ไทยพบผู้ติดเชื้อโควิดใหม่ 7 ราย เดินทางกลับจาก ตปท.

  • ศบค.สรุปยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในไทย วันนี้ (11.30 น.)
  • ผู้ติดเชื้อสะสม 3,119 คน (+7)
    • เป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ = 0 ราย
    • เป็นผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศกักตัวในสถานกักกันที่รัฐจัดให้ (State Quarantine) = 7 ราย
  • รักษาหายแล้ว 2,973 คน (+1)
  • ผู้ป่วยรักษาอยู่โรงพยาบาล 88 คน (+6)
  • เสียชีวิตสะสม 58 คน (+0)

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรายใหม่ 7 ราย จาก State Quarantine ซึ่งเป็นผู้ที่เดินทางกลับจาก 3 ประเทศ ปากีสถาน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และ สหรัฐอเมริกา

สำหรับผู้ป่วยยืนยันสะสมล่าสุดอยู่ที่ 3,119 ราย รักษาหายเพิ่มขึ้น 1 ราย จำนวนผู้ป่วยรักษาหายแล้วรวม 2,973 ราย และยังมีผู้ป่วยรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 88 ราย ขณะที่ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 58 ราย

ผู้ป่วยรายใหม่ เป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้า State Quarantine โดยมาจากปากีสถาน 2 รายเป็นนักศึกษาชายไทย อายุ 28 ปี เข้าพัก State Quarantine ในกทม. ตรวจพบเชื้อครั้งที่ 1 วันที่ 6 มิ.ย.

อีก 4 ราย เดินทางกลับจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นหญิงไทย 3 ราย อาชีพพนักงานนวด อายุ 39-43 ปี และ นักเรียนชายไทย อายุ 11 ปี เข้าพัก State Quarantine ในกทม. ตรวจพบเชื้อครั้งแรกวันที่ 5 มิ.ย. ทุกรายไม่มีอาการ

และอีก 1 รายเดินทางกลับจากสหรัฐฯ เป็นหญิงไทย อายุ 37 ปี เข้าพัก State Quarantine ใน กทม. ตรวจพบเชื้อครั้งที่ 1 วันที่ 4 มิ.ย. ไม่มีอาการป่วย

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยพบผู้ป่วยในสถานกักกันโรคฯ สะสมตั้งแต่ก.พ.-8 มิ.ย.จำนวน 182 ราย เข้าพักใน 9 จังหวัด คือ 1.สงขลา 25 ราย 2.สตูล 18 ราย 3.กรุงเทพฯ 50 ราย 4.ปัตตานี 14 ราย 5.ยะลา 9 ราย 6.ชลบุรี 29 ราย 7.นราธิวาส 9 ราย 8.กระบี่ 3 ราย และ 9.สมุทรปราการ 25 ราย

โดยเดินทางกลับมาจากต่างประเทศ 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.ประเทศคูเวต 174 ราย พบติดเชื้อ 34 ราย 2.ประเทศซาอุดีอาระเบีย 79 ราย พบติดเชื้อ 12 ราย 3.ประเทศอินโดนีเชีย 451 ราย พบติดเชื้อ 65 ราย 4.ประเทศปากีสถาน 196 ราย พบติดเชื้อ 14 ราย และ 5.ประเทศกาตาร์ 216 ราย

สำหรับปัจจัยเสี่ยง 5 อันดับแรกใน 5 สัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่า 1.เป็นผู้เดินทางกลับมาจากต่างประเทศในแต่ละสัปดาห์ 2.สัมผัสผู้ป่วยรายก่อนหน้านี้ 3.ไปสถานที่ชุมชน ตลาดนัด 4.อาชีพเสี่ยง เช่น ทำงานในสถานที่แออัด 5.การค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก/ผู้ติดเชื้อในชุมชน

ด้านจำนวนผู้ป่วยยืนยัน 2 สัปดาห์ล่าสุด มีปัจจัยเสี่ยงมาจากการเดินทางกลับมาจากต่างประเทศและเข้าสถานที่กักกันของรัฐ 77 ราย ส่วนจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสม ปัจจัยเสี่ยงอันดับ 1 มาจากสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้ 1,191 ราย อาชีพเสี่ยงทำงานในสถานที่แออัด 284 ราย สนามมวย 274 ราย คนไทยเดินทางกลับจากต่างประเทศ 269 ราย และไปสถานบันเทิง 227 ราย

