พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม พร้อมด้วยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข, พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย, นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม, พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการกลุ่ม บมจ.บีทีเอส กรุ๊ปโฮลดิ้งส์ (BTS) ร่วมทดสอบความพร้อมการให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต
หลังก่อสร้างเสร็จเพิ่มเติมอีก 4 สถานี (สถานีกรมป่าไม้-สถานีบางบัว-สถานีกรมทหารราบที่ 11-สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ) ระยะทางรวม 4.2 กิโลเมตร ก่อนเปิดให้ประชาชนใช้บริการอย่างเป็นทางการในเวลา 13.30 น.
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้เราต้องแก้ไขและพัฒนาหลายเรื่องด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบการขนส่งมวลชนเพื่อให้การเดินทางสะดวกไม่ติดปัญหาจราจร ซึ่งประเทศที่กำลังพัฒนาและพัฒนาแล้วก็ดำเนินการแบบนี้ทั้งโลก และได้มีการพัฒนามาตามลำดับในหลายเส้นทางและหลายปีที่ผ่านมาเราก็ได้ทำเพิ่มหลายเส้นทางสิ่งสำคัญ ไม่ใช่สายใครสายมัน แต่ต้องมีเชื่อมต่อ ซึ่งรัฐบาลนี้พยายามทำในทุกระบบ ซึ่งการลงทุนภาครัฐเอกชนร่วมมือกันเพื่อลดทอนค่าใช้จ่าย
“ต้องขอบคุณคณะรัฐมนตรี (ครม.) และผู้ประกอบการในการดำเนินการทั้งหมด วันนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีขึ้นในบ้านเมืองเราต้องคิดว่ามีสิ่งที่ดีขึ้นมากกว่าสิ่งไม่ดี ส่วนไหนไม่ดีก็แก้กันไป ส่วนไหนที่ดีก็ทำให้ดีขึ้นเรื่อยๆ บนพื้นฐานความเข้าใจ ความโปร่งใส ไม่มีทุจริต และมีประสิทธิภาพ นั่นคือหลักการของรัฐบาลนี้”
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้ระบบขนส่งขั้นพื้นฐานมีการแบ่งแยก แต่ไม่ใช่การแบ่งแยกชนชั้น เป็นการแบ่งแยกตามความสามารถของผู้ใช้บริการ ขอให้คิดอย่างนี้ อย่าคิดแต่ว่ารัฐบาลมุ่งหวังการลงทุน แต่ถ้าไม่เกิดการลงทุนแล้วจะเกิดการบริการแบบนี้ได้หรือไม่ แต่ระบบขนส่งจะต้องเชื่อมโยงสถานศึกษา ชุมชน ศูนย์การค้า เป้าหมายคือให้คนไทยได้ประโยชน์จากการขนส่ง ทั้งการใช้รถ ใช้ถนน
อย่างไรก็ตาม รถไฟฟ้าเพียงอย่างเดียวคงยังไม่พอ เพราะประชาชนมีหลายระดับ ซึ่งบางคนยังใช้บริหารรถสาธารณะ รัฐบาลกำลังหาวิธีการปรับปรุงระบบการให้บริการรถ ขสมก.ให้ดีขึ้น ซึ่งหลายๆเรื่องต้องอาศัยความร่วมมือ ความเข้าใจกันในการทำงานในการลงทุน และต้องทำให้เกิดความโปร่งใส สิ่งสำคัญต้องไม่สร้างภาระให้กับประชาชนโดยไม่จำเป็น
จากนั้นนายกรัฐมนตรีพร้อมคณะได้เดินทางโดยขบวนรถไฟฟ้าจากสถานีห้าแยกลาดพร้าวไปยังสถานีวัดพระศรีมหาธาตุ โดยเมื่อมาถึงสถานีวัดพระศรีมหาธาตุ นายกรัฐมนตรีได้กดแตร 3 ครั้ง ก่อนถ่ายภาพหมู่ร่วมกับคณะผู้บริหารบีทีเอส ก่อนเดินทางกลับได้มีประชาชนจำนวนหนึ่งพร้อมกับนักเรียนมาต้อนรับและตะโกนว่า “รักลุงตู่ รักตลอดไป”ขณะที่นายกฯ ตะโกนตอบกลับ “รักทุกคน”ก่อนออกเดินทางไปทันที
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวจะก่อสร้างแล้วเสร็จ 100% ถึงสถานีคูคตภายในสิ้นปี 63 โดยให้บริการฟรี ไม่เก็บค่าโดยสารในช่วงทดลองระบบนี้ สำหรับการกำหนดอัตราค่าโดยสารอยู่ระหว่างการเสนอ ครม. ซึ่งเบื้องต้นกำหนดเพดานค่าโดยสารตลอดสายไม่เกิน 65 บาท โดยรูปแบบการเดินรถ แบ่งระยะเวลาการให้บริการเป็น 2 ช่วงหลัก คือ ช่วงเวลาเร่งด่วนเช้า ตั้งแต่เวลา 07.00 – 09.00 น. และช่วงเวลาเร่งด่วนเย็น ตั้งแต่เวลา 16.30 – 20.00 น.
