นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า หลังจากสถานการณ์โควิด-19 มีแนวโน้มคลี่คลายลง และหลายประเทศทั่วโลกได้ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์เพื่อช่วยกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจนั้น กรมฯ ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง เพื่อมองหาโอกาสและช่องทางในการกระตุ้นเศรษฐกิจในการบุกตลาดส่งออกให้กับผู้ประกอบการไทย ทั้งนี้หากสถานการณ์เอื้ออำนวย กรมฯ พร้อมดำเนินการได้ทันทีเพื่อรักษาและขยายตลาดส่งออกโดยรวม
โดยกรมฯ ได้จัดเตรียมโครงการกว่า 250 โครงการ อาทิ การส่งเสริมสินค้าไทยผ่านช่องทางออนไลน์ โมเดิร์นเทรด ห้างสรรพสินค้า ในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก การยกระดับภาพลักษณ์สินค้าและธุรกิจบริการไทยในต่างประเทศ ภายใต้ตราสัญลักษณ์ Tmark, Demark, PM Award และ Thai Select รวมถึงการสร้างมาตรฐานด้านคุณภาพและความปลอดภัยให้กับสินค้าและบริการของไทย เช่น มาตรฐานด้านอาหาร ฮาลาล เกษตรอินทรีย์ การนำทัพผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศและการจัดงานแสดงสินค้าในไทย พร้อมจัดกิจกรรมให้คำปรึกษาและข้อมูลเพื่อบุกตลาดต่างประเทศกับทูตพาณิชย์ทั่วโลกผ่านกิจกรรม Online Export Clinic ในการบุกตลาดส่งออกทุกภูมิภาคทั่วโลก
นอกจากนี้กรมยังมีพันธมิตรทางการค้าในการสนับสนุนการจัดกิจกรรมของกรมและสร้างความแข็งแกร่งให้กับผู้ประกอบการในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย มหาวิทยาลัยต่างๆ รวมทั้งพันธมิตรแพลตฟอร์มออนไลน์ในต่างประเทศ อาทิ Tmall, Alibaba (ตลาดจีน) Bigbasket (ตลาดอินเดีย) คลัง.com (ตลาดอาเซียน) และ Amazon (ตลาดอเมริกา) เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของ รมว.พาณิชย์ ที่ให้กรมฯ สนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้พร้อมรับกับสถานการณ์ในทุกมิติ พร้อมปรับสถานการณ์โควิดสร้างโอกาสให้ธุรกิจไทย
ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา กรมฯ ได้ทำกิจกรรมมาอย่างต่อเนื่องและปรับรูปแบบการดำเนินงานโดยเน้นกิจกรรมออนไลน์มากขึ้นและมีผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ อาทิ การจัดงานแสดงสินค้าในรูปแบบออนไลน์แบบเสมือนจริงสำหรับอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ ภายใต้ชื่องาน Multimedia Online Virtual Exhibition (M.O.V.E.) เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มีการจับคู่ธุรกิจกิจกว่า 350 คู่ สร้างรายได้กว่า 1,800 ล้านบาท รวมทั้งงานสัมมนาและเวิร์คชอปออนไลน์เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ครีเอเตอร์ไทยโดยผู้เชี่ยวชาญในวงการแอนิเมชันระดับสากล จาก Walt Disney Animation Studio, Nickelodeon Animation Studio และ Marvel Studio เป็นต้น
ส่วนกิจกรรมเจรจาธุรกิจผ่านระบบออนไลน์ (Online business Matching) ในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค.ที่ผ่านมาได้ดำเนินการในหลายสินค้าและหลายตลาด อาทิ ตลาดเกาหลีใต้ ฮ่องกง สหรัฐอเมริกา อียิปต์ ในกลุ่มสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม สินค้าเครื่องใช้ภายในบ้านและสินค้าแฟชั่น สินค้าอุปกรณ์ทางการแพทย์ ชิ้นส่วนยานยนต์ ถุงมือยาง เป็นต้น มีมูลค่าการซื้อขายประมาณ 636.48 ล้านบาท และมีกำหนดเจรจาในอีกหลายตลาดต่อเนื่องจนถึงเดือน ก.ย.63
