พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ชี้แจงหลักการและเหตุผลในการเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โอนงบประมาณรายจ่าย วงเงิน 88,452,597,900 บาท ต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรว่า ร่าง พ.ร.บ.นี้เป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาและบรรเทาผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งถือเป็นภัยพิบัติสาธารณะร้ายแรง ส่งผลกระทบต่อประชาชนและระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ รวมทั้งปัญหาจากภัยพิบัติ ภัยแล้ง อุทกภัย และกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินหรือจำเป็นอื่น
ที่ผ่านมารัฐบาลได้ใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนต่าง ๆ เช่น การแก้ไขปัญหาภัยพิบัติ อุทกภัย ภัยแล้ง ปัญหาเศรษฐกิจ การบรรเทาและแก้ไขสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นต้น ส่งผลให้งบประมาณรายจ่ายงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ที่ตั้งไว้ จำนวน 96,000 หมื่นล้านบาทไม่เพียงพอ จึงมีความจำเป็นต้องโอนงบประมาณรายจ่ายที่หน่วยรับงบประมาณได้รับจัดสรรตาม พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ไปตั้งไว้เป็นงบประมาณรายจ่ายงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นดังกล่าว โดยรัฐบาลจะสนับสนุนการดำเนินภารกิจของหน่วยรับงบประมาณผ่านกลไกของงบประมาณรายจ่ายเพื่อตอบสนองต่อการแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ทันต่อสถานการณ์อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
โดยร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมีวัตถุประสงค์สำคัญ 2 ประการ คือ 1.เพื่อนำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ของหน่วยรับงบประมาณ บางรายการ จำนวนทั้งสิ้น 88,452,597,900 บาท ไปตั้งจ่ายเป็นงบกลาง รายการเงินสำรองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น
2.เพื่อให้ร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย เป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ไขปัญหาและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และปัญหาภัยพิบัติ ภัยแล้ง อุทกภัยที่อาจเกิดขึ้นในช่วงปลายปีงบประมาณ พ.ศ.2563 รวมทั้งกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินหรือจำเป็นอื่น ซึ่งการบัญญัติกฎหมายเกี่ยวกับการโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปี มีการดำเนินการมาแล้วครั้งล่าสุดในปีงบประมาณ พ.ศ.2561
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กฎหมายโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปีฉบับนี้มีความสอดคล้องกับกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐ รวมทั้งทำให้การบริหารงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 มีประสิทธิภาพและความคล่องตัวในการแก้ไขปัญหาได้ทันต่อสถานการณ์ เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชน
ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมีความสอดคล้องกับ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561 มาตรา 35 (1) ที่กำหนดให้งบประมาณรายจ่ายของหน่วยรับงบประมาณ ที่กำหนดไว้ตามกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย จะโอนหรือนำไปใช้สำหรับหน่วยรับงบประมาณอื่นไม่ได้ เว้นแต่มีพระราชบัญญัติให้โอนหรือนำไปใช้ได้
สำหรับงบประมาณและรายการที่นำไปจัดทำร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่ายในครั้งนี้ ประกอบด้วย 1.รายจ่ายประจำในทุกงบรายจ่ายที่ยังไม่มีการเบิกจ่ายและไม่มีข้อผูกพัน หรือสามารถชะลอข้อผูกพันได้ ณ วันที่ 7 เม.ย.63 อาทิ ค่าใช้จ่ายในการสัมมนา การฝึกอบรม การประชาสัมพันธ์ การจ้างที่ปรึกษา ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปต่างประเทศ การดำเนินการจัดงานกิจกรรมต่างๆ
2.รายจ่ายลงทุนในทุกงบรายจ่าย อาทิ รายการปีเดียวที่ยังไม่ประกาศดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างภายในวันที่ 7 เม.ย.63 หรือไม่สามารถลงนามได้ทันภายในวันที่ 31 พ.ค.63 รายการที่สามารถชะลอการดำเนินการโดยไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อราชการ หรือไม่สามารถดำเนินการได้ในปีงบประมาณ 2563