ทั้งนี้ คาดว่าจะพร้อมเปิดให้บริการตลอดเส้นทาง เดือน ธ.ค.2563 และคาดว่าจะรองรับผู้โดยสารมาใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ตลอดเส้นทาง ตั้งแต่สถานีเคหะฯ ไปตามเส้นทางสายสุขุมวิท จนถึงสถานีคูคต กว่า 1,500,000 เที่ยวคนต่อวัน
พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงหมอชิต- สะพานใหม่- คูคต ในปี 2562 ได้ทยอยเปิดให้บริการแล้ว 5 สถานี จากทั้งหมด 16 สถานี ได้แก่ สถานีห้าแยกลาดพร้าว (N9) สถานีพหลโยธิน 24 (N10) สถานีรัชโยธิน (N11) สถานีเสนานิคม (N12) และสถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (N13) และวันนี้จะเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการส่วนต่อขยาย เพิ่มเติมจำนวน 4 สถานี สถานีกรมป่าไม้ (N14) สถานีบางบัว (N15) สถานีกรมทหารราบที่ 11 (N16) และสถานีวัดพระศรีมหาธาตุ (N17)
ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ (N17) เป็นสถานีที่เป็นจุดเชื่อมต่อ (Inter Changed Station) และเป็นสถานีร่วมกับรถไฟฟ้าโมโนเรลสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) ตัวสถานีจึงออกแบบให้สามารถรองรับผู้โดยสารที่ต้องการเปลี่ยนเส้นทางโดยใช้บัตรโดยสารใบเดียวในการเดินทาง ในรูปแบบระบบ Paid to Paid ผู้โดยสารไม่ต้องออกนอกระบบสามารถเดินทางได้อย่างต่อเนื่อง
สำหรับความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าโมโนเรลสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) ขณะนี้คืบหน้า 52% มีกำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จและจะเปิดให้บริการประชาชนได้ภายในปี 2564 ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสารในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลโดยเฉพาะด้านทิศเหนือได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ. ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTS) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส เปิดเผยว่า เมื่อเปิดให้บริการเพิ่มอีก 4 สถานีนี้ จะมีสถานีให้บริการทั้งสิ้น 52 สถานี รวมระยะทางการให้บริการ 58.32 กม. และเมื่อเปิดครบถึงสถานีคูคตในช่วงปลายปี 2563 จะมีสถานีให้บริการทั้งสิ้น 59 สถานี รวมระยะทาง 68.25 กม. มีการจัดรูปแบบการเดินรถให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสารที่ใช้บริการ ควบคู่กับการเพิ่มขบวนรถใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง
ซึ่งขณะนี้ขบวนรถไฟฟ้าทั้ง 46 ขบวน จากบริษัทซีเมนส์ จำกัด และบริษัท ซีอาร์ซี ฉางชุน เรลเวย์ เวฮิเคิล ได้ส่งมอบครบแล้ว ทำให้มีขบวนรถไฟฟ้าให้บริการผู้โดยสารทั้งหมด 98 ขบวน หรือรวม 392 ตู้ ภายในปี 2563 เพื่อรองรับการเปิดให้บริการส่วนต่อขยายถึงสถานีคูคตภายในสิ้นปีนี้
