริ่มทยอยประกาศเปิดน่านฟ้าบ้างแล้ว เนื่องจากเริ่มเข้าช่วงฤดูการท่องเที่ยว (ไฮซีซั่น) ในช่วงเดือน ต.ค.63- มี.ค.64
อย่างไรก็ตาม กทพ.คาดการณ์ว่าในปี 63 ปริมาณผู้โดยสารทั้งในประเทศและจากต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาในประเทศจะลดลงราว 70% เมื่อเทียบกับปี 62 ที่มีปริมาณผู้โดยสารอยู่ราว 165 ล้านคน
นายจุฬา กล่าวภายหลังประชุมร่วมผู้ประกอบการสายการบินเกี่ยวกับมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 สำหรับการให้บริการเที่ยวบินระหว่างประเทศว่า วันนี้ประชุมร่วมกับ 10 สายการบินที่ทำการบินเส้นทางระหว่างประเทศทั้งไทยและต่างชาติ รวมไปถึง 5 ผู้ประกอบการเที่ยวบินส่วนบุคคล (Private jet) และ 4 ผู้ประกอบการสนามบินในไทย
รายละเอียดของการหารือ เป็นการเตรียมความพร้อมให้บริการเส้นทางบินระหว่างประเทศ หากไทยปลดล็อกการเดินทางดังกล่าว ซึ่งเบื้องต้น กพท.จะจัดมาตรการตามระเบียบข้อกำหนดขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ซึ่งถือเป็นมาตรฐานที่บังคับใช้สากล อาทิ ข้อกำหนดสายการบินไม่ต้องเว้นที่นั่ง แต่ต้องเข้มงวดเรื่องระบบกรองอากาศ รวมทั้งเข้มงวดผู้โดยสารและพนักงานบนเครื่องบินต้องสวมหน้ากากตลอดการเดินทาง
ขณะเดียวกัน มีประเด็นที่สายการบินยังกังวล คือ บริการอาหารและเครื่องดื่มบนเครื่องบินในเส้นทางที่ต้องทำการบินเกิน 2 ชั่วโมง โดย กพท.กำหนดตามมาตรฐานของ ICAO อนุญาตให้สายการบินสามารถให้บริการอาหารและเครื่องดื่มได้ แต่ต้องจัดเสิร์ฟในภาชนะปิด เพื่อลดการสัมผัสระหว่างลูกเรือ และผู้โดยสาร นอกจากนี้ยังกำหนดให้เสิร์ฟภายหลังทำการบินไปแล้ว 2 ชั่วโมง
นายจุฬา ยังกล่าวอีกว่า กพท.ยังเตรียมข้อกำหนดในเรื่องการสำรองที่นั่ง 3 แถวหลังสุดท้ายด้านใดด้านหนึ่งของอากาศยานไว้สำหรับแยกกักผู้ป่วยหรือสงสัยว่าจะป่วยเพื่อเฝ้าสังเกตอาการและป้องกันการแพร่กระจายของโรค ซึ่งในการประชุมได้ข้อยุติในหลักการ กำหนดหากบินเพียง 1 ชั่วโมง อาทิ เส้นทางประเทศเพื่อนบ้าน อาจไม่ต้องจัดสำรองพื้นที่ดังกล่าว รวมทั้งสายการบินสามารถประเมินความเสี่ยงของแต่ประเทศเพื่อพิจารณาการสำรองที่นั่งตามความเหมาะสมได้
“วันนี้เรามาเตรียมความพร้อมกัน เพราะหากจะประกาศให้กลับมาเปิดบินระหว่างประเทศได้ สายการบินต้องมีมาตรการรองรับ มีแนวทางปฏิบัติ ซึ่งตอนนี้เราก็ยึดหลักการสากลของ ICAO เรื่องเว้นที่นั่ง ICAO ยกเว้นไปแล้ว เพราะก็ประเมินว่า หากสายการบินจะทำการบิน ต้องมีโหลดแฟกเตอร์อยู่ที่ 77% จึงจะคุ้ม หากจะกำหนดให้เว้นระยะห่าง เหลือที่นั่ง 70% ก็จะทำให้สายการบินขาดทุน ไม่คุ้มต่อการเปิดบิน”
ส่วนประเด็นของการกำหนดวันอนุญาตทำการบินเส้นทางระหว่างประเทศ กพท.ยังไม่สามารถระบุได้ว่ารัฐบาลจะมีการประกาศอนุญาตทำการบินในวันที่ 1 ก.ค.นี้หรือไม่ เนื่องจากต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อประเมินความปลอดภัย และเจรจาจับคู่ประเทศก่อน
อย่างไรก็ดี การพิจารณาเปิดบินเส้นทางระหว่างประเทศ ต้องคำนึงถึง 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1.พิจารณาเชิงประเทศว่ามีความปลอดภัยในการเดินทาง และเปิดให้คนไทยเดินทางไปหรือไม่ และ 2. พิจารณากลุ่มเดินทางที่มีความจำเป็นและมีความเสี่ยงน้อยที่สุด เช่น กลุ่มนักธุรกิจ เพราะจะต้องได้รับการตรวจเช็คสุขภาพก่อน ดังนั้นจะมีความปลอดภัยมากกว่าหากเทียบกับกลุ่มนักท่องเที่ยวทั่วไป
นายจุฬา ยังกล่าวอีกว่า ขั้นตอนการประเมินการเปิดให้บริการเส้นทางบิน เบื้องต้นจะเริ่มจากการพิจารณาความเหมาะสมของประเทศปลายทาง โดยกระทรวงสาธารณสุขจะพิจารณาก่อนจะประสานมายัง กพท. หลังจากนั้น กพท.จะแจ้งให้สายการบินทราบประเทศปลายทางที่สามารถเดินทางไปได้ พร้อมทั้งชี้แจงถึงมาตรการที่ประเทศปลายทางบังคับปฏิบัติ เพื่อให้สายการบินประเมินให้บริการผู้โดยสารว่าจะคุ้มค่าหรือไม่
“ตอนนี้สายการบินก็ยังไม่สามารถตอบได้ว่าเส้นทางไหนที่จะพร้อมกลับมาเปิดให้บริการก่อน เพราะว่าต้องรอดูมาตรการด้านสาธารณสุขที่ไทยและประเทศปลายทางจะกำหนดต่อกันด้วย เพราะประเด็นนี้จะมีผลต่อความต้องการเดินทางของผู้โดยสาร หากมีมาตรการบังคับตรวจเยอะ ผู้โดยสารก็อาจไม่นิยมเดินทาง จะทำการบินก็อาจไม่คุ้มค่า สายการบินก็อาจไม่เลือกกลับไปเปิดบิน”
นายจุฬา กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 มิ.ย. 63)
Tags: กพท., จุฬา สุขมานพ, ท่องเที่ยว, สายการบิน, องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ, โควิด-19