จับตาความตึงเครียดจีน-สหรัฐ และ ปลดล็อกเฟส 3
ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในสัปดาห์ถัดไป (1-5 มิ.ย.) ที่ระดับ 31.70-32.10 บาท/ดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สัญญาณความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-จีน รวมถึงสถานการณ์โควิด-19 และการปลดล็อกเศรษฐกิจในประเทศระยะที่ 3
ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี PMI/ISM ภาคการผลิต-ภาคบริการ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร ข้อมูลการจ้างงานภาคเอกชนเดือนพ.ค. รายจ่ายด้านการก่อสร้าง ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนเม.ย. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์
นอกจากนี้ ตลาดอาจรอติดตามผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป ดัชนี PMI ภาคการผลิต-ภาคบริการเดือนพ.ค. ของจีน ญี่ปุ่น และยูโรโซน และอัตราเงินเฟ้อของไทยในเดือนพ.ค. ด้วยเช่นกัน
โดยในรอบสัปดาห์นี้ (25-29 พ.ค.) เงินบาททยอยแข็งค่า หลังขยับอ่อนค่าลงช่วงสั้นๆ ต้นสัปดาห์ตามแรงขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ มีแรงหนุนในฐานะสกุลเงินปลอดภัยท่ามกลางท่าทีที่ตึงเครียดมากขึ้นระหว่างสหรัฐฯ-จีน
อย่างไรก็ดี เงินบาททยอยฟื้นตัวขึ้นในช่วงต่อมา โดยมีแรงหนุนจากทิศทางของสกุลเงินในภูมิภาคที่แข็งค่าขึ้นรับข่าวการพัฒนาวัคซีนรักษาโควิด-19 และการทยอยปลดล็อกกิจกรรมทางเศรษฐกิจในหลายๆ ประเทศ (รวมไทย)
ทิศทางการแข็งค่าของเงินบาทชะลอลงบางส่วนในช่วงปลายสัปดาห์ ขณะที่ตลาดรอติดตามแนวนโยบายของสหรัฐฯ ต่อกรณีที่จีนประกาศบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่ในฮ่องกง โดยในวันศุกร์ (29 พ.ค.) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 31.81 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับระดับ 31.90 บาท/ดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (22 พ.ค.)
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 พ.ค. 63)
Tags: Forex, ค่าเงินบาท, อัตราแลกเปลี่ยน, เงินบาท