ด้านนายมานิต เตชอภิโชค กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เปิดเผยว่า การเปิดเดินรถส่วนต่อขยายจากสถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ไปยังสถานีวัดพระศรีมหาธาตุ จะช่วยแก้ปัญหาการจราจรบนถนนพหลโยธินได้เป็นอย่างดี เนื่องจากในเส้นทางมีทั้งสถานศึกษา หน่วยงานราชการ บ้านเรือน และอาคารพักอาศัยหนาแน่นตลอดเส้นทาง ซึ่งสามารถเดินทางเข้ามาใช้บริการรถไฟฟ้าได้อย่างสะดวก เนื่องจากโครงสร้างงานโยธาของโครงการได้ออกแบบทางเดินสกายวอล์กไปยังซอยย่านชุมชน หรือสถานที่ราชการต่าง ๆ โดยไม่ต้องเดินบนทางเท้าด้านล่าง เช่น สถานีกรมป่าไม้ (N14) จะมีทางเดินที่สามารถเชื่อมเข้ามาที่สถานีทั้งจากกรมป่าไม้ กรมวิทยาศาสตร์ทหารบก โรงเรียนสารวิทยา และไปรษณีย์จตุจักร
สถานีบางบัว (N15) มีทางเดินเชื่อมจากกรมทางหลวงชนบท สถานีกรมทหารราบที่ 11 (N16) มีทางเดินเชื่อมจากอู่รถเมล์บางเขน และสถานีวัดพระศรีมหาธาตุ (N17) สามารถเดินขึ้นมาเข้าระบบรถไฟฟ้าได้ทุกทิศทาง โดยมีสกายวอล์กรอบบริเวณสถานีรวมระยะทางกว่า 1.7 กม. สามารถเดินทางขึ้นได้ทั้งจาก กรมทหารขนส่ง โรงเรียนไทยนิยมสงเคราะห์ สน.บางเขน สำนักงานเขตบางเขน กรมควบคุมโรค สถานีดับเพลิงบางเขน วัดพระศรีมหาธาตุ และฌาปนสถานกองทัพอากาศ
ในส่วนของสถานีที่เหลือต่อจากสถานีวัดพระศรีมหาธาตุไปยังสถานีปลายทางคูคต ได้มีการทำทางเดินสกายวอล์ก เพื่ออำนวยความสะดวกให้ชุมชนและสถานที่สำคัญๆ ในเส้นทางใกล้รถไฟฟ้าเข้าสู่ระบบได้อย่างสะดวกด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะที่สถานีโรงพยาบาลภูมิพล จะมีทางเดินเชื่อมจากสถานีเข้าไปยังโรงพยาบาลภูมิพลได้อย่างสะดวกรวดเร็ว
สำหรับการเปิดเดินรถจากสถานีห้าแยกลาดพร้าว (N9) ถึงสถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (N13) มีผู้โดยสารใช้บริการดังนี้ เดือน ม.ค. ผู้โดยสารเฉลี่ย 95,618 เที่ยวคนวัน, เดือน ก.พ. ผู้โดยสารเฉลี่ย 107,555 เที่ยวคนต่อวัน, ในเดือน มี.ค.ผู้โดยสารลดลงจากผลกระทบสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยมีผู้โดยสารเฉลี่ย 64,580 เที่ยวคนต่อวัน, เดือน เม.ย. ผู้โดยสารเฉลี่ย 19,999 เที่ยวคนต่อวัน และเดือน พ.ค. ผู้โดยสารเฉลี่ย 34,476 เที่ยวคนต่อวัน
ทั้งนี้ เมื่อเปิดเดินรถถึงสถานีวัดพระศรีมหาธาตุ และรัฐบาลเริ่มมาตรการคลายล็อกต่าง ๆ คาดว่าจะทำให้มีผู้โดยสารถึง 130,000 เที่ยวคนต่อวัน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 มิ.ย. 63)
Tags: BTS, กระทรวงคมนาคม, กรุงเทพธนาคม, คีรี กาญจนพาสน์, บีทีเอส กรุ๊ปโฮลดิ้งส์, ประยุทธ์ จันทร์โอชา, มานิต เตชอภิโชค, รถไฟฟ้าบีทีเอส, รถไฟฟ้าสายสีเขียว, ระบบขนส่ง, ศักดิ์สยาม ชิดชอบ, สุรพงษ์ เลาหะอัญญา, อนุทิน ชาญวีรกูล, อนุพงษ์ เผ่าจินดา, อัศวิน ขวัญเมือง