นักลงทุนในตลาดการเงินต่างก็จับตาผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งจะมีการแถลงในวันพุธตามเวลาสหรัฐ หรือในช่วงเช้าตรู่ของวันพฤหัสบดีตามเวลาไทย
นักเศรษฐศาสตร์หลายรายคาดว่า เฟดมีแนวโน้มที่จะเปิดเผยแนวทางมากขึ้นในการประชุมครั้งนี้ เพื่อส่งสัญญาณถึงความตั้งใจที่เฟดจะตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ใกล้ระดับ 0% ต่อไปอีก 2-3 ปี เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวจากผลกระทบของโรคโควิด-19
เจย์ เอช. ไบรสัน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของเวลส์ ฟาร์โก ซีเคียวริตีส์ กล่าวว่า “สิ่งหนึ่งที่เราควรพิจารณาในการประชุมเดือนมิ.ย.ของเฟดได้แก่รายงานสรุปคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจ (SEP) โดยเราคาดว่ารายงานสรุปคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจดังกล่าวอาจเป็นการบ่งชี้แนวทางล่วงหน้า ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ผู้กำหนดนโยบายเฟดใช้มาก่อนที่จะเกิดวิกฤตโควิด-19 และเป็นกลไกขั้นต้นที่มีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบาย”
ตามปกติแล้ว เฟดจะเปิดเผย SEP รายไตรมาสจำนวน 4 ครั้งต่อปี ซึ่งจะบ่งชี้ถึงการคาดการณ์ของเจ้าหน้าที่เฟดเกี่ยวกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ, เงินเฟ้อ, การว่างงาน และอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น แต่เฟดไม่ได้เปิดเผย SEP ในเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เจ้าหน้าที่เฟดไม่สามารถคาดการณ์เศรษฐกิจที่น่าเชื่อถือได้
นายไบรสันกล่าวว่า ในการประชุมนโยบายการเงินซึ่งจะเสร็จสิ้นลงในวันที่ 10 มิ.ย.นี้ คาดว่าเฟดจะเปิดเผยรายงาน SEP เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนธ.ค. 2562
นายไบรสันกล่าวว่า “แทนที่เฟดจะให้คำแนะนำแนวทางล่วงหน้าที่ชัดเจน กรรมการเฟดอาจจะส่งสัญญาณว่า อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไม่มีแนวโน้มที่จะปรับตัวขึ้นไปจนถึงอย่างน้อยที่สุดในปี 2565”
ทางด้านโรเบอร์โต เพอร์ลิ อดีตพนักงานเฟด และปัจจุบันเป็นหัวหน้าศูนย์วิจัยนโยบายโลกที่บริษัท Cornerstone Macro คาดว่า รายงาน SEP จะบ่งชี้ว่า เจ้าหน้าที่เฟดไม่ต้องการที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยก่อนปี 2565
ส่วนการประชุมนโยบายการเงินครั้งหลังสุดของเฟดเมื่อวันที่ 28-29 เม.ย.ที่ผ่านมานั้น คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของเฟด มีมติคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 0.00-0.25% และยืนยันว่า เฟดจะยังคงซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐในปริมาณที่มีความจำเป็นต่อไปเพื่อสนับสนุนการทำงานของตลาด หลังจากที่เฟดได้ประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 23 มี.ค.ที่ผ่านมา เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งรวมถึงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) โดยไม่จำกัดวงเงิน และไม่จำกัดเวลา ขณะเดียวกัน เฟดจะยังคงเสนอเงินกู้ข้ามคืนจำนวนมาก และดำเนินการซื้อคืนพันธบัตรเพื่ออัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ตลาดด้วย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 มิ.ย. 63)
Tags: Fed, ธนาคารกลางสหรัฐ, นโยบายการเงิน, พันธบัตรรัฐบาล, อัตราดอกเบี้ย, เจย์ เอช. ไบรสัน, เฟด, เวลส์ ฟาร์โก ซีเคียวริตีส์, โรเบอร์โต เพอร์ลิ