ปัญหาขาดสภาพคล่องหมุนเวียนในกิจการ นับเป็นหนึ่งปัญหาหลักที่ภาคธุรกิจต้องเผชิญกันอย่างหนักในยุควิกฤติโควิด-19 แม้ว่ารัฐบาลจะออกมาตรการเยียวยาปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) แต่กลับเข้าไม่ถึงกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กอย่าง “สตาร์ทอัพ” เพราะมีเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคอยู่หลายด้านต่อการพิจารณาขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน ส่งผลให้ธุรกิจสตาร์ทอัพหลายรายต้องปิดกิจการ ปลดพนักงานหรือลดเงินเดือน และผลกระทบต่อการผิดนัดชำระหนี้
ประเด็นดังกล่าวสะท้อนผ่านมุมมอง นายกิตตินันท์ อนุพันธ์ CEO บริษัท Anywhere to go และผู้ก่อตั้ง Application Claim Di ตัวแทนกลุ่ม Tech Startup ที่อยู่ระดับ Series A เปิดเผยกับ “อินโฟเควสท์”ว่า ทุกวันนี้สตาร์ทอัพหลายรายได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 อย่างมาก ด้วยโครงสร้างธุรกิจที่ต้องการสร้าง S-curve ทำให้บริษัทยังไม่มีกำไร เมื่อโควิด-19 เข้ามากระทบรวดเร็วจนธุรกิจต้องหยุดชะงัก โดยเฉพาะสตาร์ทอัพที่พึ่งพาการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบเป็นคลื่นระลอกแรก หลายรายถึงขั้นต้องปิดกิจการ
แม้ว่าล่าสุดทางกลุ่มสมาคม Fintech Startup ,Thai Tech Startup และผู้ประกอบการด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาลให้ช่วยออกมาตราการเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากวิกฤติโควิด-19 แต่ยังไม่ได้รับการตอบรับ แม้ว่ารัฐบาลจะออกมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ แต่กลับไม่มีประสิทธิภาพมากนัก เพราะสตาร์ทอัพส่วนใหญ่ไม่มีสินทรัพย์ที่จะนำไปค้ำประกัน ขณะเดียวกันเงื่อนไขที่ให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) มาช่วยค้ำประกันก็ไม่สามารถทำได้ เพราะสตาร์ทอัพมีผลประกอบการขาดทุน ยกตัวอย่าง Claim Di มีทุนจดทะเบียน 2.6 ล้านบาท มีมูลค่าบริษัทมากกว่า 10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่บริษัทยังมีผลประกอบการขาดทุน
ดังนั้น โดยความเห็นส่วนตัวอยากให้รัฐบาลทบทวนมาตรการ Soft Loan โดยแยกกันระหว่างผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ เพราะไม่ควรใช้เงื่อนไขเดียวกันได้
“ส่วนตัวมองว่าคนกลางที่จะมาพิจารณา Soft Loan ก็ไม่ควรเป็นธนาคาร ต้องกำหนดเงื่อนไขช่วยเหลือที่แตกต่างกับเอสเอ็มอี เช่น นำข้อมูลการระดมทุนย้อนหลังมาพิจารณา ยกตัวอย่างสตาร์ทอัพรายนั้นได้รับเงินระดมทุนมาแล้ว 2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ รัฐบาลอาจพิจารณาสนับสนุน Soft Loan ช่วยเหลือแค่ 10% เชื่อว่าบริษัทนั้นก็รอดแล้ว
