PODCAST: Weekly Highlight ค้นแนวรับนักเก็งกำไรรอบปลายเดือน มิ.ย. ผวา’เวฟ 2 โควิด’ทั่วโลกพุ่ง 7.9 ล้านราย

“Weekly Highlight” สัปดาห์นี้ (15-19 มิ.ย.) เจาะลึกกับข่าวสารสำคัญในรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 15 มิถุนายน 2563

เริ่มต้นกับการสรุปภาพรวมตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่แล้ว (8-12 มิ.ย.) SET INDEX ปรับตัวลดลง 3.7% จากสัปดาห์ก่อน โดยกลุ่มหุ้นที่ปรับตัวลดลงมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ กลุ่มปิโตรเคมี ลดลงมากที่สุดประมาณ 10% รองลงมาคือกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ลดลง 6% และสุดท้าย คือกลุ่มพลังงาน ลดลง 5.2%

แม้ว่าบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทยจะมีแรงสนับสนุนจากความคาดหวังสภาพคล่องส่วนเกิน ช่วยผลักดันดัชนีฯให้ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง แต่สุดท้ายก็ยังไม่สามารถพลิกกลับมายืนเหนือ 1,450 จุดได้สำเร็จ เนื่องจากนักลงทุนยังขาดปัจจัยบวกใหม่เข้ามาสนับสนุนความเชื่อมั่นที่ชัดเจน ประกอบกับนักวิเคราะห์แทบทุกสำนักต่างมีมุมมองที่คล้ายกันเกี่ยวกับ Valuation หรือมูลค่าของตลาดหุ้นไทยเข้าสู่โซนที่ค่อนข้างแพงเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นในแถบภูมิภาคเอเชีย

ขณะเดียวกัน การทยอยผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ของหลายประเทศ แม้ว่าจะส่งผลดีต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ แต่ในทางกลับกันก็อาจเพิ่มความเสี่ยงให้การแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 หวนกลับมาได้ในรอบที่สอง เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ว่าจะเข้ามาบั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั่วโลกอีกหรือไม่

ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลก พบว่าขณะนี้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเกือบ 7.9 ล้านราย และมียอดผู้เสียชีวิตสะสมรวมกว่า 432,000 ราย

ด้านสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ในไทย อัพเดทเมื่อวันที่ 14 มิ.ย. พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1 ราย ส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยสะสมรวมล่าสุดอยู่ที่ 3,135 ราย ส่วนผู้ที่รักษาหายแล้วมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 2,987 ราย และมียอดผู้เสียชีวิตสะสมรวมอยู่ที่ 58 ราย

และจากจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในไทยที่ยังสามารถควบคุมได้ดี ทางศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 จึงประกาศผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในระยะที่ 4 มีผลบังคับใช้วันที่ 15 มิ.ย. ด้วยการยกเลิกมาตรการเคอร์ฟิว และผ่อนปรนเปิดบางกิจการที่มีความเสี่ยง แต่ยังต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขของกระทรวงสาธารณสุข

สำหรับประเด็นสำคัญที่นักวิเคราะห์เฝ้าจับตาในสัปดาห์นี้ คือการประชุมของธนาคารกลางหลายประเทศทั่วโลก ที่ส่งสัญญาณใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินต่อเนื่อง สนับสนุนสภาพคล่องส่วนเกินในระบบ เป็นส่วนช่วยผลักดันราคาสินทรัพย์เสี่ยงอย่างตลาดหุ้นให้มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น เริ่มต้นด้วยการประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่น ในวันที่ 16 มิ.ย.คาดว่าจะคงมาตรการผ่อนคลายทางการเงินต่อเนื่อง เช่นเดียวกับธนาคารกลางอังกฤษ เบื้องต้นคาดว่าจะอนุมัติเพิ่มวงเงินเข้าซื้อพันธบัตรในการประชุมวันที่ 18 มิ.ย.นี้ด้วยครับ

นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์และนักกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) ประเมินภาพรวม SET INDEX ในช่วงที่เหลือของเดือน มิ.ย. มีโอกาสเข้าสู่ช่วงพักฐานระยะสั้น ส่วนหนึ่งตอบรับกับปัจจัยแนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 2 ของบรรดาบริษัทจดทะเบียนที่คาดว่าจะออกมาย่ำแย่ เบื้องต้นได้กำหนดกรอบแนวรับสำคัญไว้ 2 ระดับที่ 1,350 จุด และ 1,320 จุด ซึ่งนักลงทุนสามารถใช้เป็นจุดพิจารณาเข้าซื้อเพื่อเก็งกำไรหรือทยอยสะสมหุ้นในรอบใหม่ได้เช่นกัน

“แม้ว่าตลาดหุ้นไทยจะแกว่งตัวซึมลง แต่การปรับฐานรอบนี้จะไม่ได้น่ากลัวเหมือนการปรับฐานช่วงเดือน มี.ค. เพราะช่วงนั้นนักลงทุนเทขายหุ้นอย่างรุนแรงกังวลกับวิกฤติโควิด-19 ขณะที่ปัจจุบันสภาพคล่องในระบบเยอะมากหลังจากรัฐบาลหลายๆประเทศอัดฉีดเงินเข้าระบบและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ นอกจากนั้น ธนาคารกลางสหรัฐฯยืนยันไม่ใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ ทำให้เม็ดเงินไหลเข้าไปลงทุนในพันธบัตรยาก เป็นส่วนช่วยราคาสินทรัพย์เสี่ยงและทองคำให้มีแนวโน้มปรับตัวขึ้น เป็นสิ่งสะท้อนว่าภาพรวมตลาดหุ้นไทยอาจจะซึมลงก็จริง แต่การลดลงจะไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด”

นายกิจพณ กล่าว

สำหรับแนวโน้มกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทสัปดาห์นี้ ธนาคารกสิกรไทย ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวอยู่ที่ 30.70-31.20 บาท/ดอลลาร์ โดยสัปดาห์ที่ผ่านมาเงินบาทแข็งค่ามากที่สุดในรอบกว่า 4 เดือนสอดคล้องกับสถานะซื้อสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ ประกอบกับคาดว่ามีแรงขายเงินดอลลาร์ฯ จากกลุ่มผู้ส่งออก และผลจากปัจจัยทางเทคนิคที่ทำให้เงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องในระหว่างสัปดาห์ นอกจากนี้เงินดอลลาร์ฯ ยังเผชิญแรงขาย หลังธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ย้ำสัญญาณผ่อนคลายนโยบายการเงินต่อเนื่อง พร้อมกับประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ หดตัวรุนแรงถึง 6.5% ในปีนี้ อย่างไรก็ดีช่วงแข็งค่าของเงินบาทเริ่มจำกัดในช่วงปลายสัปดาห์ เนื่องจากตลาดรอติดตามท่าทีการเข้าดูแลค่าเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สุนทรพจน์ของประธานเฟด ผลการประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่นและธนาคารกลางอังกฤษ ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญในระหว่างสัปดาห์ ได้แก่ ผลสำรวจภาคการผลิตของเฟดสาขานิวยอร์ก ผลสำรวจแนวโน้มธุรกิจของเฟดฟิลาเดลเฟีย เป็นต้น

ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยเดือนมิ.ย. ยอดค้าปลีก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านและการอนุญาตก่อสร้างเดือนพ.ค. รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดอาจรอติดตามสัญญาณการระบาดซ้ำของโควิด-19 และข้อมูลเศรษฐกิจเดือนพ.ค. ของจีนด้วยเช่นกัน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 มิ.ย. 63)

Tags: , , , , , , ,
Back to Top