พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้นำเสนอพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงินทั้ง 3 ฉบับ วงเงินไม่เกิน 1.9 ล้านล้านบาทให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา โดยระบุถึงความจำเป็นในการเข้าไปช่วยเหลือและดูแลระบบเศรษฐกิจของประเทศไม่ให้เกิดความเสียหายจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งถือเป็นโรคอุบัติใหม่ที่ทางการแพทย์ยังไม่มียารักษาและวัคซีนป้องกัน ส่งผลกระทบไปทั่วโลก
ในส่วนของไทยจึงต้องมีมาตรการรับมือและแก้ปัญหา ทั้งด้านสุขภาพของประชาชน และด้านเศรษฐกิจที่ต้องพบกับภาวะชะงักอย่างฉับพลัน และการหดตัวลงของเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกปรับตัวลดลง -1.8% ถือเป็นการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจไทย นับตั้งแต่ไตรมาส 1/57 และส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวชะลอตัวลงตั้งแต่กลางเดือนม.ค.63
อีกทั้งรายได้ประเทศลดลงถึง 9.28 แสนล้านบาท มีคนว่างงานอาจถึงนับล้านคน ซึ่งสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปี 63 อาจ -5.0 ถึง -6.0% ได้ ส่งผลให้รัฐบาลต้องดำเนินมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดที่เข้มงวด และต้องดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบในทุกมิติ
ทั้งนี้การดำเนินการทั้งหมดจึงไม่สามารถใช้กลไกใช้จ่ายงบประมาณตามปกติได้ จึงต้องมีแนวทางกู้เงินนำมาแก้ไขปัญหา ดูแลผลกระทบ ดำเนินการด้านสาธารณสุข และสร้างความเชื่อมั่นให้สถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว และเตรียมพร้อมสำหรับสถานการณ์ในอนาคต ให้ภาคธุรกิจของไทยฟื้นตัวและขับเคลื่อนได้อย่างรวดเร็วหลังการแพร่ระบาดสิ้นสุดลง
นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า ในการจัดทำกฎหมาย รัฐบาลตระหนักถึงวินัยการคลังจึงกำหนดหลักการดำเนินการที่สอดคล้องกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง สำหรับแนวทางกู้เงินจะพิจารณาแหล่งเงินกู้ในประเทศเป็นหลัก และต่างประเทศเป็นสำรอง ซึ่งการชำระหนี้ กระทรวงการคลัง ได้กำหนดแผนไว้ และรัฐบาล สามารถบริหารจัดการได้
รวมถึงได้ตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้ มาพิจารณาแผนการใช้เงินกู้ เพื่อให้เกิดความคุ้มค่า เหมาะสม ซึ่งมีขั้นตอนการปฎิบัติการใช้จ่ายที่ที่จะดูแลให้ดีที่สุด โดยหวังว่าโดยหวังว่าสภาผู้แทนราษฎรจะอนุมัติเพื่อเสถียรภาพการเงินของประเทศต่อไป
โดยพ.ร.ก.ทั้ง 3 ฉบับจะไม่กระทบกับหนี้สาธารณะของประเทศ ซึ่งมีการคาดการณ์ว่า สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี เมื่อสิ้นเดือนก.ย. 64 จะอยู่ที่ 57.96% รวมทั้งให้ความมั่นใจถึงมาตรการกำกับดูแลการใช้จ่ายงบประมาณที่โปร่งใส ถึงมือประชาชนทุกกลุ่ม และเกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งในด้านสาธารณสุขของประเทศ การดูแลประชาชน ตลอดจนการดูแลความเข้มเข็งภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ
สำหรับ พ.ร.ก.กู้เงินทั้ง 3 ฉบับ ประกอบด้วย
1. พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 วงเงินไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นการจัดทำแผนงานด้านสาธารณสุขและแผนงานเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ วงเงิน 6 แสนล้านบาท ได้แก่ เยียวยาประชาชน 6 เดือน, เยียวยาเกษตรกร และดูแลด้านสาธารณสุข
และแผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 4 แสนล้านบาท โดยครอบคลุมโครงการดูแลสนับสนุนเศรษฐกิจในพื้นที่ ทั้งสนับสนุนและสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจชุมชน และสนับสนุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในระดับพื้นที่
2. พ.ร.ก.ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 วงเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาท เพื่อให้สถาบันการเงินให้กู้ยืมเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะคิดดอกเบี้ยจากสถาบันการเงิน 0.01% ต่อปี และให้ยื่นคำขอกู้ยืมเงินภายใน 6 เดือน
และ 3. พ.ร.ก.รักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ.2563 วงเงินไม่เกิน 4 แสนล้านบาท ด้วยการตั้งกองทุนรวม Corporate Bond Liquidity Stabilization Fund หรือ BSF และให้ ธปท.ซื้อขายหน่วยลงทุนในกองทุนดังกล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 พ.ค. 63)
Tags: ประยุทธ์ จันทร์โอชา, พ.ร.ก.กู้เงิน, เยียวยาผลกระทบโควิด-19, เศรษฐกิจไทย