การระดมทุนที่ผ่านมานับเป็นสิ่งสะท้อนความน่าเชื่อถือ หรือในกรณีที่สตาร์ทอัพรายนั้นต้องการกระแสเงินสดเพิ่มเติม อาจใช้วิธีระดมทุนกับกลุ่มผู้ลงทุนอื่นแล้วค่อยเป็นจากหนี้เป็นทุนเพื่อถือหุ้นในสตาร์ทอัพรายนั้นก็ได้เช่นกัน”นายกิตตินันท์ กล่าว
นายกิตตินันท์ กล่าวต่อว่า สิ่งที่สตาร์ทอัพต้องการยามที่เกิดวิกฤติ คือ กระแสเงินสด เพื่อนำมาหมุนเวียนในกิจการ ส่วนหนึ่งนำมาจ่ายเงินเดือนให้กับพนักงานที่มีความสามารถ เพราะโดยความตั้งใจของสตาร์ทอัพทุกรายเชื่อว่าไม่ต้องการสูญเสียพนักงาน ในกรณีที่สตาร์ทอัพรายนั้นยังไม่เคยระดมทุนมาก่อนอาจใช้มาตรการช่วยเหลือเงินสนับสนุน หรือลดภาระค่าใช้จ่ายเงินเดือนพนักงานในระยะสั้นๆเพียงอย่างเดียวก็ได้
“ผมคิดว่าตัวกลางที่ไม่ใช่ธนาคาร แต่ควรใช้หน่วยงานของภาครัฐที่ดูแลกลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพ เช่น สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ,สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ,สมาคม Fintech Startup ,สมาคม Thai Tech Startup ,สมาคม Investor VC และมีกองทุน 500 TukTuks ,กองทุนกรุงไทย เวนเจอร์ ,กองทุน InnoSpace ถ้าเป็นไปได้รัฐบาลช่วยเหลือ 50% และกองทุนเข้ามาลงทุนอีก 50% เป็นลักษณะ Co-Invest หรือเป็น Co-Soft Loan เพื่อช่วยให้สตาร์ทอัพข้ามผ่านพ้นวิกฤติครั้งนี้ไปได้ แต่ความยากคือจะทำอย่างไรให้รัฐบาลเข้าใจ”คุณกิตตินันท์ กล่าว
“วันนี้รัฐบาลยังไม่ให้ได้ความสนใจสตาร์ทอัพ เพราะไม่ได้มีผลอะไรมากกับระบบเศรษฐกิจ แต่สถานการณ์ในวันนี้เรากำลังปล่อยให้แพลตฟอร์มต่างชาติเข้ามาเติบโตในไทยอย่างรวดเร็ว กลายเป็นผู้ประกอบการไทยไม่สามารถเข้าไปแข่งขันได้ และคิดส่วนแบ่งกำไรแพงๆกับคนไทย แถมไม่เสียภาษีด้วย”
คุณกิตตินันท์ กล่าว
สำหรับแพลตฟอร์มของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) หรือกระดานที่ 3 สำหรับเป็นแหล่งให้กับผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ หรือ เอสเอ็มอี เข้ามาระดมทุน แม้ว่าจะมองเป็นแพลตฟอร์มที่ดีช่วยเหลือผู้ประกอบการคนไทย แต่วันนี้ยังไม่มีหน่วยงานตัดสินใจดำเนินการในเรื่องนี้และผู้ลงทุนอาจยังไม่มีความเข้าใจในการลงทุนในกิจการสตาร์ทอัพ ดังนั้นอยากแนะนำให้การทดลองในกลุ่มเล็กๆ ก่อน หากประสบความสำเร็จจึงค่อยขยายเป็นวงกว้างต่อไป
“ผมว่าวันนี้ที่ไทยยังไม่มี ยูนิคอร์น เพราะรัฐบาลมุ่งเป้าไปสนับสนุน early stage มุ่งเน้นจำนวนมาก เพราะตามสถิติสตาร์ทอัพตายมากกว่า 95% เพื่อให้เหลือผู้ที่อยู่รอด แต่สตาร์ทอัพอีก 5% ที่รอดมาก็ไปต่อไม่ได้เช่นกัน อยากให้รัฐบาลเข้าใจว่า Ecosystem ของสตาร์ทอัพมีโอกาสไปต่อได้ประเทศไทยต้องมียูนิคอร์นก่อนจะมีนักลงทุนและสตาร์ทอัพอีกมากไหลเข้ามาเอง”นายกิตตินันท์ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 มิ.ย. 63)
Tags: Claim Di, Soft Loan, กิตตินันท์ อนุพันธ์, ซอฟต์โลน, มาเร็ว เคลมเร็ว, สตาร์ทอัพ