ขนส่งสาธารณะใช้เทคโนโลยีลดแออัด รับมือผดส.เพิ่มหลังคลายล็อกดาวน์

นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวในงานสัมมนาออนไลน์ “ร่วมฝ่าวิกฤตโควิด-19 รับมือมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 3” ในหัวข้อระบบขนส่งสาธารณะไทยปลอดภัยว่า ระบบขนส่งสาธารณะทุกรูปแบบจะมีการกำหนดมาตรการด้านสาธารณสุข ทั้งการสวมหน้ากาก การทำความสะอาดบริเวณพื้นผิวสัมผัส การนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ทดแทนพนักงาน การเว้นระยะห่างที่ทำให้ต้นทุนสูงขึ้นเพราะพื้นที่ให้บริการลดลง

สิ่งที่กังวลคือจำนวนประชาชนที่มาใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามลำดับหลังมีการผ่อนปรนมาตรการต่อเนื่อง ซึ่งอยากขอให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนยังคงดำเนินการเรื่องการทำงานที่บ้าน (Work Form Home) และการเหลื่อมเวลาทำงานต่อไป เพื่อลดปัญหาความแออัดในการเดินทางของประชาชน

นอกจากนี้ยังพบว่าการปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขของผู้ประกอบการในเรื่องการระบายอากาศนั้น ยังมีข้อจำกัดในส่วนของรถตู้โดยสารสาธารณะที่ไม่มีหน้าต่าง และรถโดยสารปรับอากาศในเส้นทางระยะไกล ซึ่งอาจมีการกำหนดให้ต้องพักรถเป็นระยะๆ และเป็นเรื่องที่ต้องพัฒนาในระยะต่อไป

ด้านนายวิโรจน์ แหวนทองคำ ผู้อำนวยการเขตการเดินรถที่ 1 องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) กล่าวว่า ขสมก.ได้นำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้เรื่องการเก็บค่าโดยสารระยะหนึ่งแล้ว ส่วนการให้บริการนั้นได้เพิ่มความถี่ในการเดินรถเพื่อลดความแออัดของผู้โดยสารจากวันละ 1.9 หมื่นเที่ยว เป็น 2.7 หมื่นเที่ยว เนื่องจากคาดว่าหลังผ่อนปรนมาตรการแล้วจำนวนผู้โดยสารจะเพิ่มจากวันละ 4 แสนคน เป็นวันละ 1 ล้านคน

ส่วนการใช้แอปพลิเคชั่น”ไทยชนะ”นั้นไม่ได้คาดหวังว่าจะได้ผล 100% เนื่องจากมีอุปสรรคบางประการ เช่น ผู้โดยสารไม่มีโทรศัพท์ ผู้โดยสารเป็นผู้สูงอายุ แต่กรณีดังกล่าวจะมีพนักงานประจำรถคอยประชาสัมพันธ์และให้คำแนะนำ

นายกฤษ พัฒนสาร รักษาการผู้อำนวยการฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ ดำเนินตามมาตรการที่ภาครัฐกำหนดไว้ และได้ลงทุนนำระบบเทคโนโลยีมาใช้เพื่อทำให้ประชาชนเกิดความมั่นใจในความปลอดภัย ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาถือเป็นการซ้อมใหญ่ให้มีความพร้อมที่จะรองรับการให้บริการในเส้นทางบินในประเทศ ขณะที่ค่าโดยสารปรับขึ้นเล็กน้อยเนื่องจากมีต้นทุนเพิ่มขึ้นในการบริหารจัดการ และรายได้จากการให้บริการแต่ละเที่ยวบินลดลง

ส่วนการให้บริการในเส้นทางต่างประเทศนั้น ตนเองเห็นด้วยกับแนวทางการเปิดประเทศเพื่อการท่องเที่ยวอย่างจำกัด (Travel Bubble) ซึ่งต้องสร้างระบบให้เกิดความไว้วางใจทั้งการเดินทางเข้ามาและเดินทางออกไป อยากให้มีการดำเนินการโดยเร็งแต่คงต้องคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยด้วย

