นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนเมษายน 2563 หดตัวสูงขึ้น จากผลของมาตรการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ที่เข้มงวดทั้งในและต่างประเทศที่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในหลายภาคส่วนต้องหยุดลงชั่วคราว โดยภาคการท่องเที่ยวหดตัวสูงจากการห้ามเดินทางเข้าประเทศไทย การส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำหดตัวสูงขึ้นมากตามอุปสงค์ของประเทศคู่ค้า
เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนหดตัวสูงตามกำลังซื้อที่อ่อนแอลงมาก และมาตรการควบคุมโรคระบาดขณะที่เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชน และการผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวสูงต่อเนื่องตามภาวะอุปสงค์และความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวได้ต่อเนื่องทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน ขณะที่ในเดือนนี้ภาครัฐเริ่มมีการทยอยจ่ายเงินเยียวยาให้ผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ซึ่งจะช่วยพยุงเศรษฐกิจในระยะต่อไป
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบมากขึ้น จากอัตราเงินเฟ้อในหมวดพลังงานตามราคาน้ำมันในตลาดโลกและมาตรการลดค่าไฟฟ้าเพื่อบรรเทาผลกระทบให้ประชาชนของภาครัฐ ขณะที่ตลาดแรงงานเปราะบางขึ้นมาก ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล ส่วนดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายเกินดุลสุทธิจากด้านสินทรัพย์เป็นสำคัญ
จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศหดตัว 100% จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยเป็นผลจากการห้ามเดินทางเข้าประเทศของไทยเพื่อควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในเดือนนี้ ทั้งนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่หายไปส่งผลกระทบมากต่อธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรมและภัตตาคาร และธุรกิจขนส่งผู้โดยสาร
มูลค่าการส่งออกสินค้าหดตัวร้อยละ 3.3% จากระยะเดียวกันปีก่อน หากไม่รวมการส่งออกทองคำ ที่มีมูลค่าสูงเป็นประวัติการณ์ในเดือนนี้ มูลค่าการส่งออกหดตัวสูงที่ 15.9% โดยเป็นการหดตัวสูงในหมวดยานยนต์และชิ้นส่วน สินค้ากลุ่มที่มูลค่าเคลื่อนไหวตามราคาน้ำมันดิบ เครื่องใช้ไฟฟ้า และเครื่องจักรและอุปกรณ์ จากอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าและราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับลดลงมาก อย่างไรก็ดี การส่งออกบางหมวดสินค้ายังขยายตัวได้ อาทิ อิเล็กทรอนิกส์ สินค้าเกษตรแปรรูป และสินค้าเกษตร เนื่องจากเป็นกลุ่มสินค้าที่ได้รับผลดีจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนหดตัวสูงจากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการใช้จ่ายในทุกหมวด จากปัจจัยสนับสนุนด้านกำลังซื้อภาคครัวเรือนที่อ่อนแอลงมาก ทั้งด้านการจ้างงาน รายได้ และความเชื่อมั่น ประกอบกับเป็นผลจากการเลื่อนวันหยุดช่วงเทศกาลสงกรานต์และมาตรการปิดเมืองของไทยเพื่อควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรครุนแรงและขยายวงกว้างไปเกือบทั่วประเทศ แม้ในเดือนนี้ภาครัฐมีการทยอยจ่ายเงินเยียวยาให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้ การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวสูงขึ้น สอดคล้องกับอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่อ่อนแอลง
เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนหดตัวสูงต่อเนื่องจากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่หดตัวสูงในทุกองค์ประกอบ โดยอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่อ่อนแอลงส่งผลให้ผลประกอบการและความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจลดลงมาก ประกอบกับภาคธุรกิจมีกำลังการผลิตส่วนเกินเหลืออยู่มากจึงชะลอการลงทุนออกไป
มูลค่าการนำเข้าสินค้าหดตัวสูงที่ 17.0% จากระยะเดียวกันปีก่อน หากไม่รวมการนำเข้าทองคำ มูลค่าการนำเข้าหดตัวที่ 13.8% โดยเป็นการหดตัวในทุกหมวดสินค้าสำคัญ ทั้งหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง สินค้าทุน และสินค้าอุปโภคบริโภค สอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ลดลง
การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนขยายตัวต่อเนื่องจากระยะเดียวกันปีก่อน ทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน โดยรายจ่ายประจำขยายตัวตามการเบิกจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการ โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ขณะที่รายจ่ายลงทุนขยายตัวจากการเบิกจ่ายทั้งในส่วนของรัฐบาลกลางและรัฐวิสาหกิจ
