นายอิทธิชัย ยศศรี รองผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน เม.ย. อยู่ที่ 79.04 หดตัว -17.21% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ด้านอัตราการใช้กำลังการผลิต อยู่ที่ 51.87%
ขณะที่ใน 4 เดือนแรกของปี 63 (ม.ค.-เม.ย.) ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ลดลง -8.8% อัตราการใช้กำลังการผลิต อยู่ที่ 63.11%
“MPI เม.ย.63 ต่ำสุดในรอบ 101 เดือน หลังน้ำท่วมเมื่อเดือนพ.ย.2554 ที่ดัชนี MPI อยู่ที่ 66.95″นายอิทธิชัย กล่าว
นายอิทธิชัย กล่าวว่า ดัชนี MPI เดือนเม.ย.63 ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัวและโรงงานอุตสาหกรรมบางแห่งต้องหยุดการผลิตชั่วคราว เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนเมษายนมีอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ 12.64% เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม จากการแก้ไขปัญหาด้านการขนส่งสินค้าทั้งในและระหว่างประเทศให้สามารถส่งสินค้าได้ตามความต้องการที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดการขยายตัวเพิ่มขึ้นในบางอุตสาหกรรมที่สามารถตอบสนองต่อผู้บริโภคได้ เช่น อุตสาหกรรมอาหารที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.5% กลับขึ้นมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 9 เดือน
โดยเฉพาะในผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปและอาหารสัตว์ที่ได้รับคำสั่งซื้อจากประเทศจีนและสหรัฐฯ โดยถ้าหักอุตสาหกรรมน้ำตาลซึ่งได้รับผลกระทบจากภัยแล้งและหดตัวลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 36.0% จะส่งผลให้อุตสาหกรรมอาหารโดยรวมขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 7.2 เช่นเดียวกันกับอุตสาหกรรมยาที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 38.52% นับเป็นการขยายตัวเพิ่มขึ้นในระดับ 2 หลักติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3
นายอิทธิชัย กล่าวต่อว่า อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลลบต่อดัชนี MPI เดือนเม.ย.63 ได้แก่ รถยนต์และเครื่องยนต์ น้ำมันปิโตรเลียม และเบียร์ ที่ได้รับผลกระทบการมาตรการเพื่อควบคุมสถานการณ์การระบาดไวรัสโควิด-19 ทำให้โรงงานต้องหยุดสายการผลิต ประชาชนต้องหยุดการระบาดด้วยการอยู่บ้าน ลดการเดินทาง
และการถูกสั่งห้ามการจำหน่ายสุรา ในขณะที่อุตสาหกรรมหลักที่ยังคงขยายตัวดีในเดือนเมษายน ได้แก่ ผลิตภัณฑ์คอนกรีตและปูนซีเมนต์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 23.47% จากผลิตภัณฑ์พื้นสำเร็จรูปและคอนกรัดผสมเสร็จ ที่มีตามความต้องการใช้เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากโครงการก่อสร้างของรัฐบาล รวมถึงจำนวนวันทำงานที่มากกว่าปีก่อนจากการประกาศเลื่อนวันหยุดสงกรานต์
เภสัชภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรค ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 38.52% จากผลิตภัณฑ์เกือบทุกรายการ เนื่องจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นและผู้ประกอบการบางรายได้สร้างอาคารเก็บยาเพิ่มเพื่อขยายความสามารถในการสต๊อคล่วงหน้า ยกเว้นยาผงที่พบปัญหาขาดวัตถุดิบที่ต้องนำเข้า
ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 10.46% ได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากตลาดโลก โดยเฉพาะในผลิตภัณฑ์ประเภทวงจรอิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์กึ่งตัวนำที่ใช้ในอุตสาหกรรมการแพทย์และอุปกรณ์ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ รวมถึงจำนวนวันทำงานที่เพิ่มขึ้น
อาหารทะเลกระป๋อง ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 34.72% โดยสถานการณ์โควิด-19 ได้ส่งผลให้เกิดความต้องการอาหารที่เก็บไว้ได้นานเพิ่มขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ
อาหารสัตว์สำเร็จรูป ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 9.18% จากผลิตภัณฑ์เกือบทุกรายการยกเว้นอาหารกุ้ง เนื่องจากจำนวนวันทำงานที่เพิ่มขึ้น รวมถึงความต้องการอาหารสัตว์เพื่อเลี้ยงสัตว์ที่มีการเติบโตขึ้นต่อเนื่อง
นายอิทธิชัย กล่าวว่า ในไตรมาส 2/63 คาดว่า MPI จะลดลงมากขึ้นเนื่องจากบางอุตสาหกรรมหยุดการผลิตชั่วคราว เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ดังนั้น ภาพรวมครึ่งปีแรกขึ้นอยู่กับมาตรการผ่อนคลายล็อกดาวน์ของรัฐบาลว่าระดับของการผ่อนคลายมากน้อยแค่ไหน ที่จะเป็นแรงส่งทำให้เกิดการบริโภคเต็มที่ และขึ้นอยู่กับภาวะการส่งออกของภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งขึ้นอยู่กับความสามารถในการควบคุมโรคและมาตรการของประเทศต่างๆ
อย่างไรก็ตาม ต้องจับตาดูสถานการณ์เศรษฐกิจไทยใน 3 ปัจจัยหลัก คือ การปลดล็อกทางเศรษฐกิจว่าจะสามารถกลับมาดำเนินการเต็มที่ได้เมื่อไหร่ การควบคุมโรคของประเทศคู่ค้า และรายได้และการออมที่จะกลับมาฟื้นตัวเร็วแค่ไหน โดยในเดือนพฤษภาคมประเทศไทยมีการควบคุมการระบาดได้ดี
ส่งผลให้รัฐบาลเริ่มมาตรการปลดล็อคกิจกรรมและกิจการบางประเภทให้สามารถกลับมาเปิดดำเนินการได้ กิจกรรมทางเศรษฐกิจบางส่วนเริ่มกลับมาดำเนินการ ส่งผลต่อเศรษฐกิจภาพรวมและในภาคอุตสาหกรรมอย่างไรก็ตามผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องปรับแผนการผลิตให้เข้ากับพฤติกรรมของผู้บริโภคในสภาวะชีวิตวิถีใหม่ (New Normal)
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 พ.ค. 63)
Tags: MPI, ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม, สศอ, สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม, อิทธิชัย ยศศรี