แต่กลุ่มสินค้าอาหาร เครื่องดื่ม-เกษตรแปรรูปขยายตัวเพิ่มขึ้น
นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า การใช้สิทธิประโยชน์สำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) และภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ (ม.ค.-มี.ค.) มีมูลค่ารวม 16,249.72 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 9.97%
โดยการใช้สิทธิประโยชน์ฯ 75.53% ของทั้งหมด แบ่งเป็นการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ FTA มูลค่า 14,911.35 ล้านเหรียญสหรัฐ และการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ GSP มูลค่า 1,338.37 ล้านเหรียญสหรัฐ
สำหรับการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลง FTA จำนวน 11 ฉบับ ไม่รวมอาเซียน-ฮ่องกง เนื่องจากภาษีนำเข้าสินค้าส่วนใหญ่เป็น 0% อยู่แล้วก่อนที่จะมีความตกลงฯ และไทย-นิวซีแลนด์ ที่ใช้ระบบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของผู้ส่งออก) มีมูลค่า 14,911.35 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 10.95% และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 75.24%
โดยตลาดที่ไทยส่งออกโดยมีมูลค่าการใช้สิทธิฯ ภายใต้ FTA สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่
1) อาเซียน 5,621.43 ล้านเหรียญสหรัฐ มีสินค้าส่งออกสำคัญที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูง อาทิ เครื่องปรับอากาศที่ใช้ติดหน้าต่าง ผนัง เพดาน หรือพื้นที่มีส่วนประกอบสมบูรณ์ในตัว รถยนต์เพื่อขนส่งบุคคล ความจุกระบอกสูบ 1,500-2,500 ลบ.ซม. เครื่องดื่มประเภทอื่นๆ
2) จีน 3,762.02 ล้านเหรียญสหรัฐ มีสินค้าส่งออกสำคัญที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูง อาทิ ผลิตภัณฑ์ยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติ ทุเรียนสด มันสำปะหลัง
3) ออสเตรเลีย 1,750.96 ล้านเหรียญสหรัฐ มีสินค้าส่งออกสำคัญที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูง อาทิ รถบรรทุกขนส่งขนาดไม่เกิน 5 ตัน รถยนต์ส่วนบุคคลความจุกระบอกสูบ 1,500-3,000 ลบ.ซม. เครื่องปรับอากาศติดผนัง
4) ญี่ปุ่น 1,807.36 ล้านเหรียญสหรัฐ มีสินค้าส่งออกสำคัญที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูง อาทิ ไก่ชนิดแกลลัสโดเมสติกัส ชิ้นเนื้อและส่วนอื่นที่บริโภคได้ของสัตว์ปีกแบบแช่แข็ง ของที่ใช้ลำเลียงสินค้าหรือบรรจุสินค้าทำด้วยพลาสติกหรือทำด้วยโลิเมอร์ของเอทิลีน
และ 5) อินเดีย 1,125.05 ล้านเหรียญสหรัฐ มีสินค้าส่งออกสำคัญที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูง อาทิ เครื่องปรับอากาศ ลวดทองแดงอื่นๆ แทรกเตอร์อื่นๆ
สำหรับกรอบความตกลงการค้าเสรีที่มีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์ฯ สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) ไทย-ชิลี 100% 2) ไทย-เปรู 98.12% 3) อาเซียน-จีน 84.01% 4) ไทย-ญี่ปุ่น 83.13% และ 5) ไทย-ออสเตรเลีย 75.85%
ส่วนการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ GSP ไทยได้รับสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบ GSP จำนวน 4 ระบบ คือ สหรัฐฯ สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซียและเครือรัฐเอกราช และนอร์เวย์ มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ 1,338.37 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 2.62% และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 78.89%
โดยตลาดส่งออกที่ไทยมีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ มากที่สุด คือ สหรัฐฯ มูลค่า 1,224.83 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 2.48% และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 82.15% อันดับสอง คือ สวิตเซอร์แลนด์ มูลค่า 65.50 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 0.23% และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 43.24% อันดับสาม คือ รัสเซียและเครือรัฐ มูลค่า 41.38 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 7.07% และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 87.85% และนอร์เวย์ มูลค่า 6.66 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 42.31% และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ สูงถึง 95.14%
สำหรับสินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ภายใต้ระบบ GSP สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ถุงมือยาง ส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศ อาหารปรุงแต่งอื่นๆ น้ำผลไม้และน้ำพืชที่ไม่ได้หมักและไม่เติมสุรา หม้อแปลงไฟฟ้าอื่นๆ
อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า การส่งออกโดยการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ซึ่งมีผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก และหลายประเทศเริ่มทำการปิดเมือง พรมแดน รวมถึงปิดประเทศชั่วคราว ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตจนไปถึงการขนส่งสินค้า/โลจิสติกส์ระหว่างประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ทำให้การส่งออกไปบางตลาดลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน อาทิ จีน ลดลง 12.91% ญี่ปุ่น ลดลง 11.88% เกาหลี ลดลง 10.24% แต่มีบางตลาดที่มีการขยายตัวของการใช้สิทธิประโยชน์ฯ อาทิ อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ ขยายตัว 48.92% อาเซียน-นิวซีแลนด์ ขยายตัว 19.16% เปรู ขยายตัว 3.72%
อย่างไรก็ตาม พบว่า การส่งออกสินค้าเครื่องดื่ม อาหาร เกษตรแปรรูปของไทยไปยังประเทศคู่ค้าที่ไทยมีความตกลงทางการค้าเสรี 13 ฉบับ และประเทศที่ให้สิทธิฯ GSP แก่ไทย ยังคงขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง จากความต้องการบริโภคสูงขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้หลายสินค้ามีการส่งออกไปตลาดสำคัญโดยใช้สิทธิฯ เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
ยกตัวอย่าง เช่น อาเซียน (AFTA) สินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูง และมีอัตราการเติบโตขยายตัว อาทิ เครื่องดื่มประเภทอื่นๆ ที่ไม่เติมแก๊ส เช่น นม UHT นมถั่วเหลือง (มูลค่าการใช้สิทธิฯ 141.59 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 101.62%) น้ำ รวมถึงน้ำแร่และน้ำอัดลม (มูลค่าการใช้สิทธิฯ 99.12 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 59.62%) น้ำตาลที่ได้จากอ้อยหรือหัวบีต (มูลค่าการใช้สิทธิฯ 73.97 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 208.60%) เป็นต้น
อาเซียน-จีน (ACFTA) สินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูง และมีอัตราการเติบโตขยายตัว อาทิ ทุเรียนสด (มูลค่าการใช้สิทธิฯ 355.65 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 79.93%) ผลไม้อื่นๆ เช่น ลำไย เงาะ ลางสาด (มูลค่าการใช้สิทธิฯ 174.55 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 41.31%) ชิ้นเนื้อและเครื่องในไก่แช่แข็ง (มูลค่าการใช้สิทธิฯ 83.04 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 53.90%) เป็นต้น
อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (AANZFTA ส่งออกไปยังนิวซีแลนด์) สินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูง และมีอัตราการเติบโตขยายตัว อาทิ ปลาทูน่าปรุงแต่ง (มูลค่าการใช้สิทธิฯ 0.78 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 34.02%) อาหารปรุงแต่งที่ทำจากเกร็ดธัญพืช (มูลค่าการใช้สิทธิฯ 0.42 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 43.55%) พืชผัก ผลไม้ ลูกนัต เปลือกผลไม้และส่วนอื่นของพืช ที่ทำไว้ไม่ให้เสียโดยใช้น้ำตาล (แช่อิ่ม เชื่อมหรือฉาบ) (มูลค่าการใช้สิทธิฯ 0.35 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 57.14%) เป็นต้น
ขณะที่การใช้สิทธิฯ GSP พบว่า มีหลายสินค้าโดยเฉพาะสินค้าอาหาร เกษตรแปรรูป มีการขยายตัวของการใช้สิทธิฯ เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น ระบบ GSP สหรัฐฯ สินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ GSP สูง และมีอัตราการเติบโตขยายตัว อาทิ อาหารปรุงแต่งอื่นๆ (มูลค่าการใช้สิทธิฯ 46.62 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 8.63%) น้ำผลไม้และน้ำพืชผักที่ไม่ได้หมักและไม่เติมสุรา (มูลค่าการใช้สิทธิฯ 32.10 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 50.12%) อาหารปรุงแต่งที่ทำจากธัญพืชหรือผลิตภัณฑ์ธัญพืช (มูลค่าการใช้สิทธิ 4.20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 10.44%) เป็นต้น
ระบบ GSP รัสเซียและเครือรัฐ สินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ GSP สูง และมีอัตราการเติบโตขยายตัว อาทิ พืช/ผลไม้ปรุงแต่ง (มูลค่าการใช้สิทธิฯ 8.97 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 0.81%) สัปปะรดกระป๋อง (มูลค่าการใช้สิทธิฯ 7.48 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 1.49%) ปลาทูน่า ปลาสคิปแจ็ก และปลาโบนิโต (ชนิดซารดา) (มูลค่าการใช้สิทธิฯ 1.91 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 8.77%) เป็นต้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 มิ.ย. 63)
Tags: FTA, GSP, กรมการค้าต่างประเทศ, การค้าเสรี, กีรติ รัชโน, ญี่ปุ่น, ภาษีศุลกากร, ส่งออก, สิทธิประโยชน์ทางภาษี, สินค้าเกษตร, ออสเตรเลีย, อาหารและเครื่องดื่ม, อาเซียน, อินเดีย