สำหรับการจัดอบรมสัมมนาผ่านช่องทางออนไลน์ (E-Learning & E-Academy) มีผู้เข้าร่วมอบรมกว่า 3,900 ราย รวมทั้งกรมฯ ได้จัดทำวิดีโอ 14 ภาษา เพื่อประชาสัมพันธ์ ส่งเสริมภาพลักษณ์อุตสาหกรรมอาหาร ทั้งด้านมาตรฐานความปลอดภัย การเป็นผู้ผลิตอาหารตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ในฐานะครัวของโลกเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคทั่วโลกอีกด้วย
ด้าน นายประคัลร์ กอดำรงค์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาตลาดและธุรกิจไทยในต่างประเทศ 1 กล่าวว่า ตลาดจีนนับเป็นตลาดหลักที่เริ่มผ่อนคลายมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดลง คนจีนยังคงต้องการสินค้าไทยมาก โดยสินค้าไทยที่มีศักยภาพ ได้แก่ กลุ่มสินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน เช่น เนื้อสัตว์ เครื่องปรุงรส ขนมขบเคี้ยว อาหารแช่แข็ง อาหารทะเล โดยเน้นสินค้าเพื่อสุขภาพและให้สำคัญกับความปลอดภัยของอาหารมากขึ้น กลุ่มสินค้าเพื่อสุขอนามัยและสุขภาพ เช่น ถุงมือยาง สินค้าบำรุงสุขภาพ และ กลุ่มสินค้าเพื่อความบันเทิง เช่น ละคร ภาพยนตร์ออนไลน์ เกมส์ออนไลน์
โดยกิจกรรมที่จะดำเนินการภายหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เริ่มดีขึ้น ได้แก่ การส่งเสริมผลไม้ไทย “Thai Fruits Golden Months” ร่วมกับซุปเปอร์มาร์เก็ต ในเมืองสำคัญของจีน เช่น เมืองชิงต่าว (ห้าง Hisense) เมืองเซี่ยะเหมิน (ห้าง Rainbow) นครเซี่ยงไฮ้ (ซุปเปอร์มาร์เก็ต City’s Super) นครกวางโจว (ซุปเปอร์ มาร์เก็ต AEON) เมืองฮ่องกง (ห้าง Welcome) และจัดร่วมกับซุปเปอร์มาร์เก็ต OLE ในนครเฉิงตู มหานครฉงชิ่ง และเมืองซีอาน รวมทั้งการส่งเสริมสินค้าไทยผ่านโมเดิร์นเทรด เช่น เมืองฮ่องกง (ซุปเปอร์มาร์เก็ตอิอน) นครคุนหมิง (ห้างคาร์ฟูร์และห้างพาร์คสัน) นครเฉิงตู (ห้างโลตัส) เมืองฮาบิน (ห้าง song lei) นอกจากนี้กรมจะนำผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในจีน จำนวน 3 งาน ในช่วงเดือน ก.ย.-พ.ย.63 ได้แก่ งานแสดงสินค้า SME นานาชาติจีน (China International SME Fair) งานมหกรรมแสดงสินค้าจีน-อาเซียน (China-ASEAN Expo) และงานมหกรรมสินค้านำเข้านานาชาติจีน (China International Import Expo)
ขณะที่ นายจิรกานต์ เพชรชาติ รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนาตลาดและธุรกิจไทยในต่างประเทศ 2 กล่าวว่า ภูมิภาคอเมริกา ยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา สถานการณ์เศรษฐกิจการค้าหลังวิกฤติโควิด-19 หลายประเทศเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ เปิดด่านพรมแดนทางบก ให้หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนบางส่วนเปิดดำเนินการ เพื่อให้ธุรกิจกลับมาดำเนินการได้ โดยอยู่ภายใต้เงื่อนไขการควบคุมความปลอดภัยด้านสาธารณสุข มาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม ส่วนการส่งออกสินค้าในภาพรวมไม่มีปัญหาอย่างมีนัยสำคัญ
