นายสันทัสก์ เกิดสินทรัพย์ ที่ปรึกษากฎหมายอาวุโส (Senior Counsel) ด้านคดีความและการระงับข้อพิพาท บริษัท วีระวงค์, ชินวัฒน์ และพาร์ทเนอร์ส จำกัด กล่าวว่า กรณีบมจ.การบินไทย (THAI) ได้ยื่นคำขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางเมื่อวันที่ 26 พ.ค. และศาลฯได้รับคำร้องเมื่อวันที่ 27 พ.ค.โดยศาลฯกำหนดไต่สวน 17 ส.ค. เพื่อพิจารณาว่า จะอนุญาตให้การบินไทยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูหรือไม่ พร้อมกับยอมรับผู้ทำแผนที่ได้เสนอมา แต่ยังไม่ได้มีคำสั่งแผนฟื้นฟูแต่อย่างใด
ขั้นตอนหลังจากนี้ เจ้าหนี้ต้องแสดงตัวภายใน 1 เดือน เพื่อยื่นขอรับชำระหนี้ ขณะเดียวกันเริ่มนับระยะเวลาผู้ทำแผนฟื้นฟูหลังจากศาลแต่งตั้ง มีเวลา 3 เดือน แต่หากไม่เสร็จก็สามารถขอศาลขยายเวลาได้ 1 เดือน 2 ครั้ง หรือทำแผนให้เสร็จภายใน 5 เดือน
ดังนั้น ระยะเวลาการฟื้นฟูการบินไทยเริ่มนับตั้งแต่ 17 ส.ค. ตั้งผู้ทำแผน และโฆษณาคำสั่งแต่งตั้งผู้ทำแผนในราชกิจจานุเบกษา ถ้าไม่ได้ตามกำหนดเจ้าหนี้อาจเสียสิทธิ โดยมีเวลาถึง ก.พ.64 หรือ 5 เดือน ที่จะต้องทำแผนฟื้นฟูกิจการเสนอต่อศาลฯ
จากนั้น เจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์จะส่งสำเนาแผนฟื้นฟูกิจการให้กับเจ้าหนี้ทุกราย พร้อมกำหนดวันประชุมเจ้าหนี้เพื่อโหวตว่าจะรับแผนฟื้นฟูหรือไม่ เมื่อเจ้าหนี้ลงมติรับแผนฟื้นฟูแล้วก็จะรายงานต่อศาลฯ ถ้าศาลฯเห็นชอบแผนฟื้นฟูพร้อมแต่งตั้งผู้บริหารแผน ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นคนเดียวกับผู้ทำแผน โดยศาลฯจะพิจารณาว่าการเข้ายื่นฟื้นฟูกิจการเป็นไปตามคุณสมบัติ และมีแนวทางชำระหนี้อย่างไร
ดังนั้น กว่าแผนฟื้นฟูจะผ่านได้รับความเห็นชอบจากศาลฯก็อาจะเป็นไตรมาส 2 ปี 64 โดยในสิ้นปีนี้ การบันทึกบัญชีของบริษัทก็น่าจะมีปัญหา ในการลงบันทึกจำนวนหนี้ และรายการอื่น ๆ หลังจากนั้น การบินไทยมีระยะเวลาดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ 5 ปี และขยายเวลาได้ 2 ครั้ง ๆ ละ 1 ปี รวมเป็น 7 ปี
อย่างไรก็ตาม การประชุมเจ้าหนี้เพื่อโหวตรับแผนหรือไม่รับแผน จะมีเจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์เป็นประธานการประชุม แผนจะผ่านความเห็นชอบตามเกณฑ์ของกฎหมาย ต้องมีกลุ่มเจ้าหนี้ใดกลุ่มหนึ่ง ที่เจ้าหนี้เกินครึ่งหนี่งและมีเสียงหรือหนี้เกินกว่า 2 ใน 3 ของเจ้าหนี้ทั้งหมด รับแผน และเจ้าหนี้ทุกกลุ่มเห็นชอบแผนเกินกว่า 50% หากเจ้าหนี้รายใดที่ไม่เห็นด้วย จะต้องร้องคัดค้านต่อศาลฯเอง
นายสันทัสก์ กล่าวว่า การบินไทยนับว่าเป็นบริษัทที่มีจำนวนหนี้สูงที่สุดประมาณ 2-3 แสนล้านบาท จากเดิมที่บมจ.อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย หรือ TPI เป็นบริษัทที่ยื่นขอฟื้นฟูกิจการด้วยจำนวนหนี้ถึง 1 แสนล้านบาท นอกจากนี้ยังมีเจ้าหนี้จำนวนมากรายด้วย โดยในกรณีการบินไทย มีการเช่าซื้อเครื่องบิน ซึ่งตามกฎหมายถือว่าเครื่องบินเป็นสินทรัพย์ของเจ้าหนี้ ถ้าไม่สามารถชำระตามงวด แต่เมื่อศาลฯรับคำร้องขอฟื้นฟู ก็สามารถคุ้มครองได้ชั่วคราวเท่านั้น แต่หากค้างชำระเกิน 2 งวด ก็ต้องจ่ายหรือยึดคืน แสดงว่าในระหว่างนี้การบินไทยก็ต้องมีการเจรจาเพราะกว่าจะกลับมาบิน ค่างวดก็ค้างเกิน 2 เดือนแล้ว
