นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย แจ้งว่า ตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. มีการผ่อนคลายการเดินทางข้ามเขตพื้นที่จังหวัด และให้ยานพาหนะ ผู้โดยสาร ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องกับการขนส่งสาธารณะที่เป็นการขนส่งคนหรือสินค้าระหว่างจังหวัดที่เริ่มออกเดินทางจากจังหวัดต้นทาง ก่อนเวลา 23.00 น. และถึงจังหวัดปลายทางหลังเวลา 03.00 น. ของวันรุ่งขึ้น สามารถเดินทางข้ามเขตพื้นที่จังหวัดในช่วงเวลาห้ามออกนอกเคหะสถานได้ เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงตามหลักเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลกและตามผลการประเมินสถานการณ์ของฝ่ายสาธารณะสุข ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าจะมีประชาชนมีความต้องการในการเดินทางมากขึ้น
ดังนั้น เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกการเดินทางของประชาชนที่มีความจำเป็นต้องเดินทางโดยรถไฟ ทั้งการเดินทางภายในเขตเมือง ระหว่างเมือง และทางไกล ข้ามเขตพื้นที่จังหวัด การรถไฟฯ จึงได้ประกาศเปิดเดินขบวนรถโดยสารทางไกล ขบวนรถชานเมือง ขบวนรถธรรมดา และขบวนรถท้องถิ่น (เพิ่มเติม) จำนวน 106 ขบวน เพื่อให้สอดคล้องตามมาตรการผ่อนคลายการเดินทาง ระยะที่ 3 เริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 11 มิถุนายน 2563 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง
สำหรับขบวนรถที่เปิดให้บริการในเส้นทางต่าง ๆ มีดังนี้
1.ขบวนรถโดยสารทางไกล เปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 11 มิถุนายน 2563 เป็นต้นไป จำนวน 20 ขบวน (ไป-กลับ) ดังนี้
1.1 สายเหนือ
ตั้งแต่วันที่ 11 มิถุนายน 2563 (เที่ยวไป) จำนวน 2 ขบวน ประกอบด้วย
- ขบวนรถด่วนพิเศษ(ดีเซลราง) ที่ 7
- ขบวนรถด่วนพิเศษที่ 9 (กรุงเทพ – เชียงใหม่)
ตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายน 2563 (เที่ยวกลับ) จำนวน 2 ขบวน ประกอบด้วย
- ขบวนรถด่วนพิเศษ(ดีเซลราง)ที่ 8
- ขบวนรถด่วนพิเศษที่ 10 (เชียงใหม่ – กรุงเทพ)
1.2 สายตะวันออกเฉียงเหนือ
ตั้งแต่วันที่ 11 มิถุนายน 2563 (เที่ยวไป) จำนวน 2 ขบวน ประกอบด้วย
- ขบวนรถด่วนพิเศษที่ 23 ขบวนรถด่วนพิเศษ(ดีเซลราง)ที่ 71 (กรุงเทพ – อุบลราชธานี)
- ขบวนรถด่วนพิเศษที่ 25 (กรุงเทพ – หนองคาย)
ตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายน 2563 (เที่ยวกลับ) จำนวน 2 ขบวน ประกอบด้วย
- ขบวนรถด่วนพิเศษที่ 24 ขบวนรถด่วนพิเศษ(ดีเซลราง)ที่ 72 (กรุงเทพ – อุบลราชธานี)
- ขบวนรถด่วนพิเศษที่ 26 (หนองคาย – กรุงเทพ)
1.3 สายใต้
ตั้งแต่วันที่ 11 มิถุนายน 2563 (เที่ยวไป) จำนวน 3 ขบวน ประกอบด้วย
- ขบวนรถด่วนพิเศษที่ 31 (กรุงเทพ – ชุมทางหาดใหญ่)
- ขบวนรถด่วนพิเศษที่ 37 (กรุงเทพ – สุไหงโกลก)
- ขบวนรถด่วนพิเศษ(ดีเซลราง)ที่ 43 (กรุงเทพ – สุราษฎร์ธานี) (ขบวนรถที่ 31 และ 37 งดให้บริการรับ – ส่ง ผู้โดยสารที่ชุมพร และสุราษฎร์ธานี เนื่องจากยังอยู่ในช่วงเวลาเคอร์ฟิว)
ตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายน 2563 (เที่ยวกลับ) จำนวน 3 ขบวน ประกอบด้วย
- ขบวนรถด่วนพิเศษที่ 32 (ชุมทางหาดใหญ่ – กรุงเทพ)
- ขบวนรถด่วนพิเศษที่ 38 (สุไหงโกลก – กรุงเทพ)
- ขบวนรถด่วพิเศษ(ดีเซลราง)ที่ 40 (สุราษฎร์ธานี – กรุงเทพ) (ขบวนรถที่ 32 และ 38 งดให้บริการรับ – ส่ง ผู้โดยสารที่ชุมพร และสุราษฎร์ธานี เนื่องจากยังอยู่ในช่วงเวลาเคอร์ฟิว)
สำหรับผู้โดยสารที่ประสงค์จะเดินทางกับขบวนรถโดยสารทางไกล สามารถจองล่วงได้ 30 วัน ก่อนเดินทาง โดยจะเริ่มเปิดจองตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายน 2563 เป็นต้นไป
2.ขบวนรถชานเมือง และขบวนรถธรรมดา และขบวนรถท้องถิ่น ตั้งแต่วันที่ 11 มิถุนายน 2563 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง จำนวน 88 ขบวน (ไป-กลับ) ตามตาราง ดังนี้
2.1 สายเหนือ ขบวนรถชานเมือง และขบวนรถธรรมดาและขบวนรถท้องถิ่น จำนวน 15 ขบวน
2.2 สายตะวันออกเฉียงเหนือ ขบวนรถธรรมดาและขบวนรถท้องถิ่น จำนวน 12 ขบวน
2.3 สายใต้ ขบวนรถธรรมดาและขบวนรถท้องถิ่น จำนวน 18 ขบวน
2.4 สายตะวันออก ขบวนรถธรรมดา จำนวน 15 ขบวน
2.5 สายแม่กลอง – บ้านแหลม ขบวนรถท้องถิ่น จำนวน 6 ขบวน
2.6 สายวงเวียนใหญ่ – มหาชัย ขบวนรถธรรมดา จำนวน 22 ขบวน
นอกจากนี้ ได้ขยายระยะเวลาให้บริการขบวนรถโดยสารพิเศษ ที่ 9051/9052 (กรุงเทพ – เชียงใหม่ – กรุงเทพ) ขบวนรถโดยสารพิเศษ ที่ 9071/9072 (กรุงเทพ – อุบลราชธานี – กรุงเทพ) และขบวนรถโดยสารพิเศษ ที่ 9075/9076 (กรุงเทพ – หนองคาย – กรุงเทพ) ขยายเวลาให้บริการเพิ่มอีก 30 วัน (ตั้งแต่วันที่ 17 มิถุนายน – 17 กรกฎาคม 2563) เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนเพิ่มเติม
นายนิรุฒ กล่าวต่อว่า ในด้านมาตรการป้องกันความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) ได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคมอย่างเคร่งครัด โดยให้พนักงานด้านปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องจะต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า และถุงมือยางและ Face shield ตลอดเวลาที่ให้บริการ การตรวจคัดกรองผู้โดยสารอย่างเข้มข้น การจัดให้มีแอลกอฮอล์เจลบริการอย่างเพียงพอและทั่วถึง ทั้งบริเวณสถานีและบนขบวนรถ การรักษาระยะห่าง Social Distancing ให้มีจุดยืน/นั่งให้ชัดเจน ทั้งที่สถานีและขบวนรถ
โดยจำกัดการจำหน่ายตั๋วโดยสารไว้ที่ร้อยละ 50 ของจำนวนที่นั่งทั้งหมด เมื่อจำหน่ายเต็มตามที่ระบุแล้ว จะไม่จำหน่ายตั๋วอีกรวมทั้งตั๋วไม่มีที่นั่ง (ตั๋วยืน) และการงดจำหน่ายอาหารบนขบวนรถ หากผู้โดยสารที่เดินทางไกลเกินกว่า 3 ชั่วโมง ให้เตรียมอาหารไปรับประทานเอง และจะดำเนินการติดตั้ง แอปพลิเคชั่น (application) “ไทยชนะ” ที่สถานีและบนขบวนรถ (เป็นรายตู้/โบกี้) เพื่อใช้ควบคุมการเข้าออกของผู้โดยสารที่มาใช้บริการผ่าน Check-in และ Check-out จากแอปพลิเคชั่นดังกล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 มิ.ย. 63)
Tags: นิรุฒ มณีพันธ์, รถไฟ, รถไฟไทย, รฟท., เปิดเดินรถ