ทั่วโลกยกกรณี ‘จอร์จ ฟลอยด์’ เรียกร้องต้านเหยียดสีผิว

ชาวท้องถิ่นขณะกำลังยืนไว้อาลัยอยู่หน้าสถานที่ที่จัดไว้เพื่อรำลึกถึงจอร์จฟลอยด์ ณ จุดที่เขาถูกควบคุมตัวในมินนิอาโปลิส มินนิโซตาสหรัฐอเมริกา (ภาพ: รอยเตอร์)

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า หลายประเทศทั่วโลกมีการร่วมประท้วงเรียกร้องต่อต้านการเหยียดสีผิวและการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมถึงเรียกร้องความยุติธรรมและความเท่าเทียมทางสังคม

ต้นเหตุของการประท้วงเกิดขึ้นหลัง นายจอร์จ ฟลอยด์ ชายผิวดำวัย 40 ปีถูกเจ้าหน้าที่จับกุมตัวโดยผลักเขาให้นอนคว่ำลงกับพื้นและใช้เข่ากดลงบนคอ ซึ่งแม้ว่านายฟลอยด์พยายามร้องบอกว่าเขาหายใจไม่ออก แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจยังคงใช้เข่ากดที่คอนายฟลอยด์เป็นเวลาหลายนาที ก่อนที่เขาจะหมดสติ และเสียชีวิตก่อนที่จะถึงโรงพยาบาล เมื่อวันที่ 25 พ.ค. ที่ผ่านมา

จากเหตุการณ์ดังกล่าวได้ทำให้ประชาชนในหลายรัฐของสหรัฐร่วมประท้วงเรียกร้องความยุติธรรมต่อเนื่องยาวนานหลายวัน

ล่าสุดประชาชนจากหลายประเทศทั่วโลกได้ร่วมการประท้วงในประเทศของตัวเองเช่นกัน โดยในเยอรมนี มีประชาชนหลายหมื่นคนร่วมชุมชุมต่อต้านการเหยียดสีผิวและการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ตำรวจในสหรัฐ แม้จะมีมาตรการให้เว้นระยะห่างก็ตาม โดยแต่งกายด้วยชุดดำพร้อมถือป้ายสนับสนุน “Black Lives Matter” (ชีวิตคนดำก็มีความหมาย) และรวมตัวสงบนิ่งเป็นเวลา 8 นาที 46 วินาที ซึ่งเป็นเวลาที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้เข่ากดคอนายฟลอยด์จนหมดสติ

ขณะที่ในไอร์แลนด์ ประชาชนหลายพันคนรวมตัวกันคุกเข่าลงนอกสถานทูตสหรัฐในไอร์แลนด์เป็นครั้งที่ 3 หลังจากเหตุสังหารนายฟลอยด์ โดยเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงการเหยียดเชื้อชาติที่หยั่งรากลึกในสังคมอเมริกันและในประเทศอื่น ๆ ด้วย

ในฝรั่งเศสเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา มีประชาชนหลายหมื่นคนรวมตัวกันเดินขบวนในปารีสและเมืองอื่น ๆ ของฝรั่งเศสเพื่อยกย่องนายฟลอยด์

ที่อังกฤษ ประชาชนหลายพันคนเข้าร่วมกับขบวนประท้วง “Black Lives Matter” ในวันเสาร์ที่ผ่านมา ผู้ร่วมประท้วงรวมตัวกันใจกลางกรุงลอนดอน และคุกเข่าลงระหว่างสงบนิ่ง ก่อนจะตะโกน “ไม่มีความยุติธรรม ไม่มีสันติภาพ” โดยผู้ร่วมประท้วงจำนวนมากสวมใส่หน้ากากอนามัยและเคารพมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมในระหว่างร่วมชุมนุม

ทางด้านออสเตรเลีย มีประชาชนจำนวนมากเข้าร่วมในการชุมนุม Black Lives Matter ในหลายเมืองทั่วประเทศ โดยฝูงชนจำนวนมากได้มารวมตัวกันก่อนถึงกำหนดเวลาการชุมนุม และเป็นช่วงเวลาก่อนที่จะมีการยืนยันว่า ศาลสูงสุดของออสเตรเลียตัดสินใจอนุญาตให้สามารถชุมนุมได้อย่างถูกกฎหมาย โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยอำนวยความสะดวกและรักษาความสงบให้กลุ่มผู้ชุมนุม

ประธานาธิบดีไซริล รามาโฟซาของแอฟริกาใต้กล่าวในวันเสาร์ที่ผ่านมาว่า ชาวแอฟริกาใต้จะยืนเคียงข้างพี่น้องชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันในการต่อสู้กับการเหยียดเชื้อชาติ พร้อมเน้นว่า เป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องแก้ไขปัญหาการเหยียดเชื้อชาติ ซึ่งทำให้พลเมืองผิวดำต้องอาศัยอยู่ในบริเวณยากจนห่างไกลจากงานและโอกาส

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 มิ.ย. 63)

Tags: , ,
Back to Top