สำหรับโอกาสของผู้ประกอบการไทยในตลาดอเมริกา ลาตินอเมริกา ยุโรปและ CIS ตะวันออกกลาง และแอฟริกานั้น จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ระบบซัพพลายเชน (supply chain) เปลี่ยนไป หลายประเทศหันมานำเข้าสินค้าจากไทยเพิ่มขึ้น ทั้งนี้สินค้าที่มีศักยภาพในแต่ละตลาด เช่น ตลาดอเมริกา – สินค้ากลุ่มอาหาร นวัตกรรมด้านความสะอาดและปลอดภัย สินค้ากลุ่มไลฟ์สไตล์ วัตถุดิบและส่วนประกอบที่ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตเทคโนโลยีและอิเล็กทรอนิกส์ ตลาดลาตินอเมริกา – สินค้าปลาทูน่ากระป๋องและอาหารกระป๋องอื่นๆ (สับปะรด, ข้าวโพดอ่อน และน้ำผลไม้) ร้านอาหารไทย หลักสูตรสอนการทำอาหารออนไลน์ ตลาดยุโรปและ CIS – สินค้าข้าว อาหารแช่แข็งกึ่งสำเร็จรูปต่างๆ ยาและเวชภัณฑ์ สินค้าสุขภาพ ออร์แกนิค ตลาดตะวันออกกลาง – สินค้าอาหารทะเลประเภทกุ้ง ปลา ปลาทูน่าแช่เย็น/แช่แข็ง ปลาทูน่ากระป๋อง ยางพาราและผลิตภัณฑ์จากยางพารา สินค้าอุปโภคบริโภค เช่น ข้าว น้ำมันพืช ปลาทูน่ากระป๋อง อาหารแห้ง น้ำตาล ของใช้ในบ้าน และสินค้าเวชภัณฑ์ เช่น หน้ากาก ถุงมือ ตลาดแอฟริกา – สินค้าเครื่องมือแพทย์ ยาและเวชภัณฑ์ สินค้าอาหารสำเร็จรูป อาหารกึ่งสำเร็จรูป อาหารกระป๋อง ยางรถยนต์ ส่วนทิศทางธุรกิจบริการสินค้าที่มีศักยภาพมีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกันคือ บริการการป้องกันและการฆ่าเชื้อโรค บริการส่งสินค้าและอาหาร การค้าออนไลน์ ดิจิทัลคอนเทนต์ การให้คำปรึกษาทางไกล (Export Clinic) สุขภาพและความงาม เป็นต้น
ทั้งนี้ กรมฯ จะจัดกิจกรรมส่งเสริมสินค้าอาหารไทยร่วมกับผู้นำเข้า/ผู้ค้าปลีก อาทิ ตลาดฮิสแปนิกในสหรัฐอเมริกา สินค้าเกษตรในประเทศเม็กซิโก สินค้าผักและผลไม้ในตลาดยูเออี สินค้าอาหารฮาลาลในตลาดซาอุดิอาระเบีย รวมทั้งจัดกิจกรรมพัฒนาผู้ประกอบการและส่งเสริมสินค้ากลุ่มแฟชั่นในตลาดออสเตรีย เฟอร์นิเจอร์ เครื่องประดับและของแต่งบ้านในตลาดอิตาลี อาหารและสินค้าไลฟ์สไตล์ในตลาดแคนาดา ส่วนในอเมริกาเน้นสินค้าอาหาร เครื่องประดับ สินค้าออร์แกนิค รวมทั้งจัดกิจกรรม online business matching และผลักดันสินค้าไทยผ่าน amzon.com ในสหรัฐอเมริกาและ Mercado Libre ในเม็กซิโก
น.ส.ณัฐิยา สุจินดา ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 เป็นตัวเร่งสำคัญ ที่ทำให้สินค้าอาหารเติบโตขึ้น ทั้งอาหารสด อาหารแห้ง อาหารกระป๋อง อาหารแช่แข็ง และอื่นๆ รวมถึงวัตถุดิบในการทำอาหารต่างก็ได้รับอานิสงส์ขายดีอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าไทยจะมีคู่แข่ง แต่ไทยก็มีจุดแข็งตรงที่ได้รับความไว้วางใจจากผู้บริโภคทั่วโลกว่าอาหารไทยปลอดภัยไร้โควิด-19 เนื่องจากรัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์ได้เป็นอย่างดี กรมฯ จึงได้วางแผนจัดงานแสดงสินค้าสินค้าอาหารเพื่อรองรับความต้องการซื้อจากทุกมุมโลก ทั้งในและต่างประเทศ อาทิ THAIFEX-ANUGA ASIA 2020 (วันที่ 22-26 ก.ย.63) MIHAS ในประเทศมาเลเซีย (1-4 ก.ย.63) FINE FOOD ในประเทศออสเตรเลีย (วันที่ 7-10 ก.ย.63) งาน SEOUL FOOD & HOTEL ในประเทศเกาหลี (วันที่ 15-18 ก.ย.63) งาน SIAL ในประเทศฝรั่งเศส (วันที่ 18-22 ต.ค.63) งาน BIOFACH ในประเทศเยอรมนี (วันที่ 17-20 ก.พ.64) งาน GULFOOD ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ก.พ.64) และ FOODEX ในประเทศญี่ปุ่น (มี.ค.64)
