ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า แม้ว่าสหรัฐและจีนจะลงนามข้อตกลงการค้า เฟส 1 แล้ว แต่ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีนยังคงมีความไม่แน่นอนสูง และน่าจะไม่จบในระยะอันใกล้
โดยสถานการณ์ที่จะมีผลต่อไทยนั้น ท่ามกลางบรรยากาศที่เหมือนจะคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้นจากการบรรลุความตกลงทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนในเฟส 1 ได้ตามที่หลายฝ่ายคาดหวัง แต่เงื่อนไขทางการเมืองในฝั่งสหรัฐฯ ในช่วงเวลาใกล้การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐนี้ นับเป็นจุดอ่อนไหวที่ต้องจับตาอย่างมาก เพราะสงครามการค้าอาจถูกใช้เป็นหมากสำคัญในเกมการเมือง อันจะมีผลให้ความตกลงระหว่างสหรัฐกับจีนพร้อมเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา
พร้อมมองว่า การส่งออกของไทยคงต้องเผชิญความไม่แน่นอนตลอดปี ทั้งผลจากภาวะเศรษฐกิจของคู่ค้าอย่างสหรัฐกับจีน รวมถึงผลกระทบทางตรงจากสงครามการค้าที่มีส่วนบรรเทาเบาบางลงตามการลดภาษีของสหรัฐฯ ต่อสินค้าจีนบางรายการ ทำให้ผลจากการชะลอตัวของการส่งออกสินค้าไทยที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตของจีนเหลือ 600 ล้านดอลลาร์ฯ เท่านั้น จากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ระหว่าง 1,000-2,500 ล้านดอลลาร์ฯ
อย่างไรก็ดี มีความเสี่ยงที่ไทยจะได้รับผลกระทบทางอ้อมที่เกิดจากเงื่อนไขที่จีนต้องให้น้ำหนักกับการนำเข้าจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นใน 2 ปี ข้างหน้า ซึ่งแน่นอนว่าสินค้าเกษตรของไทยที่เกี่ยวข้องหลักๆ มีเพียงถั่วเหลืองเท่านั้นที่อาจเผชิญผลทางด้านราคาที่สูงขึ้นเมื่อต้องนำเข้าจากสหรัฐฯ หรืออาจต้องหาแหล่งนำเข้าสำรอง
แต่สิ่งที่ต้องเฝ้าระวังอย่างมากหลังจากนี้เป็นสินค้าอื่นที่ถูกนำมาระบุเพิ่มเติมในข้อตกลง ซึ่งในประเด็นนี้จีนเองคงต้องให้น้ำหนักในการเร่งนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ แต่ขณะเดียวกันก็คงต้องลดการนำเข้าจากแหล่งอื่น โดยสินค้าไทยที่เกี่ยวข้องอยู่ในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และเคมีภัณฑ์มีความเสี่ยงที่ไทยอาจต้องสูญเสียตลาดจีน
“การส่งออกของไทยในภาพรวม น่าจะยังเผชิญความไม่แน่นอนตลอดปี ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจของคู่ค้าอย่างสหรัฐฯและจีน ที่ต้องรับมือกับความเปราะบางของความตกลงระหว่างกันในระยะข้างหน้า” บทวิเคราะห์ระบุ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่ต้องติดตามว่าทางการจีนจะสามารถทำตามข้อตกลงและมีผลสัมฤทธิ์ทางการปฏิบัติหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องการเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ให้มีมูลค่าสูงกว่าในปี 2560 อีก 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในระยะเวลา 2 ปี ซึ่งเป็นโจทย์ที่มีความท้าทายอย่างมาก และเป็นการยากที่สิ่งที่ทางการจีนให้คำมั่นไว้ จะนำมาซึ่งการนำเข้าของภาคเอกชนจีนทั้งหมด
“โดยทั้งปี 2560 มูลค่าการนำเข้าสินค้าทั้งหมดของจีนจากสหรัฐฯ มีมูลค่าเพียง 1.55 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ดังนั้น ตามข้อตกลงนี้ ทางการจีนต้องนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ มูลค่าเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัวในระยะเวลา 2 ปี ซึ่งเป็นไปได้ยากมาก” บทวิเคราะห์ระบุ
