นายสมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) เปิดเผยว่า ขณะนี้ปริมาณการจราจรบนทางด่วนและรถไฟฟ้าเริ่มฟื้นตัวขึ้นหลังจากได้รับผลกระทบจากการประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พร้อมกับการประกาศเคอร์ฟิว และใช้มาตรการคุมเข้มปิดหลายสถานที่เสี่ยงเพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ทำงานจากบ้านส่งผลให้การเดินทางลดลง
ทั้งนี้ กิจการทั้งสองประเภทได้รับผลกระทบหนักสุดในเดือน เม.ย.63 ที่ปริมาณจราจรบนทางด่วนมีรถวิ่ง 5-6 แสนเที่ยว/วัน ขณะที่รถไฟฟ้ามีผู้โดยสารไม่ถึงแสนเที่ยว/วัน
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เพิ่งกลับมาดีขึ้นในเดือน พ.ค.63 หลังจากมีการผ่อนปรนมาตรการต่าง ๆ ทำให้ผู้ใช้ทางด่วนกลับคืนมา 80-90% ของระดับปกติแล้ว หรือคิดเป็นประมาณ 9 แสนเที่ยว/วัน ส่วนรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินมียอดผู้โดยสารเฉลี่ย 1.6 แสนเที่ยว/วัน จากปกติ 4 แสนเที่ยว/วัน และคาดว่าในไตรมาส 3/63 การเดินทางจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
นายสมบัติ กล่าวว่า ก่อนเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาด ในเดือนม.ค.63 ปริมาณจราจรบนทางด่วนอยู่ที่ 1.1 ล้านเที่ยว/วัน และจำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้าอยู่ที่ 4.5-4.6 แสนเที่ยว/วัน และในเดือน ก.พ.-มี.ค.เริ่มทยอยลดลง 20-25% จนในเดือน เม.ย.ปรับตัวลงต่ำสุด โดยปริมาณจราจรบนทางด่วนลดลงไป 50% ส่วนรถไฟฟ้ามีจำนวนผู้โดยสารลดลงถึง 70%
อย่างไรก็ตามในเดือนพ.ค. สถานการณ์เริ่มดีดกลับ ปริมาณการจราจรบนทางด่วนเริ่มเห็นตัวเลขจราจร 1 ล้านเที่ยว/วันในช่วงปลายเดือนพ.ค. และจำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้า เริ่มเพิ่มขึ้นมาโดยเมื่อวันที่ 29 พ.ค.ที่ผ่านมามีจำนวน 1.7-1.8 แสนเที่ยว/วัน ขณะที่ในช่วงเดือนมิ.ย. ทางการผ่อนปรนมาตรการต่าง ๆ อีกในเฟส 3 ก็คาดว่าจำนวนผู้โดยสารน่าจะปรับขึ้นเป็น 2 แสนเที่ยว/วัน และปริมาณจราจรบนทางด่วน 1 ล้านเที่ยว/วัน หากมีการผ่อนคลายมาตรการในเดือน ก.ค. คาดว่าปริมาณการเดินทางจะกลับมาเกือบเป็นปกติ
แต่จากมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) การให้บริการรถไฟฟ้าต้องปรับให้มีพื้นที่เว้นระยะห่างกันระหว่างผู้โดยสารประมาณ 1 เมตร ทำให้พื้นที่รองรับได้หายไป 3-4 เท่า หรือทำให้ capacity หายไป 75% แต่บริษัทจะนำรถไฟฟ้าออกมาวิ่งเต็มที่ เพื่อรองรับในช่วงพีคเวลาเช้าและเย็น จำนวน 49 ขบวน โดยบางขบวนจะจัดเป็นการวิ่งเสริมสถานีที่มีผู้โดยสารหนาแน่น และจะกันผู้โดยสารเข้าสู่ชานชาลา หากมีจำนวนมากเกินไป ทั้งนี้ คาดว่าจำนวนผู้โดยสารเริ่มกลับมามากขึ้นในไตรมาส 4/63 บนสมมติฐานว่าไม่มีการเว้นระยะห่างทางสังคม
ทั้งนี้ ในวันที่ 3 ก.ค.63 บริษัทจะปรับขึ้นค่าโดยสารตามสัญญา จำนวน 1 บาท/เที่ยว โดยขึ้นบางสถานี แต่กรอบค่าโดยสารยังเหมือนเดิม 16-42 บาท/เที่ยว แต่จะมีโปรโมชั่นให้ผู้โดยสาร ที่จะเก็บราคาเดิมอยู่ ชั่วระยะเวลาหนึ่ง
