น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวผ่าน 3 โครงการสำคัญตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอ ซึ่งจะใช้งบประมาณสนับสนุนรวมทั้งสิ้น 22,400 ล้านบาท ระยะเวลาโครงการ 4 เดือน ตั้งแต่ ก.ค.-ต.ค.63 โดยจะต้องลงทะเบียนการใช้งานผ่านแพลตฟอร์มของธนาคารกรุงไทย (KTB) ซึ่งในรายละเอียดนั้นจะมีการแจ้งให้ทราบอีกครั้ง
โครงการแรก คือ กำลังใจ เป็นการส่งเสริมกำลังใจให้แก่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) รวมประมาณ 1.2 ล้านคน โดยรัฐบาลจะสนับสนุนเงินค่าเดินทางผ่านบริษัทนำเที่ยว ไม่เกินคนละ 2,000 บาท มีเงื่อนไขว่าต้องเดินทางท่องเที่ยวไม่น้อยกว่า 2 วัน 1 คืน คาดว่าจะใช้งบประมาณ 2,400 ล้านบาท
โครงการสอง คือ เราไปเที่ยวด้วยกัน รัฐบาลจะสนับสนุนค่าที่พัก-โรงแรม ในอัตรา 40% ของราคาค่าห้องต่อคืน แต่สูงสุดไม่เกินคืนละ 3,000 บาท รวมทั้งสนับสนุนเงินอีก 600 บาท/ห้องพัก/คืนผ่านการลงทะเบียนจากแอพพลิเคชั่น“เป๋าตังค์”ไม่เกิน 5 คืนเพื่อนำไปเป็นค่าใช้จ่ายและค่าอาหาร สถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดอื่นที่ผู้ใช้สิทธิไม่ได้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ซึ่งในส่วนนี้จะใช้งบประมาณ 18,000 ล้านบาท
โครงการสาม คือ เที่ยวปันสุข รัฐบาลจะสนับสนุนการเดินทางของประชาชนไม่น้อยกว่า 2 ล้านคน ผ่านการจำหน่ายบัตรโดยสารของผู้ประกอบการขนส่ง สายการบิน รถขนส่งไม่ประจำทาง และรถเช่า โดยรัฐจะสนับสนุนในอัตรา 40% แต่ไม่เกิน 1,000 บาท
“นอกจากนี้ ยังมีการ CO กันระหว่างโครงการเที่ยวปันสุข กับโครงการเราไปเที่ยวด้วยกัน โดยถ้ามีการจองห้องพักในโครงการเราไปเที่ยวด้วยกัน จะได้รับสิทธิจองบัตรโดยสารเครื่องบินไป-กลับในประเทศ ในราคา 2,500 บาทอีก 1 สิทธิด้วย”
น.ส.ไตรศุลี ระบุ
สำหรับแนวทางการดำเนินการนั้น ทางธนาคารกรุงไทย จะจัดทำแพลตฟอร์มเพื่อใช้เป็นช่องทางรวบรวมข้อมูลและรายละเอียดโรมแรมที่พัก รายการนำเที่ยวจากบริษัทนำเที่ยว รายละเอียดบัตรโดยสารของผู้ประกอบการธุรกิจขนส่งเพื่อการท่องเที่ยว ร้านอาหารและสถานที่ท่องเที่ยวที่เข้าร่วมโครงการเพื่อการตรวจสอบการจดทะเบียนตามกฎหมายร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จากนั้นผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการจะนำเสนอรายละเอียดสินค้าและบริหารในแพลตฟอร์มตามข้อกำหนดด้านราคาที่กำหนดในรายละเอียดโครงการ
ในส่วน ททท. ดำเนินการสื่อสารโครงการเพื่อให้นักท่องเที่ยวแจ้งความประสงค์ขอรับสิทธิ และ/หรือ ดำเนินการซื้อสินค้าและบริหารในแพลตฟอร์ม แล้วชำระค่าบริการตามข้อกำหนดด้านราคาที่กำหนดในรายละเอียดโครงการ แล้วจะได้รับสิทธิในการเข้าใช้บริการตามรายละเอียดแต่ละโครงการ
