น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า พ.ร.ก.กู้เงิน 3 ฉบับ ที่เกี่ยวข้องกับการเยียวยา และการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่ผ่านสภาผู้แทนราษฎรไปนั้น ในส่วนของการกู้เงิน รัฐบาลจะดำเนินการกู้เงินเพียง 1 ล้านล้านบาทเท่านั้น
ในส่วนพ.ร.ก.ซอฟต์โลน วงเงิน 5 แสนล้านบาท และพ.ร.ก.ดูแลเสถียรภาพในภาคการเงินอีก 4 แสนล้านบาท เป็นการให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไปบริหารจัดการสภาพคล่องเพื่อไปปล่อยกู้ให้กับธุรกิจเอสเอ็มอีและให้สถาบันการเงินไปดูแลบริษัทขนาดใหญ่ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับหนี้สาธารณะ
โดยในวันนี้ ครม.ได้รับทราบรายงานสัดส่วนหนี้สาธารณะ ตามมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ
“สัดส่วนหนี้สาธารณะที่เกิดขึ้นจริงในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา (เดือนตุลาคม 2562 – มีนาคม 2563) ยังคงอยู่ภายใต้กรอบการบริหารหนี้สาธารณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐกำหนด”
น.ส.รัชดาระบุ
กรอบการบริหารหนี้สาธารณะตามมาตรา 50 | กรอบที่กำหนด | สัดส่วนหนี้ที่เกิดขึ้นจริง |
(1) สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ | ไม่เกินร้อยละ 60 | 41.69 |
(2) สัดส่วนภาระหนี้ของรัฐบาลต่อประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณ | ไม่เกินร้อยละ 35 | 28.26 |
(3) สัดส่วนหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อหนี้สาธารณะทั้งหมด | ไม่เกินร้อยละ 10 | 2.73 |
(4) สัดส่วนภาระหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อรายได้จากการส่งออกสินค้าและบริการ | ไม่เกินร้อยละ 5 | 0.18 |
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 มิ.ย. 63)
Tags: พ.ร.ก.กู้เงิน, รัชดา ธนาดิเรก, หนี้สาธารณะ, เศรษฐกิจไทย