“ข้อมูลเหล่านี้เอาไว้เตือนใจเวลาเปิดเมือง ตอนนี้เราผ่อนคลายระยะนี้จะจบระยะที่ 3 เข้าสู่ระยะที่ 4 สัปดาห์นี้เรายังต้องลุ้นอีก 1 สัปดาห์ ถ้าปลายสัปดาห์นี้เรียบร้อยดีก็จะเข้าสู่ระยะที่ 4 อย่างที่ขอกัน เราก็จะได้อิสระได้พื้นที่ที่มากขึ้น แต่ว่าทุกคนต้องช่วยกัน”

นพ.ทวีศิลป์กล่าว

ด้านการตรวจสะสมรวมตั้งแต่เริ่มเปิดบริการ- 5 มิ.ย.63 มีอยู่ 468,175 ตัวอย่าง เป็นการตรวจร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนมากที่สุด

สำหรับแผนการนำคนไทยกลับจากต่างประเทศวันนี้ (8 มิ.ย.) จะมีมา 3 เที่ยวบิน จากโอมาน 214 คน ไต้หวัน 99 คน และสหรัฐอเมริกา 191 คน

  • วันที่ 9 มิ.ย. จะมีมา 5 เที่ยวบิน จากอียิปต์ 220 คน ภูฏาน 1 คน ญี่ปุ่น 124 คน เกาหลีใต้ 116 คน และจีน 37 คน
  • วันที่ 10 มิ.ย. มี 4 เที่ยวบิน จาก สหรัฐอเมริกา (ผ่านเกาหลีใต้), รัสเซีย (มอสโก), เนเธอร์แลนด์ (อัมสเตอร์ดัม) และฮ่องกง
  • วันที่ 11 มิ.ย. มี 2 เที่ยวบิน จากอินโดนีเซีย (จาการ์ตา) และไต้หวัน
  • วันที่ 12 มิ.ย. มี 3 เที่ยวบิน จากซาอุดิอาระเบีย (เจดดาห์), ฟิลิปปินส์ (มะนิลา) และสิงคโปร์
  • วันที่ 13 มิ.ย. มี 3 เที่ยวบิน จากอินเดีย (คยา),สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ดูไบ) และเกาหลีใต้ (โซล)
  • วันที่ 14 มิ.ย. มี 2 เที่ยวบิน จากออสเตรเลีย (ซิดนีย์) และเนเธอร์แลนด์ (อัมสเตอร์ดัม)
  • วันที่ 15 มิ.ย. มี 2 เที่ยวบิน มาจากสหราชอาณาจักร (ลอนดอน) และอินเดีย (นิวเดลี)

สำหรับภาพรวมการใช้งานแพลตฟอร์มไทยชนะ และ เวปไทยชนะ พบว่า จำนวนผู้ใช้งาน 23,516,649 คน จำนวนการดาวน์โหลตแอปไทยชนะ 220,647 คน

“ฝากช่วยกันดาวน์โหลตเพราะว่าสำคัญเพราะเรากลังจะเข้าสู่ระยะที่ 4 กิจการ/กิจกรรมที่จะเกิดขึ้นในระยะที่ 4 มีมากกว่านี้ จะมีมาพร้อมความเสี่ยงสูง ประชาชนจะใช้บริการมากขึ้น จะมีความเสี่ยงมากขึ้น จะสามารถติดเชื้อกันได้มากขึ้นจากกิจกรรมเหล่านี้ เพราะฉะนั้นต้องติดตามได้เพื่อความรวดเร็วในการจัดการ เช่นเคสสถานบันเทิงเกาหลีใต้ที่ติดเชื้อกันไปหลายร้อยกว่าจะตามเจอใช้เวลานานมาก ทำให้กลุ่มก้อนนี้ใหญ่จาก 2 หลักเป็น 3 หลัก และก็ต้องใช้เวลาและทรัพยากรมากในการติดตามเคสต่างๆ แต่ถ้าเราเตรียมไว้อย่างดีจะทำให้สบายใจได้ที่จะควบคุมการกระจายเชื้อไม่ให้แพร่ออกไปมาก…จึงต้องเน้นย้ำในการใช้แพลตฟอร์มไทยชนะทั้งเวปและแอป”นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวถึงการปรับเปลี่ยนรูปแบบการแถลงข่าวของ ศบค.ว่า ผู้อำนวยการ ศบค.ได้ให้นโยบายว่าขณะนี้เราอยู่ในช่วงการผ่อนคลายมาตรการระยะที่ 3 ประกอบกับสถานการณ์ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศดีขึ้น และประชาชนก็รับทราบข้อมูลการดูแลสุขภาพส่วนตัวได้ดี ฉะนั้นจะมีการปรับการแถลงข่าวให้มีการแถลงที่ทำเนียบรัฐบาลเฉพาะในวันจันทร์ พุธ ศุกร์ สำหรับอังคารและวันพฤหัสบดี มอบให้ พญ.พรรณประภา ยงค์ตระกูล ผู้ช่วยโฆษก ศบค.ไปรายงานที่กระทรวงสาธารณสุข ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์จะดูตามสถานการณ์ หากไม่มีความเร่งด่วนก็สามารถว่างเว้นไปได้ แต่ต้องนำเสนอข้อมูลผ่านเว็บไซต์และเฟซบุ๊ก ไทยคู่ฟ้า และเฟซบุ๊ก ของ ศบค

