คิดแบบ ‘Claim Di’ สตาร์ทอัพรุ่นใหญ่ ปรับโมเดลกู้วิกฤติสู่ทางรอด ‘องค์กร’ (EP1)

การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ได้กลายเป็นวิกฤติเศรษฐกิจสร้างผลกระทบต่อภาคธุรกิจไม่ทางตรงก็ทางอ้อม และยิ่งเป็นกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กอย่าง “สตาร์ทอัพ” ที่มีกำลังเริ่มต้นธุรกิจ และมีสายป่านสั้น คงกำลังประสบปัญหากันอยู่ไม่น้อย

วันนี้เราเปิดมุมคิดของสตาร์ทอัพรุ่นใหญ่ นายกิตตินันท์ อนุพันธ์ CEO บริษัท Anywhere to go และผู้ก่อตั้ง Application Claim Di เจ้าของสโลแกนติดปาก “มาเร็ว เคลมเร็ว” ผู้ให้บริการ Claim Platform อันดับ 1 ในไทย และสิงคโปร์ ดีกรีรางวัลชนะเลิศโครงการ “Dtac Accelerate Batch” ก่อนจะก้าวขึ้นเป็นสตาร์ทอัพระดับ Series A รายแรกของประเทศไทยและผ่านการระดมทุนจากนักลงทุนระดับโลกมากกว่า 10 กองทุน ปัจจุบัน “Claim Di” มีสำนักพื้นที่กว่า 1,400 ตารางเมตร และอีก 13 สาขาทั่วประเทศ พนักงาน Claim Di Bike มากกว่า 12,000 คน และ Call Center มากกว่า 50 seats

คำถามสำคัญท่ามกลางวิกฤติเช่นนี้ จะปรับโมเดลธุรกิจ เพื่อนำพาองค์กรผ่านพ้นวิกฤติ และเปิดโอกาสสร้าง New S-Curve ใหม่ในยุค “New Normal” อย่างไร…

นายกิตตินันท์ เปิดเผยกับ”อินโฟเควสท์”ว่า จากจุดเริ่มต้นของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีขายซอฟแวร์ “Anywhere to Claim”เมื่อ 20 ปีที่แล้วก่อนก้าวสู่การเป็น “Tech Startup” ปรับโมเดลธุรกิจในปี 57 ด้วยการเริ่มให้บริการ Application “Claim Di” เปลี่ยนจากผู้ขายซอฟต์แวร์เป็นเจ้าของแพลตฟอร์มเพื่อสร้างการเติบโตแบบก้าวกระโดดจนวันนี้ “Claim Di”สร้างรายได้มากกว่า 100 ล้านบาทต่อปี และมีมูลค่าบริษัทมากกว่า 10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ท่ามกลางภาวะวิกฤติโควิด-19 ลุกลามทั่วโลกหลายอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า บริษัทได้ปรับแผนกลยุทธ์เพื่อรับมือกับภาวะวิกฤตินี้เช่นกัน เนื่องจากรายได้จากการให้บริการเคลมประกันภัยรถยนต์ลดลง แต่บริษัทมีพนักงาน Call Center และพนักงานเคลมประกันรถยนต์ (Surveyor) หรือเรียกว่า “เคลมดิ ไบค์” อีกกว่า 12,000 คนทั่วประเทศ

ดังนั้น จึงตัดสินใจต่อยอดขยายเป็นธุรกิจรับขนส่งอาหารและขนส่งสินค้าภายใต้แพลตฟอร์ม “Sent di” เจาะกลุ่มลูกค้าที่ไม่ได้อยู่ในแพลตฟอร์มของผู้จัดส่งสินค้าอาหาร 4 รายใหญ่ ซึ่งเป็นลักษณะขนส่งสินค้ารูปแบบ B2B คือผู้ใช้บริการต้องโฆษณาสินค้าของตัวเองผ่านช่องทางต่างๆ ขณะที่บริษัทใช้สำนักงานใหญ่กลางเมืองย่านสามเหลี่ยมดินแดงเป็นศูนย์กระจายสินค้า เมื่อสินค้าของผู้ใช้บริการมารวมกันก็ให้ “เครมดิไบค์” กระจายขนส่งสินค้าไปตามคำสั่งซื้อ ซึ่งปัจจุบันได้รับการตอบรับจากลูกค้าตั้งแต่รายใหญ่ตลอดจนถึงรายเล็กเป็นอย่างดี และช่วยให้พนักงานที่อยู่ในเครือมีรายได้ในช่วงที่เกิดภาวะวิกฤติอีกด้วย

นายกิตตินันท์ กล่าวต่อว่า ในช่วงที่เกิดวิกฤติโควิด-19 ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคคนไทยให้กันมานิยมใช้ Application มากขึ้น ทำให้ธุรกิจของ Claim Di มีโอกาสเติบโตอีกมากในอนาคต แต่บริษัทยังติดตามสถานการณ์ต่อไปว่าการผลกระทบเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจะทำให้ยอดซื้อประกันภัยรถยนต์ลดลงไปมากน้อยแค่ไหน ขณะที่พฤติกรรมของผู้ใช้รถยนต์จะเข้าใช้บริการเคลมประกันด้วยตัวเองเพิ่มหรือไม่

“สิ่งที่ผมอยากจะฝากผู้ประกอบการสตาร์ทอัพในช่วงภาวะวิกฤติคือต้องปรับตัว ทดลองทำเลยไม่มีผิดไม่มีถูก เพราะคลื่นลูกแรกเข้าถล่มกลุ่มสตาร์ทอัพที่ประกอบธุรกิจอิงกับภาคท่องเที่ยว โรงแรม สปา ร้านอาหาร บริษัททัวร์ ซึ่งต้องยอมรับว่าเลี่ยงได้ยาก แต่ข้อดีของสตาร์ทอัพ คือ มีความคล่องตัวปรับตัวได้รวดเร็วกว่าผู้ประกอบการที่เป็นรายใหญ่ ดังนั้น สตาร์ทอัพที่โดนผลกระทบต้องกล้าลุกออกมาจาก Comfort Zone ของตัวเอง”

นายกิตตินันท์ กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 มิ.ย. 63)

Tags: , , , ,
Back to Top