นายสุมิตร ศรีสันติธรรม ผู้อำนวยการใหญ่สายปฏิบัติการ บมจ. ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) กล่าวว่า ในสัปดาห์หน้าจะหารือกับผู้เกี่ยวข้องเรื่องการเว้นระยะห่างในขบวนรถ ซึ่งที่ผ่านมาทำได้เพียงการกักผู้โดยสารไว้ที่ชั้นล่างสถานีต้นทางเมื่อมีจำนวนผู้โดยสารราว 20 คนต่อตู้ แต่เมื่อมาถึงสถานีต่อไปก็มีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มเพราะทุกคนเร่งรีบ ปัญหาน่าจะมาจากมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้น และใช้บริการในช่วงเวลาเดียวกัน

“การเว้นระยะห่างในขบวนรถเป็นเรื่องที่ทำได้ยากมาก แต่ถ้าคิดถึงความปลอดภัยแล้วมีการกำหนดให้ผู้โดยสารทุกสวมหน้ากาก งดการพูดคุย มีเจลแอลกอฮอล์บริการ แต่ละคนใช้บริการไม่นานราว 20 นาที”

นายสุมิตร กล่าว

นายสุมิตร กล่าวว่า บีทีเอสเพิ่มความถี่ของขบวนรถในการให้บริการมากขึ้นตามแนวโน้มผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันมีผู้โดยสาร 4 แสนคน/วัน คาดว่าหลังเปิดเทอมในวันที่ 1 ก.ค.63 จะเพิ่มเป็น 6 แสนคน/วัน

ทพ.กฤษดา เรืองอารีรัชต์ ผู้เชี่ยวชาญภาคประชาสังคม กล่าวว่า ระบบขนส่งสาธารณะจะช่วยเศรษฐกิจในระยะแรกเกิดการหมุนเวียนได้จากการท่องเที่ยวในประเทศ แต่ในระยะต่อไปคงต้องเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เป็นรายได้หลักของประเทศ ดังนั้นระบบขนส่งสาธารณะจะต้องสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน เพราะสถานการณ์แพร่ระบาดยังคงอยู่กับเราต่อไปอย่างน้อยถึงกลางปี 64 ที่วงการแพทย์คาดการณ์ว่าจะสามารถผลิตวัคซีนออกมาใช้งานได้

มาตรการที่ตนเองต้องการนำเสนอ ได้แก่

  1. การทำงานเหลื่อมเวลาอย่างจริงจัง เพื่อกระจายความแออัดก่อนจะถึงกำหนดเปิดเทอมในวันที่ 1 ก.ค.63 จนระบบขนส่งสาธารณะรองรับไม่ได้
  2. การห้ามใช้โทรศัพท์ขณะใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะ
  3. การเดินทางในเส้นทางไกลต้องมีมาตรการรักษาความปลอดภัย และ
  4. ระบบขนส่งสาธารณะต้องมีระบบรายอากาศที่ดี

พญ.ศศิธร ตั้งสวัสดิ์ ผู้อำนวยการกองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า การปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุข 5 ประการเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกฝ่ายต้องดูแลอย่างต่อเนื่อง และในระยะต่อไปกำลังพิจารณาเรื่องการเปิดประเทศเพื่อการท่องเที่ยวอย่างจำกัด (Travel Bubble) เพราะการท่องเที่ยวต้องอาศัยการเดินทาง โดยต้องพิจารณาประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ

“การดูแลเรื่องสาธารณสุขและธุรกิจต้องทำควบคู่กันไป การรับชาวต่างชาติเข้ามาต้องมีความไว้วางใจกันว่า เราต้องเชื่อใจว่าไม่ได้เอาโรคเข้ามา เขาก็ต้องเชื่อใจว่าไม่ติดโรคกลับไป”

พญ.ศศิธร กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 มิ.ย. 63)

Tags: , , , , , , , , ,
Back to Top