ทั้งนี้ ด้วยอุปสงค์ภายในประเทศจีนที่ชะลอลง ประกอบกับราคาสินค้าสหรัฐที่ส่วนใหญ่มีราคาสูงกว่าสินค้าจากประเทศอื่นๆ ส่งผลให้ตามกลไกตลาด ผู้นำเข้าจีนไม่มีแรงจูงใจในการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐเพิ่มขึ้นในปริมาณมากขนาดนั้น
สำหรับประเด็นอื่นๆ เช่น เรื่องทรัพย์สินทางปัญญาและการถ่ายทอดเทคโนโลยี ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าทางการจีนจะมีข้อบังคับใช้อย่างไร เพื่อให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งหากทางการจีนไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงข้อกฎหมายต่างๆ รวมถึงเพิ่มความโปร่งใสในระบบยุติธรรมอย่างมีนัยสำคัญ ประเด็นต่างๆ เหล่านี้อาจจะไม่ได้รับการแก้ไขเท่าที่ควร
นอกจากนี้ ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ น่าจะใช้ประเด็นเหล่านี้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ในการเพิ่มคะแนนนิยมของตนเองก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่จะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2563 ซึ่งการลงนามข้อตกลงทางการค้า Phase 1 ก็เป็นกลยุทธ์เพื่อเพิ่มคะแนนนิยมของทรัมป์ แม้ว่าผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากข้อตกลงการค้า Phase 1 นี้จะมีจำกัด และประเด็นข้อพิพาทหลักๆ ของสงครามการค้ายังไม่ได้ถูกแก้ไขในข้อตกลงนี้
“การต่อรองทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ น่าจะเห็นจุดที่เข้มข้นขึ้นภายใน 6 เดือนข้างหน้า เพราะจะเป็นต้นทุนของทรัมป์ในการเลือกตั้ง” บทวิเคราะห์ระบุ
ทั้งนี้ คะแนนนิยมของทรัมป์ขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจสหรัฐฯ ว่ามีความแข็งแกร่งมากเพียงใด และผลจากข้อตกลงทางการค้าส่งผลให้ฐานเสียงของสหรัฐฯ ได้รับประโยชน์มากเพียงใด ซึ่งหากเศรษฐกิจสหรัฐฯ อ่อนแรงและฐานเสียงของทรัมป์ไม่ได้ผลประโยชน์จากข้อตกลงทางการค้าเท่าที่ควร คะแนนนิยมของทรัมป์อาจจะไม่ดีนัก ดังนั้น ทรัมป์อาจเพิ่มแรงกดดันให้จีนทำตามข้อตกลงมากขึ้น เพื่อให้มีผลงานก่อนการเลือกตั้ง
อีกทั้งสหรัฐฯ และจีนน่าจะไม่สามารถบรรลุข้อตกลงทางการค้า เฟส 2 ได้ในระยะเวลาอันใกล้ โดยสหรัฐฯ น่าจะยังคงภาษีนำเข้าสินค้าจีนในระดับสูง เพื่อบีบให้จีนทำตามข้อตกลงไปจนกว่าจะเป็นที่น่าพอใจ ซึ่งจะส่งผลให้น่าจะไม่มีการลดภาษีนำเข้าสินค้าจีนที่ขึ้นไปก่อนหน้า ไปจนถึงช่วงครึ่งปีแรกของปีหน้าเป็นอย่างน้อย ดังนั้น ผลกระทบของภาษีนำเข้าสินค้าจีนที่อยู่ในระดับสูงน่าจะยังคงอยู่ และจะยังคงสร้างแรงกดดันต่อผู้บริโภคและผู้ผลิตในสหรัฐฯ
ในทางตรงกันข้าม หากสถานการณ์ในภาพรวมปูทางให้นายโดนัลด์ ทรัมป์มีโอกาสชนะการเลือกตั้ง พร้อมกับภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีศักยภาพเพียงพอรับแรงกดดันจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจภายนอกได้ ก็อาจทำให้เรื่องสงครามการค้าทยอยคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น ทั้งสหรัฐฯ และจีนก็น่าจะหันมาอะลุ่มอล่วยเรื่องความคืบหน้าของข้อตกลงใน Phase 1 และมีโอกาสที่จะร่วมกันก้าวเดินต่อไปเพื่อหาทางออกในการลดภาษีสินค้าที่เหลือในระยะที่ 2 (Phase 2) ในช่วงไตรมาส 1 ของปี 2564
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 ม.ค. 63)
Tags: การค้าจีน-สหรัฐ, ข้อตกลงการค้า, ภาษีนำเข้า, ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, สงครามการค้า, ส่งออก, สหรัฐ