น.ส.สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การใช้งานบริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ได้รับความนิยมและมีปริมาณการใช้เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบริการโอนเงินและชำระเงิน ทำให้มีผู้สนใจประกอบธุรกิจด้านนี้เพิ่มขึ้นมาก
ปัจจุบัน มีผู้ประกอบธุรกิจการชำระเงินตาม พ.ร.บ.ระบบการชำระเงิน พ.ศ. 2561 จำนวน 118 ราย โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ธปท. มีการอนุญาตให้ผู้ประกอบธุรกิจให้บริการการชำระเงินรายใหม่ไปแล้วจำนวน 17 ราย รวม 32 ใบอนุญาต และอยู่ระหว่างดำเนินการอีก 10 ราย
ทั้งนี้ ธปท.ได้กำหนดกระบวนการพิจารณาอนุมัติใบอนุญาตที่ชัดเจน โดยใช้เวลา 60 วันนับตั้งแต่วันที่ยื่นเอกสารครบถ้วนถูกต้องแล้ว ซึ่งรายละเอียดการขออนุญาตเพื่อประกอบธุรกิจ ได้เผยแพร่ผ่านคู่มือประชาชนบนเว็บไซต์ ธปท. โดยการพิจารณาได้ให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยง รูปแบบการประกอบธุรกิจ ความมั่นคงเข้มแข็งของระบบงาน และการคุ้มครองผู้ใช้บริการ รวมทั้งการปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาลที่ดีและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
น.ส.สิริธิดา กล่าวว่า สำหรับธุรกรรมโอนเงินและชำระเงินที่ได้รับความนิยมสูงสุด คือ พร้อมเพย์ โดย ณ สิ้นเดือนเม.ย.63 มียอดลงทะเบียนแล้ว 52 ล้านหมายเลข ธุรกรรมเฉลี่ย 11 ล้านรายการต่อเดือน และในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด 19 มีจำนวนธุรกรรมสูงสุดถึง 16 ล้านรายการต่อวัน ในวันสิ้นเดือนเม.ย.63 และมีร้านค้าที่รับชำระด้วย QR Code กว่า 6 ล้านจุด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 พ.ค. 63)
Tags: e-Payment, ธนาคารแห่งประเทศไทย, ธปท., พร้อมเพย์, ระบบชำระเงิน, สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา