นายกิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เปิดเผยว่า สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด 19 ส่งผลกระทบต่อประชาชนในทุกมิติ โดยในด้านการศึกษานั้น หลังจากสถานศึกษากลับมาเปิดการเรียนการสอนก็จะมีมาตรการการป้องกันผสมผสานการเรียนทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์ ส่งผลให้เกิดสตาร์ทอัพ
ด้านการเรียนการสอนขึ้นจำนวนมาก มหาวิทยาลัยมีการเปิดหลักสูตรพัฒนาทักษะสำหรับกลุ่มอาชีพมากขึ้น ขณะที่นักเรียนและนักศึกษาเริ่มหันไปสนใจการเรียนสาขาใหม่ๆ ทำให้มหาวิทยาลัยต้องเร่งปรับหลักสูตร นักศึกษาทั้งที่เรียนอยู่และจบใหม่จะมีบทบาทเข้าไปช่วยพัฒนาชุมชนมากขึ้น เกิดเป็น local startup และ social enterprise จำนวนมาก
“การแข่งขันการระหว่างมหาวิทยาลัยมีสูงขึ้น เกิดการลดขนาดและแบ่งตลาดกันอย่างชัดเจน หลักสูตรมีการผสมผสานระหว่างการเรียนออนไลน์และออฟไลน์ สถานศึกษาบางแห่งที่ไม่สามารถตอบโจทย์ตลาดใหม่ได้ต้องปิดตัวลง การเรียนการสอนเน้นไปที่การพัฒนาทักษะและการเรียนรู้ตลอดชีวิตมากขึ้น”
นายกิติพงค์ กล่าว
สำหรับมาตรการฟื้นฟูมีเป้าหมายสำคัญ คือ ปรับเปลี่ยนรูปแบบของการศึกษาและการเรียนรู้ของสถาบันการศึกษาให้ก้าวเข้าสู่ความเป็น new normal schools สามารถจัดการศึกษาและการเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่อง มีคุณภาพ คนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงได้ ซึ่งจะทำให้นักเรียน นักศึกษา หรือผู้เรียนทุกช่วงวัยสามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา แม้ในภาวะวิกฤต
สถานศึกษามีการพัฒนาและใช้โครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพที่จำเป็นต่อการยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคในสถานศึกษา, สถานศึกษาการพัฒนาระบบบริหารจัดการเพื่อรองรับการเรียนผ่านสื่อผสมผสานเพื่อการเรียนออนไลน์และออฟไลน์ มีการยกระดับทักษะและความรู้พื้นฐานด้านดิจิทัล ครู บุคลากรทางการศึกษา ให้สามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือในการเรียนการสอน และพัฒนาสื่อการสอน เพื่อทดแทนหรือเสริมการเรียนในระบบปกติได้ รวมถึงเพื่อให้บุคลากรสนับสนุนมีทักษะด้านดิจิทัลเพียงพอต่อการสนับสนุนกิจกรรมทางการศึกษาของสถานศึกษา, เกิดการพัฒนาทักษะการสอนและเนื้อหาการสอนที่เหมาะสมกับการเรียนผ่านระบบดิจิทัล และมีปฏิสัมพันธ์กับผู้เรียน รวมถึงให้ความรู้ด้าน health education กับครูและบุคลากรทางการศึกษา
ในส่วนของนักเรียนและผู้ปกครอง หากมีความจำเป็นต้องเรียนจากที่บ้านก็ต้องมีความรู้พื้นฐานด้านดิจิทัล เพื่อจะได้เข้าใจถึงการใช้อุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการเรียนทางไกล เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต สมาร์ทโฟน ซิมการ์ดสำหรับเข้าถึงอินเตอร์เน็ต ซึ่งทางสถานศึกษาควรพิจารณาสนับสนุนอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการเรียนทางไกลให้แก่ผู้เรียน โดยการอุดหนุนค่าใช้จ่ายเพื่อซื้ออุปกรณ์ หรือจัดหาอุปกรณ์ให้นักเรียนสามารถยืมเรียนได้
นอกจากนี้ยังสนับสนุนให้เอสเอ็มอีพัฒนานวัตกรรมสำหรับใช้ในสถานศึกษาที่กลับมาเปิดการเรียนการสอน เช่น นวัตกรรมสำหรับตรวจคัดกรอง การสืบเสาะ และการติดตามผู้ติดเชื้อหรือมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อในสถานศึกษา นวัตกรรมสื่อการสอนที่ใช้ทดแทนหรือเสริมการเรียนปฏิบัติการ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการเรียนรู้ระยะไกล เช่น การติดตั้งอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงในโรงเรียนหรือแหล่งเรียนรู้ชุมชน การพัฒนาแพลทฟอร์มกลางที่บรรจุบทเรียนออนไลน์ที่เข้าถึงได้ง่ายและทันสมัย เป็นต้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 มิ.ย. 63)
Tags: New Normal, การศึกษาออนไลน์, กิติพงค์ พร้อมวงค์, มหาวิทยาลัย, สตาร์ทอัพ, สถานศึกษา, สอวช., เรียนออนไลน์, โรงเรียน