อย่างไรก็ตาม วงเงินงบประมาณรายจ่ายที่นำมาจัดทำร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่ายจำนวน 88,452,597,900 บาท จำแนกเป็น 1.งบประมาณรายจ่ายของหน่วยรับงบประมาณ จำนวน 39,893,111,100 บาท 2.งบประมาณรายจ่ายบูรณาการ จำนวน 13,256,486,800 บาท และ 3.งบประมาณรายจ่ายเพื่อการชำระหนี้ภาครัฐ
ทั้งนี้ รัฐบาลได้คำนึงถึงการบริหารงบประมาณรายจ่ายในไตรมาสที่ 3 และไตรมาสที่ 4 ของปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐที่จำเป็นในการให้บริการสาธารณะภาครัฐ การสนับสนุนค่าใช้จ่ายตามสิทธิและสวัสดิการเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางสังคมและการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่คำนึงถึงการสร้างงานและรายได้ ในระดับพื้นที่ ตลอดจนรายจ่ายตามข้อผูกพันต่าง ๆ ที่ยังสามารถดำเนินการต่อไปได้บนพื้นฐานที่สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน
นายกรัฐมนตรี หวังว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะให้การสนับสนุน และรับหลักการแห่งร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เพื่อรัฐบาลจะได้นำงบประมาณแผ่นดินไปดำเนินการเรื่องที่มีความจำเป็นเร่งด่วนอย่างคุ้มค่า โปร่งใส และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชน
นายกรัฐมนตรี ชี้แจงเพิ่มเติมถึงเหตุผลที่ไม่เสนอ พ.ร.บ.โอนงบฯ ก่อนพ.ร.ก.กู้เงินว่า การออกเป็น พ.ร.ก. จัดทำได้เร็วกว่า และมีการประมาณการแล้วว่า แม้กู้เงินมาก็ยังไม่เพียงพอ เฉพาะค่าใช้จ่ายเยียวยาประชาชน ประมาณการไว้มาก ถึง 55,000 ล้านบาท ซึ่งเงินสำรองจ่ายที่มีอยู่ไม่เพียงพอ
ทั้งนี้ เงิน 2 ก้อนทั้งจากพ.ร.ก.กู้เงิน และพ.ร.บ.โอนงบฯ จะเข้ามาอยู่ในงบกลาง มีกรอบการใช้จ่าย ที่รัฐบาลกำหนดไว้ว่าจะเอาไปใช้จ่ายส่วนใดบ้างตามความจำเป็นของสถานการณ์ โดยเงินที่มีการโอนกลับมาในครั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นงบจากโครงการที่ยังทำสัญญาไม่ได้ โครงการที่แผนรายละเอียดที่ยังไม่สมบูรณ์ ทำให้จำเป็นต้องหยุดโครงการดังกล่าวไว้ก่อน แต่ไม่ได้ตัดโครงการทั้งหมด เมื่อมีความพร้อมให้นำเสนอกลับมาใหม่ได้
ส่วนกรณีที่มีการตัดงบกระทรวงกลาโหมมากกว่ากระทรวงอื่นถึงกว่า 10% จากที่หน่วยงานอื่นที่ปรับลดเพียง 5% นั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามหลักเกณฑ์โครงการใดที่สามารถชะลอได้โดยไม่สร้างความเสียหายแก่ราชการก็สามารถปรับได้มากกว่า 5% อยู่แล้ว ดังนั้นงบประมาณในปี 63 ส่วนใดที่ยังไม่สามารถใช้ได้ในปีนี้ให้โอนกลับมาส่วนกลางก่อนภายใต้การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ไม่ใช่การปรับโอนงบประมาณเพื่อให้รัฐบาลใช้จ่ายได้ง่ายขึ้น
อย่างไรก็ตาม หลายโครงการอยู่เกณฑ์ที่สามารถชะลอได้ ยกเว้นบางโครงการที่เป็นงบผูกพัน โดยเฉพาะการจัดซื้อยุทโธปกรณ์บางรายการที่ทำสัญญาไปแล้วก็ไม่สามารถปรับลดได้ ส่วนการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ราคาแพง ก็เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในชีวิตของผู้ปฏิบัติหน้าที่
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขออย่าห่วงการจัดสรรงบประมาณในส่วนนี้ โดยขอให้เป็นไปตามกฎหมายและให้เจ้าหน้าที่ทำงานไปตามกระบวนการ และค่อยมาดูว่ามีการทุจริตเกิดขึ้นหรือไม่ เพราะตอนนี้ยังเป็นเพียงการตั้งกรอบงบประมาณ เมื่อมีการใช้จ่ายงบประมาณขึ้นมาก็ต้องมีกรรมการคัดกรองและตรวจสอบตั้งแต่ระดับล่าง และหากมีการทุจริตจะลงโทษทุกคนที่เกี่ยวข้องโดยไม่ละเว้น การจัดสรรงบประมาณไม่ใช่เพื่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เพื่อคนไทยทุกคน และจะดูแลคนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม
“การใช้จ่ายงบกลางนั้นมีขั้นตอน ไม่ใช่อำนาจของนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียว หน่วยงานที่จะขอใช้เงินนั้นสามารถเสนอโครงการมายัง ครม.ได้ ซึ่งผมฐานะหัวหน้า ครม.ต้องพิจารณาอนุมัติในกรอบของ ครม.ซึ่งกระบวนการนั้นต้องฟังความต้องการของประชาชน และเสนอผ่านองค์การบริหารส่วนจังหวัด…ส่วนการทำงานทั้งหมด ขออย่าห่วงมาก ให้กฎหมายและเจ้าหน้าที่ทำงาน จากนั้นจึงมาติดตามว่าระหว่างการทำนั้นทุจริตหรือไม่ ตอนนี้ยังไม่มีงบ” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 มิ.ย. 63)
Tags: งบประมาณรายจ่าย, ประยุทธ์ จันทร์โอชา, พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย, ภัยพิบัติ, โควิด-19