สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์กรตรวจสอบข้อเท็จจริงบางแห่งชี้แจงว่า ไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่าสัญญาณ 5G มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ฟูลแฟค มูลนิธิตรวจสอบข้อเท็จจริงสัญชาติอังกฤษ ได้หักล้างข่าวลือเหล่านั้นว่า “นัยหลักของคำกล่าวอ้างที่ว่าสัญญาณ 5G สามารถส่งผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกันนั้น ไม่มีมูลอย่างสิ้นเชิง ไม่มีหลักฐานเชื่อมโยงไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่กับสัญญาณ 5G”
5G เป็นเทคโนโลยีเครือข่ายไร้สายรุ่นใหม่ที่มีความเร็วในการเชื่อมต่อมากกว่ารุ่นก่อนหน้าอย่าง 4G 3G หรือ 2G และข้อมูลบนโทรศัพท์มือถือสัญญาณ 5G ถูกส่งกระจายด้วยคลื่นวิทยุ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า
สื่อท้องถิ่นสหราชอาณาจักรรายงานข่าวโดยอ้างความคิดเห็นของฟูลแฟคว่า “คลื่นวิทยุเหล่านี้เป็นรังสีที่ไม่ก่อให้เกิดไอออน (non-ionizing) ซึ่งหมายความว่าไม่ได้สร้างความเสียหายต่อดีเอ็นเอภายในเซลล์ แตกต่างจากรังสีเอกซ์ รังสีแกมมา และรังสียูวี ที่สามารถสร้างความเสียหายดังกล่าวได้”
ด้านองค์การอนามัยโลกชี้ว่าไวรัสต่างๆ ไม่สามารถแพร่ผ่านเครือข่ายสัญญาณโทรศัพท์มือถือหรือคลื่นวิทยุ โดยโรคโควิด-19 แพร่เชื้อผ่านละอองฝอยน้ำมูกน้ำลายที่ผู้ติดเชื้อไอ จาม หรือพ่นออกมาขณะพูด รวมถึงติดเชื้อได้หากสัมผัสพื้นผิวที่ปนเปื้อนแล้วจับตา ปาก หรือจมูก
นอกจากนั้น WHO ยังเสริมด้วยว่าโรคโควิด-19 กำลังแพร่ระบาดในหลายประเทศที่ไม่มีเครือข่ายสัญญาณ 5G สอดคล้องกับฟูลแฟคที่ยกตัวอย่างว่าประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 หนักหน่วงที่สุดอย่างอิหร่าน ซึ่งยอดผู้ป่วยทะลุ 1.6 แสนรายนั้น ไม่มีสัญญาณ 5G เช่นกัน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 มิ.ย. 63)
Tags: 5G, COVID-19, XINHUA, คลื่นวิทยุ, องค์การอนามัยโลก, เครือข่ายมือถือ, โควิด-19, โทรคมนาคม