“ส่วนตัวไม่ได้ไปไหน เพราะยังต้องเข้าประชุมทุกวันเพื่อเก็บรายละเอียดและเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่การผ่อนคลายมาตรการระยะที่ 4 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกิจการและกิจกรรมที่เป็นสีแดง หรือมีความเสี่ยงสูงว่ามีความพร้อมมากแค่ไหน หากจะเปิดให้ประชาชนใช้บริการ ต้องมีมาตรการหลัก มาตรการเสริม มีคู่มือ ข้อปฏิบัติเพื่อให้มั่นใจว่าการเข้าสู่มาตรการผ่อนคลายระยที่ 4 นี้ปลอดภัยทั้งประเทศ และรวมถึงสู่ระยะเปลี่ยนผ่าน อาจจะต้องมีการเดินทางระหว่างจังหวัดภายในประเทศกันอย่างเสรี แหล่งท่องเที่ยวต่างๆต้องจัดระเบียบกันอย่างไร ซึ่งถือเป็น New Normal ที่ได้มากกว่าการป้องกันโรค”นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

ด้านนพ.อนุพงศ์ สุจริยากุล ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ขณะนี้จะปลอดการติดเชื้อในประเทศต่อเนื่อง 14 วันแล้ว แต่ยังไม่อาจวางใจได้ เพราะอาจมีผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการแฝงตัวอยู่ในชุมชนได้ ดังนั้นประชาชนยังต้องคำนึงถึงมาตรการสุขอนามัย 5 ประการอย่างเคร่งครัดต่อไปแล้วรอประเมินสถานการณ์อีกทีหากสามารถปลอดการติดเชื้อได้เป็นเวลา 2 เท่าของระยะฟักตัว หรือ 28-30 วันจะทำให้เกิดความมั่นใจมากขึ้น เพราะช่วงเวลาเดียวกันได้มีการผ่อนปรนมาตรการให้ดำเนินกิจการหรือกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อเนื่อง

“ที่เวียดนามวันนี้ปลอดเชื้อมา 55 วันแล้วยังไม่ผ่อนคลายเปิดน่านฟ้า ขณะที่เรายังเปิดรับคนไทยกลับเข้ามาอย่างต่อเนื่อง แม้จะปลอดเชื้อมา 14 วันแล้ว ประชาชนยังต้องดูแลสุขภาพ การ์ดไม่ตก”

นพ.อนุพงศ์ กล่าว

นพ.อนุพงศ์ กล่าวถึงการกำหนดระยะเวลาที่ใช้กักตัวผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศจำนวน 14 วันมีความเหมาะสมแล้ว หลังสังคมเกิดความกังวลที่มีการตรวจพบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อส่วนใหญ่มาจากสถานที่กักตัวของรัฐ (State Quarantine) เพราะสอดคล้องกับระยะฟักตัวของเชื้อโควิด-19 ที่มีเวลา 2-14 วัน ซึ่งในจำนวนผู้ติดเชื้อ 175 ราย แสดงอาการ 93 ราย หรือคิดเป็น 53.1%

ทั้งนี้มีการปรับระยะเวลาตรวจหาเชื้อ จากเดิมจะมีการตรวจในช่วงวันที่ 5-8 ของการกักตัว แต่ขณะนี้ปรับมาตรวจเป็นสองช่วงเวลา คือ ช่วงแรกตรวจในช่วงวันที่ 3-5 ของการกักตัว และช่วงที่สองตรวจในช่วงวันที่ 11-13 ซึ่งพบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อลดลงเรื่อยๆ แม้ที่ผ่านมาจะพบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อช่วงวันที่ 21 ก็ตาม แต่มีโอกาสน้อยมาก

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 มิ.ย. 63)

Tags: , , , , , ,
Back to Top