นางนิศาบุษป์ วีรบุตร ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการค้าสินค้าไลฟ์สไตล์ กล่าวว่า จากการเว้นระยะห่างทางสังคมทำให้คนอยู่บ้าน และใช้ชีวิตบนโลกออนไลน์กันมากขึ้น โดยหันมาให้ความสำคัญในการแสดงตัวตนหรือการโพสต์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ (Social Network) โดยเน้นสินค้าแฟชั่นให้เข้ากับบุคคลของตนเอง รวมทั้งการมีเวลาอยู่บ้านมากขึ้นทำให้ผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญกับการแต่งบ้าน การหางานอดิเรกที่เหมาะสมกับพฤติกรรมการดำรงชีวิตในรูปแบบ New Normal กรมฯ จึงได้ปรับรูปแบบการจัดงานแสดงสินค้าไลฟ์สไตล์ (STYLE Bangkok) สู่แพลตฟอร์มออนไลน์ ภายใต้ชื่อ STYLE Bangkok Telematching : Lifestyle Online Virtual Exhibition หรือ L.O.V.E ระหว่างวันที่ 11-14 ส.ค.63 ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าเสมือนจริงกับการจับคู่ธุรกิจผ่านออนไลน์ในที่เดียว และแพลตฟอร์มงานแสดงสินค้าเสมือนจริงหลังงาน (Post Virtual Trade Show) นอกจากนี้ยังมีกิจกรรม Online B2B Matching สำหรับสินค้ากลุ่มสินค้าเฉพาะ( Niche Market) เช่น กลุ่มสินค้าผู้สูงวัย กลุ่มสินค้าแม่และเด็ก และกลุ่มผลิตภัณฑ์สำหรับสัตว์เลี้ยง เพื่อให้ผู้ส่งออกไทยมีโอกาสที่จะได้พบและเจรจาธุรกิจกับคู่ค้าในต่างประเทศ โดยที่ผู้นำเข้าก็ไม่ต้องกังวลกับปัญหาอุปสรรคจากมาตรป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส
นางปรียากร ศังขวณิช ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาและส่งเสริมธุรกิจบริการ กล่าวว่า ปัจจัยหนุนจากการค้าออนไลน์และการทำงานที่บ้านทำให้ธุรกิจภาพยนตร์ เกม คาแรกเตอร์ การเรียนการสอนออนไลน์ มีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้น ซึ่งปัจจุบันผู้ให้บริการสตรีมมิ่ง (streaming) ภาพยนตร์ ได้รับความนิยมทั่วโลกและมีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็ว จึงเป็นทางเลือกที่ดีและเป็นโอกาสของภาพยนตร์ไทยในการนำเสนอผลงานผ่าน Platform นี้ นอกจากนี้จากความนิยมการค้าขายผ่านช่องทางออนไลน์ ส่งผลให้ผู้ประกอบการสินค้าคาแรกเตอร์ได้ปรับเปลี่ยนไปจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น อีกทั้งส่งผลให้ผู้ผลิตคอนเทนท์ต่างๆ ที่ใช้ประกอบการจัดทำคลิปแนะนำสินค้า คลิปโฆษณาสินค้าต่างๆ ที่ใช้ส่งเสริมการขายสินค้าออนไลน์มีโอกาสเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วยโดยเฉพาะผู้ผลิตคอนเทนท์รายย่อย หรือ freelance ด้านธุรกิจเกม จากมาตรการ lock down เป็นปัจจัยหนุนธุรกิจเกมออนไลน์ทั้งในประเทศไทยและตลาดโลก และมีแนวโน้มได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากการที่ผู้บริโภคเข้าถึงเกมได้สะดวก และแรงหนุนจากความนิยม e-sports ที่เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน รวมทั้งการเรียนการสอนออนไลน์ที่เพิ่มขึ้น ยังส่งผลให้ผู้ผลิตคอนเทนท์ / ผู้ออกแบบหลักสูตร e-learning ต่างๆ มีโอกาสมากขึ้นตามไปด้วย
ทั้งนี้ กรมฯ ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) และสมาคมด้านดิจิทัลคอนเทนท์ ร่วมจัดงาน Bangkok International Digital Content Festival 2020 ระหว่างวันที่ 3-9 ส.ค.63 ภายในงานประกอบด้วยกิจกรรมออนไลน์ทั้งหมด ได้แก่ การจับคู่เจรจาธุรกิจ การเสวนา การอบรมเชิงปฏิบัติการ การมอบรางวัลผลงานดีเด่น และนิทรรศการแสดงผลงานต่างๆ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 มิ.ย. 63)
Tags: กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ, กระทรวงพาณิชย์, ณัฐิยา สุจินดา, นิศาบุษป์ วีรบุตร, ประคัลร์ กอดำรงค์, ปรียากร ศังขวณิช, ส่งออก, สมเด็จ สุสมบูรณ์, สินค้าไทย