พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ รองเลขาธิการ คณะกรรมการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานจัดทำหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้มีการใช้สิทธิ์ในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในการจัดชุด (Package)
คาดว่า กสทช.ตั้งเป้าที่จะจัดการประมูลสิทธิการใช้วงโคจรดาวเทียมในปลายปีนี้ โดยภายในเดือนส.ค.นี้จะทำ Public Hearing เป็นเวลา 30 วัน และจะเสนอรูปแบบการประมูลให้คณะ กสทช.พิจารณาในเดือน ต.ค.เพื่ออนุมัติแล้วลงราชกิจจานุเบกษา จากนั้นจะจัดประมูลได้ภายในไตรมาส 4/63
“การนำสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมมาประมูลตามที่สำนักงาน กสทช. เสนอถ้าเปรียบกับการประมูลคลื่นความถี่ ก็เปรียบเสมือนการประมูลแบบ Multiband หรือการประมูลแบบหลายคลื่นความถี่พร้อมกัน”
พล.อ.ท.ธนพันธุ์ กล่าว
ทั้งนี้ หลังจากที่ กสทช.ได้อนุมัติแผนการบริหารสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม และ หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม เมื่อวันที่ 18 ก.พ.63 แล้ว สำนักงาน กสทช.จึงได้นำสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม หรือที่เรียกว่าเอกสารข่ายงานดาวเทียม (Satellite Network Filing) ทั้งหมดที่ประเทศไทยมีอยู่อันเป็นสมบัติของชาติตามที่แผนบริหารสิทธิฯ กำหนด มาจัดเป็นชุด (Package) ตามวงโคจร (Slot) ทั้งหมด 4 ชุด เพื่อนำมาจัดสรร
โดยสำนักงานฯ ได้เสนอแนวทางในการคัดเลือก โดยใช้วิธีการประมูล (Auction) หรือวิธีคัดเลือก (Beauty Contest) หรือวิธีอื่นใด เนื่องจากการจัดสรรสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมกฎหมายไม่ได้บังคับไว้ว่าจะต้องดำเนินการด้วยการประมูลเพียงวิธีเดียว โดยมีเป้าหมายที่จะให้เกิดการคัดเลือกผู้ได้รับอนุญาตใช้สิทธิวงโคจรดาวเทียมอย่างเสรีและเป็นธรรมครั้งแรกของประเทศไทยในปลายปีนี้
สำหรับสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมที่นำมาจัดสรร สำนักงานฯ จัดแบ่งโดยยึดถือผลประโยชน์ของชาติเป็นสำคัญ โดยเบื้องต้นจัดแบ่งเป็น 4 ชุด (หรือ 4 Package) ดังนี้
- ชุดที่ 1 ประกอบด้วย วงโคจร 50.5E (ข่ายงาน C1 และ N1) และ วงโคจร 51E (ข่ายงาน 51)
- ชุดที่ 2 ประกอบด้วย วงโคจร 78.5E (ข่ายงาน A2B และ LSX2R)
- ชุดที่ 3 ประกอบด้วย วงโคจร 119.5E (ข่ายงาน IP1, P3 และ LSX3R) และ วงโคจร 120E (ข่ายงาน G2K และ 120E)
- ชุดที่ 4 ประกอบด้วย วงโคจร 126E (ข่ายงาน 126E) และ วงโคจร 142E (ข่ายงาน G3K และ N5)
ทั้งนี้ ข่ายงาน หรือ Network Filing ทั้งหมดเป็นข่ายงานที่ไม่อยู่ภายใต้สัญญาสัมปทาน ยกเว้น A2B ซึ่งอยู่ภายใต้ดาวเทียมไทยคม 5 ซึ่งหมดอายุก่อนหมดสัญญาสัมปทานในวันที่ 11 ก.ย. 2564 และ IP1 ของ ไทยคม 4 ซึ่งจะมีอายุทางวิศวกรรมถึงปีพ.ศ. 2566 ที่ถือว่าเป็นการจัดสรรล่วงหน้าในลักษณะหลายชุดพร้อมกัน เนื่องจากการสร้างดาวเทียมต้องวางแผนล่วงหน้าอย่างน้อย 2-3 ปี
“ผมเชื่อว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่สำหรับกิจการดาวเทียมไทยที่จะเปลี่ยนจากระบบสัมปทานมาสู่ระบบใบอนุญาตอย่างเป็นรูปธรรม และเป็นการแก้ไขปัญหาการเกิดสุญญากาศของดาวเทียมไทยนับตั้งแต่ปี พ.ศ.2559 หลังดาวเทียมไทยคม 8 ที่ทั้งผู้ประกอบการรายเดิมและรายใหม่ไม่สามารถสร้างและนำดาวเทียมไทยขึ้นสู่วงโคจรได้ ซึ่งท่านประธาน กสทช. มีความประสงค์จะให้ประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตนี้แล้วเสร็จโดยเร็วตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ในปีนี้ จะทำให้ผู้ประกอบการสามารถเดินหน้าต่อยอดกิจการดาวเทียมไทยให้มีความเจริญก้าวหน้าต่อไปได้อย่างโปร่งใสและเป็นธรรม”
พล.อ.ท.ธนพันธุ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการรายเก่าและรายใหม่ยังไม่เห็นด้วยกับการคัดเลือกโดยวิธีประมูล โดยเห็นว่าควรจะใช้วิธีอื่นที่จะทำให้กิจการดาวเทียมไทยสามารถแข่งขันกับนานาชาติได้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 มิ.ย. 63)
Tags: กสทช., ดาวเทียม, ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ, ประมูลวงโคจรดาวเทียม, วงโคจรดาวเทียม, โทรคมนาคม