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวมยังอยู่ในเกณฑ์ดี แม้จะมีความเปราะบางมากขึ้น โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบมากขึ้น จากอัตราเงินเฟ้อในหมวดพลังงานตามราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลง และมาตรการลดค่าไฟฟ้าเพื่อบรรเทาผลกระทบให้ประชาชนของภาครัฐ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังคงเป็นบวกแต่ปรับลดลงต่อเนื่องสอดคล้องกับทิศทางของอุปสงค์ในประเทศ ด้านตลาดแรงงานเปราะบางขึ้น สะท้อนจากจำนวนผู้ขอรับสิทธิ์ว่างงานในระบบประกันสังคมที่เพิ่มขึ้นมาก สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลตามดุลรายได้จากการจ่ายเงินปันผลของภาคธุรกิจเป็นสำคัญ ประกอบกับรายรับจากการท่องเที่ยวลดลงมาก ส่วนดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายเกินดุลสุทธิจากด้านสินทรัพย์เป็นสำคัญ
นายดอน กล่าวว่า เดือนเม.ย.นี้ได้รับผลกระทบชัดเจนจากโควิด-19 จะเห็นว่าเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจเกือบทุกตัวหดตัว มีเพียงการใช้จ่ายภาครัฐที่ขยายตัวได้ เสถียรภาพเศรษฐกิจมีความเปราะบางมากขึ้น สิ่งที่เรากังวล คือ ตลาดแรงงาน ภาคการท่องเที่ยวหดตัว 100% คิดว่าคงเป็นแบบนี้อีกระยะ นอกจากนี้ การส่งออกหดตัวรุนแรงมาจากอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่หายไปจากที่มีการล็อกดาวน์ คาดว่าในระยะ 1-2 เดือนข้างหน้า การส่งออกมีแนวโน้มหดตัวมากขึ้น
ส่วนตลาดแรงงานมีความเปราะบางมากขึ้น โดยแรงงานนอกภาคเกษตรในเดือนเม.ย.พบว่ามีจำนวนผู้ขอรับสิทธิว่างงานเพิ่มอย่างก้าวกระโดดจากเดือนมี.ค. นอกจากนี้ จำนวนธุรกิจหรือสถานประกอบการที่ปิดกิจการชั่วคราวในเดือนเม.ย.ยังเพิ่มขึ้นถึง 5 เท่าจากเดือนมี.ค. ดังนั้นจึงเป็นสถานการณ์ที่ต้องติดตามใกล้ชิด เพราะจะมีผลอย่างมากต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจ และระบบสถาบันการเงินของประเทศ
จากอุปสงค์ในประเทศและต่างประเทศที่อ่อนแอลง ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวสูงขึ้น ซึ่งเดือนเม.ย.นี้ การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวถึง 17.2% โดยเฉพาะการผลิตรถยนต์ รองลงมาเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้า และปิโตรเลียม
“ถ้าไม่มีการใช้จ่ายภาครัฐเลย ในเดือนเม.ย.นี้น่าจะแย่กว่าที่เราเห็นอีก โชคดีที่เดือนก่อนหน้านี้ พ.ร.บ.งบประมาณ ประกาศใช้แล้ว ถือเป็นเครื่องยนต์สำคัญของเศรษฐกิจไทยที่ขับเคลื่อนได้ในตอนนี้ ขณะที่เครื่องยนต์อื่นหยุดชะงักไป…เดือนนี้การใช้จ่ายภาครัฐเป็นพระเอกคนเดียวในการช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยไว้ และในอนาคตก็จะมีบทบาทมากขึ้น หลังจากการจ่ายเงินเยียวยาให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบ จะเป็นปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจในระยะต่อไป” นายดอนระบุ
ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดเดือนเม.ย.หดตัว -0.7 พันล้านดอลลาร์ แม้จะเป็นการหดตัวเพียงเล็กน้อย แต่ในสภาวะปกติแล้ว การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนพ.ค. ซึ่งปีนี้มีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเร็วตั้งแต่เดือนเม.ย. แต่การขาดดุลยังไม่มากเนื่องจากในเดือนนี้มีการส่งออกทองคำสูงเป็นประวัติการณ์ อย่างไรก็ดี ถ้าหักการส่งออกทองคำ จะพบว่าในเดือนเม.ย.มียอดขาดดุลบัญชีเดินสะพัด 3.1 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งถือว่าการขาดดุลมากสุดเป็นประวัติการณ์ นอกจากนี้ รายได้จากการท่องเที่ยวที่ลดลงก็เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้มีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมาก และมีโอกาสที่ดุลบัญชีเดินสะพัดจะติดลบต่ออีกในเดือนพ.ค. เนื่องจากนักท่องเที่ยวยังไม่กลับเข้ามา
สำหรับค่าเงินบาทเดือนเม.ย.มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ต้นเดือน จาก sentiment ที่เริ่มดีขึ้นหลังมาตรการล็อกดาวน์ที่เริ่มได้ผลดีในการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดทำให้มีการปรับมุมมองเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี แรงกระแทกสำคัญ คือการส่งออกทองคำในเดือนเม.ย.ที่สูงเป็นประวัติการณ์ และยังมีผลกดดันค่าเงินบาทด้วย
“เงินบาทที่แข็งค่า มีส่วนจากแรงขายทองคำเยอะ ซึ่ง ธปท.จะได้ติดตามอย่างใกล้ชิด” นายดอนระบุ
สำหรับแนวโน้มในเดือนพ.ค.นั้น ธปท.ยังคาดการณ์ว่าการหดตัวของเศรษฐกิจยังอยู่ระดับสูง แต่สถานการณ์อาจดีขึ้นบ้างจากการผ่อนคลายล็อกดาวน์ รวมทั้งมีเงินโอนจากมาตรการเยียวยา 5,000 บาท ตามโครงการเราไม่ทิ้งกัน ซึ่งช่วยให้มีการจับจ่ายใช้สอยได้เพิ่มขึ้นบ้าง แต่ภาพรวมก็ยังมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่องไปจนถึงเดือนมิ.ย. ซึ่งเชื่อว่าไตรมาส 2 เศรษฐกิจไทยจะหดตัวมากสุดในปีนี้
ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยจะถือว่าถดถอยหรือยังนั้น นายดอน กล่าวเพียงว่า “ตัวเลขที่ติดลบมากขนาดนี้ คงไม่ใช่คำถามว่าถดถอยหรือไม่ถดถอย แต่คำถามคือจะถดถอยมากเท่าไร” นายดอนระบุ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 พ.ค. 63)
Tags: ดอน นาครทรรพ, ท่องเที่ยว, ธปท., บริโภค, ส่งออก, เงินเฟ้อ, เศรษฐกิจไทย