นายธีรชัย ลีนะบรรจง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เอื้อวิทยา (UWC) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 1/63 บริษัทมีกำไรขั้นต้น 39.59 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน ที่ขาดทุนขั้นต้นกว่า 80 ล้านบาท ขณะที่มีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) 13.48 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุน 85 ล้านบาท เป็นผลมาจากการปรับลดต้นทุนการผลิตด้านกำลังคน (Manpower) และควบคุมค่าใช้จ่ายที่ไม่มีผลต่อคุณภาพ รวมทั้งปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานทั้งด้านการผลิตและการจัดการ
โดยมีรายได้รวม 257 ล้านบาท ลดลง 27%จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นรายได้ธุรกิจเสาส่งไฟฟ้าแรงสูงและเสาโทรคมนาคมประมาณ 136 ล้านบาท ลดลง 50.87% เนื่องจากลูกค้าปรับแผนรับสินค้าบางส่วน จึงทำให้ยังไม่ได้รับรู้รายได้ตามยอดที่ผลิตในไตรมาสแรก ส่วนธุรกิจโรงไฟฟ้า มีรายได้จากการขายไฟฟ้า 122 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าได้มีการปรับปรุงส่วนที่สำคัญเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงทำให้เดินเครื่องได้ต่อเนื่องดีขึ้นกว่าช่วงปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานในธุรกิจโรงไฟฟ้าจะดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดกว่าช่วง 1-2 ปีก่อน โดย UWC ได้ว่าจ้างบริษัทที่มีความชำนาญในการเดินเครื่องและบำรุงรักษา (O&M) ซี่งมีการรับประกันปริมาณขายไฟและต้นทุนการผลิตไฟฟ้าทั้ง 3 โรง อย่างไรก็ดี UWC มีแผนปรับโครงสร้างเงินลงทุนในกลุ่มบริษัท เพื่อลดสัดส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E Ratio) ให้ลดลง และมุ่งเน้นในธุรกิจหลักที่เป็น Core Business ที่จะสร้างกำไรให้ได้อย่างต่อเนื่องจากนี้ไป
“ผลประกอบการของ UWC ได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว หลังการปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่ ด้วยการหยุดดำเนินธุรกิจในบริษัทย่อยที่ขาดทุนและไม่ใช่ธุรกิจหลัก (Non-Core Business) ควบคู่ไปกับการปรับโครงสร้างทีมบริหารที่จะช่วยกันสร้างวิธีการทำงานแบบใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งด้านการผลิต การควบคุมต้นทุน และการติดตามกำกับธุรกิจที่เข้าไปลงทุน รวมถึงการลงทุนเครื่องจักรใหม่ที่มีความทันสมัยและประสิทธิภาพสูง โดยทั้งหมดที่ได้ดำเนินการมาจะส่งผลดีให้กับผลการดำเนินงานของ UWC ต่อไปหลังจากนี้”นายธีรชัย กล่าว
นายธีรชัย กล่าวว่า ด้านธุรกิจไฟฟ้า ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีแผนเปิดประมูลโครงการเสาส่งไฟฟ้าแรงสูงและสถานีไฟฟ้าย่อยในปีนี้ แต่จากการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทางกฟผ.จึงได้เลื่อนการเปิดประมูลโครงการออกไปประมาณ 2-3 เดือน ส่วนธุรกิจเสาเทเลคอม ทาง UWC ได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นผู้ให้บริการเสาโทรคมนาคมกับหน่วยงานกำกับด้านเทคโนโลยีการสื่อสารและโทรคมคมในต่างประเทศแล้ว โดยในปี 2563 นี้ UWC ได้เริ่มโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับโทรคมนาคมในต่างประเทศ ซึ่งเป็นโครงการที่จะสามารถสร้างรายได้และกำไรให้กับบริษัทได้ในระยะยาว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 มิ.ย. 63)
Tags: UWC, กฟผ., ธีรชัย ลีนะบรรจง, หุ้นไทย, เอื้อวิทยา