สำหรับรายชื่อผู้ทำแผน ตามกฎหมายจะเป็นบุคคลหรือนิติบุคคลได้ แต่ในกรณีการบินไทยที่เสนอรายชื่อผู้ทำแผน 5 คน และนิติบุคคลอีก 1 ราย ซึ่งผู้ทำแผน 5 รายเป็นกรรมการของบริษัทด้วย หลังจากที่ศาลฯเห็นชอบแผนฟื้นฟูแล้ว อำนาจของกรรมการและผู้ถือหุ้นจะหมดลง ผู้บริหารแผนจะใช้อำนาจแทน โดยมีหน้าที่หลัก คือ บริหารกิจการของลูกหนี้ต่อไป และ จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการเพื่อเสนอที่ประชุมเจ้าหนี้
ผู้ทำแผนจะมีบทบาทและมีหน้าที่สูงมากในการเจรจาเจ้าหนี้ ทั้งนี้ การที่มีผู้ทำแผนหลายคน ไม่ค่อยเห็นในทางปฏิบัติ เพราะส่วนใหญ่จะให้ตัวแทนลูกหนี้เป็นผู้ทำแผนและผู้บริหารแผน
ส่วนเนื้อหาในแผนฟื้นฟูกิจการ จะประกอบด้วย มีหนี้สินและทรัพย์สิน เท่าไร แผนธุรกิจที่มีการปรับโครงสร้างธุรกิจ แนวทางเพิ่มรายรับกับลดรายจ่าย เพื่อประกอบการจัดทำประมาณการทางการเงิน และ สภาพคล่อง และประมาณการ 5-10 ปีข้างหน้าตัวเลขจะได้รับคืนเท่าไร จากนั้นนำไปใช้ในการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งตัวเลขที่ได้จากประมาณการ ให้เจ้าหนี้ทราบว่าจะได้รับชำระหนี้เท่าไรหรือหรือตัดหนี้ (hair cut) เท่าไร ซึ่งจะมาจากแผนธุรกิจ จะได้รู้ถึงความสามารถการชำระหนี้ ถ้าไม่สามารถชำระหนี้ที่เหลือจะทำอย่างไร อาจะเป็นการแปลงหนี้เป็นทุน ตัดหนี้ ซึ่งผู้ทำแผน กับเจ้าหนี้ก็ต้องเจรจาทำความเข้าใจ รวมถึงการปรับโครงสร้างทุน อาทิ ลดทุน เพิ่มทุนอย่างไร ผู้ถือหุ้นเดิมลดสัดส่วนเท่าไร
กรณีเจ้าหนี้การค้าที่การบินไทยไม่ได้ชำระ แต่เมื่อจะดำเนินธุรกิจต่อจะทำอย่างไร ได้แก่ หนี้ค่าน้ำมันกับบมจ.ปตท. (PTT) หรือ วัตถุดิบทำอาหาร ค่าจอดสนามบิน เมื่อการบินไทยกลับมาบินก็ต้องกลับไปซื้อซัพพลายเออร์เดิม นั้นแม้ว่าจะอยู่ภาวะพักชำระหนี้ แต่การชำระหนี้ที่เป็นการกระทำที่จำเป็นเพื่อให้การดำเนินธุรกิจปกติ ก็ชำระได้ เช่น น้ำมันก็ต้องจ่ายก่อนทำการบิน หรือหนี้สนามบิน ส่วนลูกค้าที่ขอ Refund ก็อาจไม่ได้
อย่างไรก็ตามเมื่อเข้าแผนฟื้นฟู ได้คุ้มครองลูกจ้าง ซึ่งลูกจ้างก็เป็นหนี้บุริมสิทธิ สิทธิตามกฎหมายแรงงาน ก็ยังมีอยู่ อย่างไรก็ดี หากการเลิกจ้างมีอยู่ในแผนธุรกิจทำได้ เพราะมีความจำเป็นต้องลดค่าใช้จ่าย หรือโครงสร้างธุรกิจเปลี่ยนไปที่ไม่จำเป็นต้องมีพนักงานจำนวนมาก ขณะที่สัญญาต่าง ๆ ที่ผูกพัน กับลูกหนี้ก็ยังมีการผูกพันอยู่ ส่วนเจ้าหนี้มีประกันก็มีสิทธิเหนือทรัพย์ ต่อให้ไม่ยื่นฟื้นฟู สิทธิไม่ได้หายไปและหากหลักประกันไม่คุ้มหนี้ ก็ไม่ได้คุ้มครอง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 พ.ค. 63)
Tags: THAI, การบินไทย, ฟื้นฟูกิจการ, ศาลล้มละลายกลาง, สันทัสก์ เกิดสินทรัพย์