นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) วันนี้ พิจารณาการปรับปรุงหลักเกณฑ์การคำนวณราคาหน้าโรงกลั่นน้ำมันเชื้อเพลิง ที่กระทรวงพลังงานได้ศึกษาไว้ตั้งแต่เดือน ธ.ค.62 แต่ได้เปิดโอกาสให้ภาคประชาชนได้เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนและให้ข้อคิดเห็นเพื่อทำให้ราคาโปร่งใสและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
ซึ่ง กบง. ในคราวการประชุมเมื่อวันที่ 9 มี.ค.63 ได้เห็นชอบหลักเกณฑ์ราคาฯ ไว้แล้ว แต่ด้วยช่วงนั้นเป็นช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงยังไม่ทันได้เริ่มใช้หลักเกณฑ์นั้น
ขณะที่การพิจารณาของ กบง. ครั้งนี้ เห็นว่าเป็นช่วงเวลาที่ควรจะเริ่มใช้หลักเกณฑ์การคำนวณใหม่แล้ว เมื่อคำนวณราคา ณ โรงกลั่นน้ำมันเชื้อเพลิงตามเกณฑ์ใหม่แล้ว จะส่งผลต่อราคาหน้าโรงกลั่นลดลงเฉลี่ย 0.50 บาทต่อลิตร ราคาขายปลีกลดลงได้เฉลี่ย 0.50 บาทต่อลิตร ตามประเภทต้นทุนของแต่ละชนิดเชื้อเพลิง โดยจะให้เริ่มใช้ในวันที่ 17 มิ.ย.63
ส่วนข้อกังวลของโรงกลั่นน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีต่อค่าการปรับปรุงคุณภาพน้ำมันนั้น กระทรวงพลังงานรับทราบแล้ว และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปพิจารณาเพื่อความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และให้นำมาเสนอ กบง. พิจารณาในโอกาสต่อไป
ทั้งนี้ กระทรวงพลังงาน ได้ใช้โอกาสนี้ทบทวนความเข้าใจเรื่องการค้าน้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศไทยนั้นเป็นการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม กระทรวงพลังงานไม่ได้กำหนดราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงหน้าสถานีบริการ ซึ่งผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิง แต่ละยี่ห้อแต่ละสถานีบริการจะปรับราคาขึ้นหรือลงตามการแข่งขันอย่างเสรี กระทรวงพลังงานเพียงจัดทำโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขึ้นเพื่อไว้ประเมินราคาที่ควรจะเป็น ณ เวลานั้นๆ มีไว้อ้างอิง เปรียบเทียบ ไม่มีผลบังคับกับผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงแต่อย่างใด
ราคาน้ำมันของตลาดโลกมีการเปลี่ยนแปลงปรับขึ้นหรือลงทุกวัน ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงหน้าสถานีบริการของประเทศไทยไม่ได้เปลี่ยนแปลงทุกวัน กระทรวงพลังงานจะติดตามความเหมาะสมโดยมี “ค่าการตลาด” หรือประมาณการกำไรขั้นต้นก่อนหักค่าใช้จ่ายระหว่างผู้ค้าน้ำมันและเจ้าของสถานีบริการแต่ละยี่ห้อไว้ในโครงสร้าง
ซึ่งค่าการตลาดที่ กบง. เคยเห็นชอบไว้ที่อัตราเฉลี่ย 1.85 บาทต่อลิตร เป็นค่าการตลาดเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของน้ำมันทุกชนิดในภาพรวม ไม่ใช่พิจารณารายผลิตภัณฑ์ และจะมีความยืดหยุ่น +/- 0.40 บาทต่อลิตร หรือค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ยจะอยู่ในช่วง 1.45-2.25 บาทต่อลิตร
นายสนธิรัตน์ กล่าวอีกว่า ที่ประชุม กบง.ยังได้พิจารณาเรื่องสำคัญอีก 2 เรื่อง เป็นมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 คือการปรับราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) หรือก๊าซหุงต้ม และก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV)
ซึ่งที่ประชุมเห็นว่าแม้จะเข้าสู่การผ่อนคลายจากสถานการณ์โควิด-19 แล้ว แต่ยังเป็นระยะปรับตัวทางเศรษฐกิจ ในช่วงนี้จะขอความร่วมมือ บมจ.ปตท. (PTT) ขยายเวลาการช่วยเหลือส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มแก่ผู้มีรายได้น้อย กลุ่มร้านค้า หาบเร่ แผงลอย ที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจำนวน 100 บาท/คน/เดือน ต่อไปจนถึงเดือน ก.ย.63
พร้อมกับให้ตรึงราคาขายปลีก LPG ที่ระดับ 318 บาท/ถัง 15 กิโลกรัม ต่อไปอีกราว 3 เดือน จากเดิมที่จะสิ้นสุดมาตรการวันที่ 24 มิ.ย.นี้ เป็นวันที่ 30 ก.ย.63 ซึ่งจะใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้ามาอุดหนุน
นอกจากนี้กบง.ยังมีมติปรับโครงสร้างราคา NGV จากเดิมอ้างอิงต้นทุนบวกค่าขนส่ง (Cost plus) เป็นการอ้างอิงราคาน้ำมันดีเซล B10 ในสัดส่วน 75% ทั้งนี้ การปรับโครงสร้างสูตรราคา NGV จะส่งผลให้ราคาขายปลีกลดลงประมาณ 3 บาท/กิโลกรัม โดยสูตรโครงสร้างราคา NGV จะเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ต่อไป
รวมถึงขอให้ PTT ช่วยขยายเวลาลดราคาขายปลีก NGV รถโดยสารสาธารณะ (ในเขต กทม./ปริมณฑล: รถแท็กซี่/ตุ๊กตุ๊ก/รถตู้ ร่วม ขสมก. ในต่างจังหวัด: รถโดยสาร/มินิบัส/สองแถว ร่วม ขสมก. รถโดยสาร/รถตู้ ร่วม บขส. และรถแท็กซี่) ที่ปรับลดจาก 13.62 บาท/กิโลกรัม เป็น 10.62 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งจะสิ้นสุดลงในวันที่ 30 มิ.ย.63 ให้ขยายเวลาถึงเดือน ก.ค.63 ด้วย
นายสนธิรัตน์ กล่าวอีกว่า สำหรับความคืบหน้าการเปิดเสรีก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 หลังจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) อนุมัติผู้จัดหาและนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) รายใหม่ ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป โดยสั่งการให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) ศึกษา และจะเสนอเข้าที่ประชุม กบง.ในครั้งต่อไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 มิ.ย. 63)
Tags: LPG, NGV, PTT, กบง., กระทรวงพลังงาน, ก๊าซธรรมชาติ, ก๊าซหุงต้ม, น้ำมันเชื้อเพลิง, ปตท., ราคาน้ำมัน, สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์