นายณัฐกฤติ เหล่าทวีทรัพย์ หัวหน้าที่ปรึกษาการลงทุนทิสโก้เวลธ์ ธนาคารทิสโก้ เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 กระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในทุกภาคส่วน ส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกเริ่มเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) ดังนั้น ผลประกอบการของบริษัททั่วโลกจึงได้รับผลกระทบอย่างเลี่ยงไม่ได้ โดยผลประกอบการไตรมาส 1/63 ของบริษัทจดทะเบียนในดัชนี S&P500 ลดลงถึง 7.27% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
อย่างไรก็ตาม ภายใต้วิกฤติเศรษฐกิจกลับพบว่ายังมี 3 กลุ่มธุรกิจภายใต้เมกะเทรนด์โลก ที่มีผลการดำเนินงานเติบโตอย่างก้าวกระโดด นั่นคือ กลุ่มอีคอมเมิร์ซ (E-commerce), ดิจิทัลเฮลธ์แคร์ (Digital Helthcare) และการศึกษาออนไลน์ (Edutainment) หนุนให้กองทุน ETF ที่เข้าไปลงทุนในหุ้นของบริษัทเหล่านี้ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่น
โดยในช่วงตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 กองทุน ETF ที่มีนโยบายเน้นลงทุนในธุรกิจอีคอมเมิร์ซอย่างกองทุน Amplify Online Retail ETF (IBUY:US) สามารถสร้างผลตอบแทนได้ 17.92%
ส่วนกองทุนที่เน้นลงทุนในธุรกิจดิจิทัล เฮลธ์แคร์อย่าง กองทุน Credit Suisse Lux Digital Health Equity (CSGDIBU:LX) สามารถสร้างผลตอบแทนได้ 18.87% และกองทุนที่เน้นลงทุนในธุรกิจการศึกษาออนไลน์อย่างกองทุน Credit Suisse Lux Edutainment Equity Fund (CRLEEIU:LX) สามารถสร้างผลตอบแทนได้ -6.90% ขณะในช่วงเดียวกันกองทุน iShares MSCI All Country World ETF ซึ่งเป็นตัวแทนของภาพรวมตลาดหุ้นทั่วโลก มีผลการดำเนินงาน -14.52%
สำหรับสาเหตุที่ทำให้ 3 กลุ่มธุรกิจเติบโตได้ดี แม้จะมีวิกฤติเศรษฐกิจนั้นมีปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ต้องรักษาระยะห่างทางสังคม โดยกลุ่มที่ได้ผลเชิงบวกมากที่สุดคือ กลุ่มอีคอมเมิร์ซ เนื่องจากได้ประโยชน์จากมาตรการล็อกดาวน์ ที่หนุนให้ผู้บริโภคต้องสั่งซื้อสินค้า หรือใช้ชีวิตอยู่แต่ในบ้าน โดยตัวอย่างของบริษัทที่เติบโตอย่างโดดเด่น คือ บริษัท Netflix ที่ประกาศผลกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์ หรือเติบโตกว่า 27% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และบริษัท Chegg ผู้ให้บริการ เช่า, ซื้อ-ขาย หนังสือเรียนออนไลน์ ที่รายได้ไตรมาส 1/63 เติบโตถึง 35% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีจำนวนผู้เข้าใช้บริการเพิ่มขึ้นถึง 35% จากงวดปีก่อน
ขณะที่กลุ่มดิจิทัล เฮลธ์แคร์ ก็ได้รับประโยชน์จากความต้องการนวัตกรรมทางการแพทย์ที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงที่เกิดโควิด-19 แพร่ระบาด เช่น การพบแพทย์ผ่านช่องทางออนไลน์ โดยผู้นำตลาดอย่างบริษัท Teledoc ประกาศว่าในช่วงไตรมาส 1 ที่ผ่านมามีจำนวนผู้เข้าใช้บริการกว่า 2 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นราว 92% จากปีก่อนหน้า และบริษัท Moderna ธุรกิจที่อยู่ในอุตสาหกรรมไบโอเทคการแพทย์ ซึ่งปัจจุบันกำลังทดลองวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ขั้นที่ 2 ในมนุษย์และมีแนวโน้มที่สามารถสร้างภูมิต้านทานเชื้อไวรัสได้ดี
กลุ่มสุดท้ายคือกลุ่มการศึกษาออนไลน์ ที่ได้รับผลบวกจากการที่โควิด-19 แพร่ระบาดส่งผลให้มีผู้ใช้บริการมากขึ้นจากเดิมที่ธุรกิจนี้ถือเป็นกลุ่มที่มีอัตราการเติบโตที่สูงอยู่แล้ว เช่น บริษัท GSX ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มเรียนพิเศษออนไลน์ในประเทศจีน ซึ่งในช่วง 1 ปีที่ผ่านมารายได้ของบริษัทเติบโตกว่า 300%
“การที่รายได้ และกำไรรวมถึงราคาหุ้นของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ, ดิจิทัล เฮลธ์แคร์ และการศึกษาออนไลน์ ปรับตัวเพิ่มขึ้นสวนทางกับธุรกิจอื่นๆ นั้น ไม่ได้เกินความคาดหมายของทิสโก้เวลธ์ เพราะเราได้เริ่มนำเสนอมุมมองการลงทุนดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา โดยมองว่าธุรกิจในเมกะเทรนด์ของโลกจะสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีได้ในระยะยาว และผลประกอบการไม่ผันผวนไปตามภาวะเศรษฐกิจ เนื่องจากอัตราการเติบโตของกำไรและรายได้ของธุรกิจเหล่านี้จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามความต้องการของผู้บริโภค ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะมีการพูดถึง ‘วิถีใหม่’ หรือ New Normal แต่ทิสโก้เวลธ์ก็ยังมองว่า ธุรกิจที่อยู่ในเมกะเทรนด์ของโลกก็ยังได้รับผลประโยชน์จากความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปเช่นเดิม”
นายณัฐกฤติ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 พ.ค. 63)
Tags: กลุ่มเฮลธ์แคร์, การศึกษาออนไลน์, ณัฐกฤติ เหล่าทวีทรัพย์, ทิสโก้เวลธ์, ธนาคารทิสโก้, อีคอมเมิร์ซ, เศรษฐกิจถดถอย, เฮลธ์แคร์