โบรเกอร์ต่างประสานเสียงแนะนำ”ซื้อ”หุ้น บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) คาดธุรกิจเดินรถ, สื่อโฆษณาผ่านจุดต่ำสุดในไตรมาส 2/63 ของปีปฏิทิน และเชื่อไตรมาส 3-4 เริ่มฟื้นตัวหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย และมีธุรกิจบริหารการเดินรถ, งานก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสีเหลือง รวมทั้งธุรกิจ KERRY ได้รับผลดีจากโควิด
นอกจากนี้ BTS ยังใกล้เซ็นสัญญางานโครงการใหญ่ ได้แก่ โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออก และ โครงการงาน O&M มอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) และสายบางใหญ่–กาญจนบุรี (M81) โดยมีกำหนดลงนามสัญญาในเดือนมิ.ย.-ก.ค.นี้ ส่งผลให้มูลค่าหุ้นเพิ่มขึ้น 1 บาท/หุ้น
ขณะที่ BTS ยังมีแผนเข้าชิงงานโครงการใหม่ ได้แก่ โครงการเดินรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี มูลค่า 1.4 แสนล้านบาท ที่เตรียมเปิดทีโออาร์ในเดือน ก.ค.นี้ ซึ่ง BTS และกลุ่ม BSR มีโอกาสชนะงาน
อย่างไรก็ตาม กำไรสุทธิปี 63/64 (เม.ย.63-มี.ค.64) อาจอ่อนแอลงเพราะรับผลกระทบโควิด โดยคาดลดลงมาที่ 3,300-4,500 ล้านบาท แต่จะกลับมาเติบโตในปี 64/65 (เม.ย.64-มี.ค.65) คาดมีกำไรสุทธิ 3,550-5,700 ล้านบาท
พักเที่ยง ราคาหุ้น BTS อยู่ที่ 12.10 บาท เพิ่มขึ้น 0.10 บาท หรือ 0.83% ขณะที่ดัชนีหุ้นไทย เพิ่มขึ้น 0.81%
โบรกเกอร์ | คำแนะนำ | ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น) |
ไทยพาณิชย์ | ซื้อ | 14.30 |
เคจีไอฯ | Outperform | 13.50 |
ทิสโก้ | ซื้อ | 13.00 |
ดีบีเอส วิคเคอร์สฯ | ซื้อ | 12.80 |
นายสมบัติ เอกวรรณพัฒนา ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) กล่าวว่า ธุรกิจในปี 63/64 (เม.ย.63-มี.ค.64) มีทั้งดีและไม่ดี โดยธุรกิจที่ได้รับผลกระทบสถานการณ์โควิด-19 ได้แก่ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางราง บีทีเอสโกรท (BTSGIF) ซึ่ง BTS ถือหุ้น 1 ใน 3 ซึ่งจำนวนผู้โดยสารลดลงในช่วงโควิด , บมจ.ยู ซิตี้ (U) ที่มีกิจการโรงแรมในยุโรปต้องหยุดให้บริการในช่วงโควิด และบมจ.วีจีไอ (VGI) ได้รับผลกระทบจากโควิดเช่นกัน
แต่ธุรกิจที่ยังเติบโตได้ดี ได้แก่ การบริหารเดินรถโดยรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือที่ได้เพิ่มการเดินรถ 4 สถานีถึงสถานีวัดพระศรีมหาธาตุ และภายในปลายปีนี้จะวิ่งยาวถึงสถานีคูคต ซึ่งรายได้จากการบริหารการเดินรถไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด ขณะที่กิจการส่งพัสดุของ KERRY เติบโตสูงในช่วงเกิดโควิดระบาดมีการใช้บริการรับส่งพัสดุมาก และรายได้ก่อสร้างและจัดหารถ (E&M) ของรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลืองก็เข้ามาต่อเนื่อง
นอกจากนี้ BTS จะมีโครงการขนาดใหญ่ทยอยเซ็นสัญญา ได้แก่ โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออก กับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) คาดจะลงนามราว 19 มิ.ย.นี้ และโครงการร่วมลงทุนในการดำเนินงานและบำรุงรักษา(Operation and Maintenance: O&M)มอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมา(M6)และสายบางใหญ่–กาญจนบุรี(M81) คาดจะมีการลงนามในเดือน ก.ค.นี้
“ปีนี้มีทั้งธุรกิจดีและไม่ดี แต่ภาพรวมสถานการณ์โควิดดีขึ้นหลังมีผู้ติดเชื้อลดลง สถานการณ์ค่อย ๆ คลี่คลาย และภาพรวมการเดินรถไฟฟ้าบีทีเอส ก็จะกลับมาจากพื้นฐานแข็งแกร่ง”
นายสมบัติ กล่าว
