น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า สรท. คงคาดการณ์การส่งออกไทยในปี 2563 หดตัว -8% บนสมมติฐานค่าเงิน 30.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ (อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2563 = 31.81 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ (โดยอัตราแลกเปลี่ยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 31.80 – 32.30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ)
โดยมีปัจจัยบวกสำคัญ ได้แก่ 1) การส่งออกกลุ่มสินค้าอาหารที่มีภาพรวมการขยายตัวได้ดี ในช่วงการระบาดของโควิด-19 จากความต้องการสินค้ากลุ่มอาหารเพื่อดำรงชีวิตประจำวันในช่วงมาตรการ lockdown ในหลายประเทศ อาทิ ผัก ผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ไก่สดแช่แข็ง และแปรรูป และอาหารทะเลแช่แข็ง 2) การผ่อนคลายมาตรการ Lockdown ภายในประเทศ ทำให้ระบบการผลิต ระบบโลจิสติกส์และการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ เริ่มกลับมาดำเนินการใกล้เคียงกับปกติ ส่งผลให้การส่งออกสินค้า ขยายตัวในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและอาหารที่จำเป็น และ 3) การส่งออกทองคำเป็นปัจจัยชั่วคราวที่ช่วยดึงตัวเลขภาคการส่งออกให้มีการขยายตัวในช่วงสถานการณ์ความไม่นอนของการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19
ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงที่อาจเป็นอุปสรรคสำคัญ ได้แก่ 1) ความไม่แน่นอนของการระบาดของโควิด-19 ระยะต่อไป ทำให้หลายประเทศยังคงมาตรการ Lockdown อย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและอาจส่งผลให้ความต้องการสินค้าของตลาดโลกลดลง โดยเฉพาะสินค้าคงทนและสินค้าอุตสาหกรรม อาทิ ยานยนต์และเครื่องปรับอากาศ ประกอบกับผลจากกระบวนการดำเนินงานด้านเอกสารที่ล่าช้าเนื่องด้วยจำนวนพนักงานที่ลดลงในช่วง work from home
2) ค่าเงินบาทที่เริ่มมีแนวโน้มกลับมาแข็งค่าขึ้นตลอดเดือนพฤษภาคม 2563 อันเนื่องมาจากของสถานการณ์การแพร่ระบาดในไทยดีกว่าหลายประเทศ ทำให้ถูกมองว่าเป็น Safe heaven อีกครั้ง กอปรกับตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาซึ่งต่ำกว่าคาดการณ์ กลายเป็นปัจจัยกดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง อาจส่งผลกระทบกับความเปราะบางของเศรษฐกิจ และซ้ำเติมผู้ส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา
3) ราคาน้ำมันที่เริ่มกลับมาสู่ขาขึ้นได้อีกครั้งหลังจากสถานการณ์ระบาดโควิด-19 ในหลายประเทศเริ่มคลี่คลาย และมีการผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันดิบเริ่มกลับมาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีแรงหนุนจากข้อตกลงของกลุ่มโอเปกและพันธมิตร เพื่อปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบลง 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งอาจส่งผลต่อต้นทุนของผู้ประกอบการส่งออกที่เพิ่มสูงขึ้น
4) ความขัดแย้งที่เริ่มกลับมาปะทุอีกครั้งระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน จากการที่สหรัฐอเมริกากล่าวหาว่าจีนเป็นต้นเหตุของการแพร่ระบาดและมีแนวโน้มที่จะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศจีน รวมถึงการเพิกถอนการจดทะเบียนของบริษัทสัญชาติจีนในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ และการกดดันจีนผ่านการสนับสนุนผู้ประท้วงในฮ่องกง ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันของการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจทั่วโลกได้