ส่วนผู้ประกอบการที่เข้าร่วมทั้ง 3 โครงการ จะรายงานสรุปการให้บริการแก่นักท่องเที่ยวผู้เข้าร่วมโครงการ โดยธนาคากรุงไทย และ ททท. ตรวจสอบแล้ว ธนาคารกรุงไทยจะดำเนินการจ่ายงบประมาณให้แก่ผู้ประกอบการตามรายละเออียดการสนับสนุนงบประมาณในแต่ละโครงการ
สำหรับเงื่อนไขและรายละเอียดของการใช้สิทธิในแต่ละกิจกรรมของโครงการเราไปเที่ยวกัน และโครงการเที่ยวปันสุข ให้กำหนดให้ชัดเจนและตอบสนองกับวัตถุประสงค์ของโครงการ โดยอาจพิจารณาดังนี้
- การดำเนินการในลักษณะ CO-PAY โดยกำหนดสิทธิให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิได้ 1 ครั้ง (พิจารณาจากบัตรประชาน) คือ ค่าห้องพักสูงสุดไม่กิน 5 ห้องต่อคน (Room Night) พร้อมได้สิทธิ E-Voucher ผ่าน App เป๋าตังค์ 600 บาทต่อคืน (สูงสุดไม่เกิน 5 คืน) และสิทธิในการซื้อบัตรโดยสารไป-กลับ เส้นทางบินในประเทศ 1 ครั้ง โดยในส่วนของบัตรโดยสารเครื่องบินให้ประชาชนชำระค่าบริการก่อน โดยภาครัฐจะชำระคืนในภายหลัง เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้ารับสิทธิได้อย่างทั่วถึง
- เป็นการให้สิทธิรวมกันทั้ง 2 โครงการ (โครงการเราไปเที่ยวกัน และโครงการเที่ยวปันสุข) โดยผู้ใช้สิทธิบัตรโดยสารเครื่องบินได้รับส่วนลด 40% หรือไม่เกิน 1,000 บาทต่อสิทธิ เมื่อใช้สิทธิในโครงการเราไปเที่ยวกัน เพื่อให้การดำเนินโครงการเป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการในภาคท่องเที่ยวอย่างแท้จริง พร้อมทั้งประสานสายการบินจัดทำโปรโมชั่นบัตรโดยสารไป-กลับราคาเดียวในอัตราพิศษ
ทั้งนี้ ในช่วงเดือนก.ค.-ต.ค. 63 อาจพิจารณาในส่วนของการเดินทางทางอากาศก่อนเป็นลำดับแรก โดยในส่วนของรถโดยสารไม่ประจำทางหรือรถเช่า ซึ่งมีความซับซ้อนในการดำเนินการ อาจพิจารณาจัดทำเป็นโครงการช่วยเหลือผู้ประกอบการในระยะต่อไป
- กำหนดเงื่อนไขให้ผู้ประกอบโรงแรมและที่พักต้องมีใบอนญาตในการประกอบธุรกิจโรงแรม และพิจารณาขยายให้ครอบคลุมถึงที่พักแบบโฮมสเตย์ที่ลงทะเบียนกับกรมการท่องเที่ยว เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการชุมชนด้วย
- กำหนดเกณฑ์อัตราค่าห้องพักของโรงแรมที่เข้าร่วมโครงการให้ไม่สูงกว่าที่เสนอขายผ่านเว็บจองที่พักออนไลน์ (OTA) เพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการโรงแรมและที่พักฉวยโอกาสในการขึ้นราคาห้องพัก รวมทั้งต้องอยู่ในอัตราพิเศษที่ไม่สามารถเรียกร้องขอเงินคืนได้
- กำหนดกลไกการลงทะเบียนของผู้ประกอบการท่องเที่ยวทั้งในส่วนโรงแรมที่พัก บริษัทนำเที่ยว ผู้ประกอบการสายการบิน ที่เข้าร่วมโครงการให้เป็นไปอย่างโปร่งใสและเกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม
- พิจารณาแนวทางการบริหารโครงการในกรณีหากเกิดการระบาดซ้ำของโรคไวรัสโควิด-19 ภายในประเทศ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 มิ.ย. 63)
Tags: ครม., ท่องเที่ยวไทย, ธนาคารกรุงไทย, เที่ยวปันสุข, เศรษฐกิจไทย, ไตรศุลี ไตรสรณกุล