นายสมบัติ กล่าวอีกว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ซึ่งน่าจะเป็นเมกะโปรเจ็คต์เดียวที่เตรียมออกเอกสารเชิญชวนประมูล (ทีโออาร์) ในเดือน ก.ค.นี้ ซึ่งคาดว่า BTS จะร่วมทุนกลุ่มเดิม BSR ที่มี BTS,บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น (STEC) และบมจ.ราช กรุ๊ป (RATCH) เพื่อเข้าร่วมประมูลครั้งนี้
ทั้งนี้ ยังคงแนะนำ”ซื้อ” BTS เป้าหมาย 12.80 บาท โดยประมาณการกำไรสุทธิในปี 63/64 จะลดลง 13% มาที่ 3,300 ล้านบาท และในปี 64/65 กำไรสุทธิจะเพิ่มขึ้น 8% มาที่ 3,550 ล้านบาท ขณะที่กำไรสุทธิในปี 62/63 จะสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ที่ 8,162 ล้านบาท โต 183% จากปีก่อนหน้า
ด้านนายปริญทร์ กิจจาทรพิทักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) คาดว่าผลประกอบการของ BTS จะผ่านจุดต่ำสุดในไตรมาส 2 ของปีปฏิทินนี้ (เม.ย.-มิ.ย.63) โดยจำนวนผู้โดยสารลดลงต่ำสุดในเดือน เม.ย.เช่นเดียวกับรายได้จาก VGI ที่รับผลกระทบโควิด ส่วนรายได้ธุรกิจอื่นทรงตัว
ทั้งนี้ คาดว่าในไตรมาส 3-4 จะเห็นการฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น หากไม่มีการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รอบที่ 2 ขณะที่การบริหารการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือเดินรถเพิ่ม 4 สถานี และ ในปลายปีนี้จะเปิดเดินรถทั้งเส้น ทำให้รายได้เพิ่มเข้ามา แม้ไม่ได้เป็นก้อนใหญ่ก็ตาม
ส่วนประเด็นที่ต้องติดตามการเข้าร่วมประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่เป็นความหวังกับกลุ่ม BTS ซึ่งหลายปีที่ผ่านมากลุ่ม BTS ชนะการประมูลงานได้มาก
นายปริญทร์ แนะนำ”ซื้อ” หุ้น BTS ให้เป้าหมาย 13.50 บาท โดยคาดว่าปี 63/64 จะมีกำไรปกติ 4.5 พันล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อนที่มีกำไรก่อนรายการพิเศษ 4.7 พันล้านบาท เพราะรับผลกระทบโควิด แต่ในปี 64/65 คาดจะกลับมาเติบโตเป็น 5.7 พันล้านบาท
ด้านบทวิเคราะห์ บล.ไทยพาณิชย์ คงคำแนะนำ “ซื้อ” สำหรับ BTS ให้ราคาเป้าหมายอ้างอิงวิธี SOTP ที่ 14.3 บาท แม้ผลประกอบการอ่อนแอ แต่ยังคงมุมมองเชิงบวกต่อ BTS เนื่องจาก ผลประกอบการที่อ่อนแอ หลักๆ เกิดจากผลการดำเนินงานของ U ซึ่งกำไรมีความผันผวนสูง และมีมูลค่าน้อยมากใน valuation ของ BTS (0.1 บาท/หุ้น ในราคาเป้าหมาย) ,ผลกระทบจากจำนวนผู้โดยสารลดลงมีจำกัด
ขณะที่ยังมีปัจจัยกระตุ้นราคาหุ้น BTS หลายอย่างรออยู่ข้างหน้า ได้แก่ การต่อสัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว การเซ็นสัญญาโครงการมอเตอร์เวย์ 2 สาย และสนามบินอู่ตะเภา โดยคาดว่า 2 โครงการจะเซ็นสัญญาในเดือน มิ.ย. คาดว่าจะช่วยหนุนให้มูลค่าของ BTS ปรับขึ้นได้อีกประมาณ 1 บาท/หุ้น นอกจากนี้ BTS ยังประกาศจ่ายเงินปันผล 0.15 บาท/หุ้น ด้วย ขึ้นเครื่องหมาย XD วันที่ 29 ก.ค.
ส่วนการประกาศเพิ่มทุนแบบมอบอำนาจทั่วไปของ BTS โดยจะออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 1,100 ล้านหุ้นนั้น เห็นว่านักลงทุนว่าไม่ควรตื่นตกใจเกี่ยวกับข่าวนี้มากเกินไป เนื่องจากไม่ได้หมายความว่า BTS จะต้องเพิ่มทุนแน่นอน เพียงแต่เป็นการขออนุมัติจำนวนหุ้นและประเภทการจัดสรรจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นไว้ล่วงหน้า โดยเชื่อว่าเหตุผลที่ BTS ประกาศเพิ่มทุนจดทะเบียนแบบมอบอำนาจทั่วไปเพื่อให้มีทางเลือกในการระดมทุน ทั้งนี้ ปีที่ผ่านมา BTS ก็ประกาศเพิ่มทุนจดทะเบียนในรูปแบบดังกล่าว ซึ่งก็ไม่ได้ดำเนินการแต่อย่างใด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 มิ.ย. 63)
Tags: BTS, Consensus, บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์, ปริญทร์ กิจจาทรพิทักษ์, ผลประกอบการ, รถไฟฟ้า, สมบัติ เอกวรรณพัฒนา