ทั้งนี้ สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย มีข้อเสนอแนะที่สำคัญ ดังนี้ 1) ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยรักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้แข็งค่ากว่า 34 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ 2) เร่งใช้งบประมาณภาครัฐเพื่อลงทุนสร้างความยั่งยืนให้กับระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการปรับตัวไปสู่ Digital disruption ของภาครัฐ 3) สนับสนุนให้ประเทศไทยเข้าร่วมเจรจา CPTPP เพื่อสร้างแรงกระตุ้นให้กับระบบเศรษฐกิจ โดยสงวนสิทธิ์ให้สามารถถอนตัว หากทราบรายละเอียดเงื่อนไขหรือไม่สามารถเจรจาให้เกิดประโยชน์ในภาพรวมของประเทศ รวมถึงเร่งผลักดันการเจรจา FTA อื่นๆ อาทิ RCEP Thai-EU เป็นต้น 4) พิจารณาการค้าในรูปแบบ Trade to Localization มุ่งเน้นไปที่ประเทศเพื่อนบ้านใน ASEAN and CLMV (CLMV is our home market) เนื่องจากเป็นตลาดที่ใกล้ชิด และสามารถขนส่งข้ามแดนได้โดยง่าย และสนับสนุนให้มีการกำหนดนโยบายเพื่อสร้างตลาดเป็นหนึ่งเดียว (Single market) และพัฒนาแผนการขนส่งข้ามแดนที่สามารถปฏิบัติได้ต่อเนื่อง
5) ขอให้ภาครัฐพิจารณาส่งเสริมรายอุตสาหกรรมที่มี Potential ที่เกี่ยวเนื่องในช่วงสถานการณ์ดังกล่าวเพื่อกระตุ้นปริมาณการส่งออก อาทิ สินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์ยาง (ในกลุ่มเวชภัณฑ์ทางการแพทย์) กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ กลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติก และ 6) เสนอให้ ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พิจารณาปลดล็อคธุรกิจทั้งทางด้านการค้าและบริการในภาคส่วนต่างๆ เพิ่มเติมภายใต้การติดตามควบคุมอย่างใกล้ชิดเพื่อให้ธุรกิจสามารถกลับมาดำเนินกิจกรรมได้คล่องตัวมากขึ้น
สำหรับการส่งออกเดือนเมษายน 2563 มีมูลค่า 18,948 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 2.12% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การส่งออกในรูปเงินบาทเท่ากับ ล้านบาท 613,979 ขยายตัว 5.32% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ในขณะที่การนำเข้าในเดือนเมษายน 2563 มีมูลค่า 16,486 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว -17.13% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน (YoY) และการนำเข้าในรูปของเงินบาทมีมูลค่า 541,019 ล้านบาท หดตัว -14.61% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้ เดือนเมษายน 2563 ประเทศไทยเกินดุลการค้า 2,462 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และ 72,960 ล้านบาท (การส่งออกเมื่อหักทองคำ น้ำมันและอาวุธยุทธปัจจัย เดือนเมษายนการส่งออกจึงหดตัวร้อยละ -7.53)
ขณะที่ภาพรวมช่วงเดือนม.ค.-เม.ย. ปี 2563 ไทยส่งออกรวมมูลค่า 81,620 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 1.19% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นมูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทที่ 2,517,136 ล้านบาท หดตัว -1.07% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 75,224 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว -5.72% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือคิดเป็นมูลค่า 2,349,710 ล้านบาท หดตัว -8.06% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ช่วงเดือน ม.ค.- เม.ย. 2563 ประเทศไทยเกินดุลการค้า 6,396 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และ 167,426 ล้านบาท (การส่งออกเมื่อหักทองคำและน้ำมันน้ำมันและอาวุธยุทธปัจจัย เดือนม.ค. – เม.ย. การส่งออกหดตัว -0.96%) การส่งออกในเดือนเมษายน กลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวที่ 4.0% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน
โดยสินค้าที่ขยายตัวได้ดีอยู่ คือ ข้าว ผัก ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแปรรูป ไก่สด แช่เย็นแช่แข็ง และแปร อาหารสัตว์เลี้ยง สิ่งปรุงรสอาหาร แต่สินค้ากลุ่มที่หดตัวคือ ยางพารา น้ำตาลทราย ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เครื่องดื่ม ขณะที่ กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวที่ 4.0% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน โดยกลุ่มสินค้าที่มีการขยายตัว ได้แก่ ทองคำ ยานพาหนะอื่นๆ และส่วนประกอบ อากาศยาน ยานอวกาศ และส่วนประกอบ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด แผงวงจรไฟฟ้า ขณะที่สินค้ากลุ่มที่หดตัว อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน อัญมณีและเครื่องประดับไม่รวมทองคำ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ
น.ส.กัณญภัค กล่าวว่า สรท.ได้ศึกษาข้อมูลวิจัยและหารือร่วมกับสมาคมการค้าและกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศ ต่อประเด็นการเข้าร่วมเจรจา CPTPP (Comprehensive and Progressive Trans-pacific Partnership) และเห็นว่า “ประเทศไทยควรเข้าร่วมเจรจา CPTPP เพื่อสร้างแรงกระตุ้นให้กับระบบเศรษฐกิจ การลงทุน และการค้าระหว่างประเทศ โดยสงวนสิทธิ์ให้สามารถถอนตัว หากทราบรายละเอียดเงื่อนไขที่ชัดเจนว่าก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี และไม่สามารถเจรจาแก้ไขให้เกิดประโยชน์สูงสุดในภาพรวมของประเทศ” โดยมีข้อเสนอแนะและเงื่อนไขการเจรจาที่สำคัญ ประกอบด้วย
1. จำเป็นต้องสร้างความชัดเจนเกี่ยวกับรายละเอียดและเจรจาเพื่อรักษาผลประโยชน์สูงสุดของประเทศ โดยเฉพาะในเงื่อนไขที่ยังมีข้อกังวล อาทิ
1.1 การเสียผลประโยชน์ของเกษตรกรจาก UPOV 1991 และการพัฒนาพันธุ์พืชของไทย
1.2 ความชัดเจนในการควบคุมผลผลิตและพืช GMO
1.3 ประเด็นด้านเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวเพื่อเจรจาต่อรอง ตามอนุสัญญา ILO มาตรา 87 และ 98
1.4 การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ
1.5 เงื่อนไขเกี่ยวกับสินค้า Remanufactured
1.6 การกำกับดูแลการใช้กฎแหล่งกำเนิดสินค้า
1.7 ความชัดเจนเกี่ยวกับ Waiver of Customs Duty
1.8 มาตรการรองรับการเปิดเสรีภาคบริการสาขาโลจิสติกส์และการขนส่ง
1.9 การบังคับใช้กฎหมายแข่งขันทางการค้า เพื่อป้องกันการผูกขาด เป็นต้น
2. สิทธิประโยชน์และเงื่อนไขรายกลุ่มสินค้า ต้องไม่ต่ำหรือได้ประโยชน์น้อยกว่ากรอบเจรจาอื่นซึ่งไทยลงนามแล้ว
3. ควรเจรจาในลักษณะทวิภาคี (Bilateral Agreement) กับประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา และเม็กซิโก ควบคู่กัน เพื่อให้มีความคืบหน้ากรณีไม่สามารถหาข้อสรุปในเวที CPTPP
4. ยกระดับความสามารถภายในประเทศ อาทิ
4.1 เร่งแก้ไขกฎหมายภายในประเทศที่ล้าหลังให้สอดคล้องกับธรรมเนียมปฏิบัติทางการค้าที่เป็นสากล
4.2 เร่งยกระดับการอำนวยความสะดวกทางการค้า ตามแนวทางของ Trade Facilitation Agreement ภายใต้องค์กรการค้าโลก (WTO’s TFA)
4.3 ยกระดับมาตรฐานการเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ ของประเทศ ตั้งแต่ระดับเกษตรกร ผู้ประกอบการรายย่อย จนถึงระดับอุตสาหกรรม ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยสามารถแข่งขันได้ หลีกเลี่ยงการกีดกันทางการค้าในอนาคต และป้องกันการตีตลาดจากผู้ประกอบการต่างชาติที่ด้อยคุณภาพ
4.4 จัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาระบบอัตโนมัติและธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถทดแทนการใช้แรงงาน โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าว เพื่อรองรับผลกระทบจากอนุสัญญา ILO
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 มิ.ย. 63)
Tags: CPTPP, กัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์, ส่งออก, สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย, สรท.