นายสมบัติ คาดว่าในปี 64 จำนวนผู้โดยสารจะกลับมาเติบโตมากกว่า 4.5 แสนเที่ยว/วัน แต่ก็ขึ้นกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจรายทางรถไฟฟ้า ที่ปัจจุบันหลายโครงการชะลอออกไป และตัวเลขการขยายทางเศรษฐกิจ (GDP) เป็นอย่างไร ซึ่งปกติจำนวนผู้โดยสารจะปรับขึ้น 5-10% ต่อปี
อย่างไรก็ดี เชื่อว่าการเปิดเดินรถสายสีเขียวเหนือ (หมอชิต-คูคต) ในปลายปี 63 จะช่วยผลักดันให้ผู้โดยสารเข้าระบบรถไฟฟ้ามากขึ้น โดยคาดการณ์ที่ 1 หมื่นเที่ยว/วัน นอกจากนี้จะมีรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) และสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) ที่จะเปิดเดินรถปลายปี 64 ก็จะช่วยสนับสนุนตัวเลขผู้โดยสารให้เติบโตมากขึ้น ทำให้คาดการณ์ว่า รายได้ในปี 64 น่าจะเติบโตราว 20%
ทั้งนี้ บริษัทมีแผนลงทุนโดยจะเข้าร่วมประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มในส่วนของการเดินรถทั้งระบบ และงานก่อสร้างสายสีส้มตะวันตก ที่คาดว่าจะเปิดประมูลปลายไตรมาส 2/63 หรือต้นไตรมาส 3/63 ซึ่ง BEM จะร่วมกับบมจ. ช.การช่าง (CK) เข้าร่วมประมูล ซึ่งโครงการนี้จะให้เอกชนเดินรถทั้งสายรวมงานซ่อมบำรุงด้วย โดยในส่วนสายสีส้มตะวันออก อยู่ระหว่างกำลังก่อสร้าง คาดว่าจะให้เดินรถได้ก่อน ขณะที่สายสีส้มตะวันตก ก็จะให้ทำงานโยธาด้วย ส่วนจะมีผู้ร่วมทุนอื่นเข้าร่วมดำเนินการด้วย ก็คงจะอยู่ในระยะที่ 2 อาจจะเป็นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ หรือซัพพลายเออร์ อาทิ ซีเมนส์ เป็นต้น
นอกจากนี้ภาครัฐก็ยังมีโครงการสาธารณูปโภคในระบบรางต่อเนื่อง ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงิน ระบบรางในเชียงใหม่ ภูเก็ต ขอนแก่น โดยเห็นว่าจากสถานการณ์โควิด-19 จะทำให้รัฐบาลใช้วิธีการให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) มากกว่าเดิม ส่วนโครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน (สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง-อู่ตะเภา) ขณะนี้ยังไม่ได้รับหารือในรายละเอียดกับจากกลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ซึ่งเป็นผู้นำในโครงการนี้
นายสมบัติ กล่าวอีกว่า ในเดือน มิ.ย. นี้บริษัทจะเสนอขายหุ้นกู้ มูลค่า 3 พันล้านบาท มีอายุ 4 ปี 10 ปี และ 12 ปี เพื่อทดแทนหุ้นกู้เดิมที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในเดือน ต.ค.นี้ จำนวน 2.5 พันล้านบาท และอีก 500 ล้านบาทใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน โดยในสัปดาห์นี้จะกำหนดอัตราดอกเบี้ย และคาดจะเปิดขายในสัปดาห์หน้าให้กับนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่ ทั้งนี้ บริษัทมีหุ้นกู้รวมทั้งหมด 3.8 หมื่นล้านบาท มีต้นทุนดอกเบี้ยประมาณ 3%
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 มิ.ย. 63)
Tags: BEM, ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ, พ.ร.ก.ฉุกเฉิน, สมบัติ กิจจาลักษณ์