นพ.พลวรรธน์ วิทูรกลชิต ผู้ตรวจราชการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ในฐานะรองหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการด้านข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กล่าวถึงกรณีผู้ใช้มือถือ Apple ได้รับ SMS ข้อความโฆษณาชักชวนเล่นพนัน มาจากการโหลด”ไทยชนะ” ยืนยันว่าไม่เกี่ยวข้องกับแพลตฟอร์ม หรือแอปพลิเคชั่น “ไทยชนะ” แต่เวลามาเกี่ยวข้องกันพอดี โดย ข้อความดังกล่าวมาจาก iMessage ฟรี คล้ายกับไลน์
โดยยืนยันว่า แอปพลิเคชั่นไทยชนะ ไม่ได้เข้าถึงที่เก็บข้อมูล หรือละเมิดสิทธิส่วนบุคคล รวมไปถึงไม่มีการส่งข้อมูลพิกัด Location ของผู้ใช้งานออกไปแต่อย่างใด
“ไม่มีข้อมูลส่วนบุคคลใดๆ ที่ถูกส่งไปยัง server นอกเหนือจากที่ขอ เราขอเพียงเปิดกล้องเพื่อสแกนคิวอาร์โค้ด และโลเคชั่นเพื่อเช็คอิน ขณะที่ในส่วนของความปลอดภัยในเรื่องป้องกันข้อมูลรั่วไหลของแอป และมาตรฐานความปลอดภัยที่แอปมือถือต้องทำ (Certification Pinning) ซึ่งเป็นวิธีการทางเทคนิคที่ป้องกันการดักจับหรือดักเอาข้อมูล ย้ำว่าไม่มีการนำข้อมูลส่วนบุคคลส่งไปที่อื่น นอกเหนือจากที่ขออนุญาต ข้อมูลเหล่านี้จะถูกเก็บอยู่ในแพลตฟอร์มไทยชนะ จะถูกนำไปใช้กับกรมควบคุมโรคและรัฐบาล แต่ไม่ถูกใช้ในการอื่น นอกเหนือจากเพื่อวัตถุประสงค์ในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19” นพ.พลวรรธน์กล่าว
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดีอีเอส กล่าวว่า จากกรณีปัญหาข้อความ SMS สแปมที่ส่งเข้ามาทาง iMessage บนไอโฟนและไอแพด ทาง Apple ให้แจ้งไปยังผู้ให้บริการมือถือ ทำการบล็อกไม่ให้ส่งโฆษณา เนื่องจาก SMS สแปมเหล่านี้ ส่งผ่านมาทาง iMessage ซึ่งเป็นแอปที่อยู่บนอุปกรณ์พกพาที่ใช้ระบบ iOS ของ Apple โดยล่าสุดในเพจเฟซบุ๊ก iPhone Thailand ได้ให้คำแนะนำวิธีการจัดการกับ SMS โฆษณารบกวนทาง iMessage เบื้องต้นแนะนำปิดรับข้อความ iMessage วิธีการเข้าไปตั้งค่า และ Report มีวิธีดำเนินการ 3 แบบ
ได้แก่ แบบที่ 1 คลิกที่ด้านบนที่โชว์ว่า “3 คน” จากนั้นเลือก “ข้อมูล” และคลิก “กดออกจากการสนทนา” 2 รอบ จากนั้นกดเสร็จสิ้น ก็กด ” แจ้งว่าเป็นขยะ” แบบที่ 2 เข้าไปที่ “การตั้งค่า” เลือก “ข้อความ” จากนั้นคลิกที่ “ฟิลเตอร์ผู้ส่งที่ไม่รู้จัก” และแบบที่ 3 สำหรับคนที่ไม่ค่อยได้ใช้ iMessage ให้เข้าไปที่ “การตั้งค่า” เลือก “ข้อความ ” จากนั้นคลิกปิด “iMessage” ซึ่งในข้อนี้หากต้องการใช้งานแอป iMessage ก็สามารถกลับมาเปิดใหม่ได้
“เน้นย้ำว่า ขอทุกท่านอย่าตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพเพราะความประมาท อย่าหลงเชื่อตัวล่อ เช่นเงินรางวัล ของฟรี และไม่แนะนำให้ทดลองเปิดเว็บไซต์ เพราะข้อความนั้นอาจเป็นพาหะนำพาไวรัสคอมพิวเตอร์เข้าสู่โทรศัพท์ของท่านได้” รมว.ดีอีเอสกล่าว
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 28 พ.ค. ที่ผ่านมา ศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์ประเทศไทย (ไทยเซิร์ต) ได้แจ้งเตือนว่า พบแอปพลิเคชั่นที่ใช้โลโก้และชื่อคล้าย ไทยชนะ เผยแพร่บน Google Play Store โดยอ้างว่าใช้เพื่อสแกน QR code ณ เวลาที่พบมียอดดาวน์ โหลดไปแล้วประมาณ 1,000 ครั้ง
อย่างไรก็ตาม แอปพลิเคชั่นดังกล่าวไม่ใช่แอปพลิเคชั่นทางการ ของศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19 (ศบค.) ดังนั้น ผู้ใช้ควรพิจารณาก่อนดาวน์โหลด ซึ่งจากการตรวจสอบ แอปพลิเคชั่นนี้มีจุดประสงค์หลักเพื่อแสดงโฆษณา โดยมีการขอสิทธิที่อาจส่งผลต่อความเป็นส่วนตัวหรือการใช้งาน ได้ เช่น โทรออก เข้าถึงข้อมูลในโทรศัพท์ และแก้ไขการตั้งค่า launcher ในเครื่อง
สำหรับรายงานภาพรวมการใช้งานไทยชนะเมื่อวันที่ 31 พ.ค. 63 มีจำนวนกิจการที่ลงทะเบียน 133,694 ร้านค้า จำนวนผู้ใช้งานรวม 18,587,269 คน แบ่งเป็น การเข้าใช้งานผ่านเว็บไซต์ไทยชนะ 18,523,417 คน และเข้าใช้งานผ่านแอปไทยชนะ63,852 คน ขณะที่ แอปไทยชนะ มียอดการดาวน์โหลดแล้ว 120,076 ครั้ง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 มิ.ย. 63)
Tags: ดีอีเอส, พลวรรธน์ วิทูรกลชิต, พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์, โควิด-19, ไทยชนะ