นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในฐานะกรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการติดตามการดำเนินงานการแก้ไขปัญหา บมจ.การบินไทย (THAI) ที่มีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เปิดเผยกับ “อินโฟเควสท์” ว่า ในวันพรุ่งนี้ (27 พ.ค.) ศาลล้มละลายกลางนัดฟังคำสั่งว่าจะรับคำร้องขอเข้ากระบวนการฟื้นฟูกิจการของ THAI ที่ยื่นคำร้องไปเมื่อช่วงเช้าวันนี้
ซึ่งคำร้องดังกล่าวจะมีชื่อผู้บริหารแผนด้วย หากศาลรับคำร้องจะทำให้บริษัทอยู่ในภาวะหยุดจ่ายหนี้ทุกราย (Automatic Stay) โดยเจ้าหนี้จะบังคับชำระหนี้ไม่ได้ แต่คำร้องนี้คุ้มครองภายในราชอาณาจักรไทย ส่วนเจ้าหนี้ต่างประเทศขึ้นกับการเจรจาว่ายอมรับหรือไม่ แต่หากเจ้าหนี้ต่างประเทศไม่เข้าระบบศาลไทย ก็ต้องดูว่ามีสินทรัพย์หรือเครื่องบินบินไปที่ไหนก็ให้ยื่นต่อศาลประเทศนั้นในการขอคุ้มครองสินทรัพย์ก่อน ส่วนการนำเข้าประมวลกฎหมายล้มละลายของสหรัฐอเมริกา Chapter 11 ต้องดูความจำเป็น ซึ่งเห็นว่าจะใช้เป็นวิธีสุดท้าย
โดยหลังจากที่ศาลล้มละลายกลางรับคำร้องก็คาดใช้เวลา 1-2 เดือนก่อนเห็นชอบแผนฟื้นฟู แต่ถ้าเป็นเรื่องเร่งด่วนอาจะใช้เวลาสั้นขึ้นเพราะมีปัญหาสภาพคล่อง
นายประภาศ กล่าวว่า ในช่วงที่คณะกรรมการและผู้บริหาร THAI ดำเนินการขั้นตอนแผนฟื้นฟู คณะกรรมการชุดนี้จะทำหน้าที่ประสานงานระหว่างภาครัฐและการบินไทย ซึ่งเปลี่ยนสถานะเป็นเอกชนแล้วไม่ใช่รัฐวิสาหกิจเหมือนเดิม หากมีข้อติดขัดทางภาครัฐคณะกรรมการชุดนี้จะเข้าไปดูแลเพื่อให้การฟื้นฟูกิจการการบินไทยเป็นไปได้ด้วยดี ขณะเดียวกันเข้าไปดูแลภาคสังคม ฝ่ายพนักงานการบินไทยที่ได้รับผลกระทบซึ่งจะประสานงานกับกระทรวงแรงงาน
รายงานข่าวระบุว่า คณะผู้ทำแผนฟื้นฟูการบินไทย หรือผู้บริหารแผน จะมีรายชื่อกรรมการ 4 คนที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการร่วมเป็นผู้ทำแผนด้วย ได้แก่ ได้แก่ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค นายบุญทักษ์ หวังเจริญ นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ เนื่องจากความสำคัญของแผนฟื้นฟูกิจการ ความสามารถของผู้บริหารแผนก็เป็นส่วนสำคัญ ที่จะทำให้การบินไทยออกจากแผนฟื้นฟูได้เร็ว
ด้านนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กล่าวว่า การบินไทยที่ได้ยื่นศาลล้มละลายกลางเพื่อขอฟื้นฟูกิจการแล้ว โดยแผนฟื้นฟูที่ยื่นอาจจะสมบูรณ์หรือต้องปรับปรุงอีก เพราะจะต้องมีกระบวนการไต่สวนจากศาล และเจ้าหนี้จะต้องยอมรับแผนฟื้นฟู หากยอมรับ จะเข้าสู่การแต่งตั้งผู้บริหารแผนต่อไป หากไม่ยอมรับก็ต้องดำเนินการโหวต เจ้าหนี้แต่ละราย จะมีการปรับปรุงแผนอย่างไร
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการบินไทยจะพ้นจากการเป็นรัฐวิสาหกิจแล้วก็ตาม แต่เจตนารมณ์ของนายกรัฐมนตรี ต้องการฟื้นการบินไทยให้กลับมาแข็งแรงอีกครั้งเท่านั้น และนายกรัฐมนตรีเป็นผู้จัดตั้งคณะกรรมการการดำเนินงานการแก้ไขปัญหาบมจ.การบินไทย ด้วยตัวเองทั้งหมด ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ระบุว่า ถ้าการบินไทยฟื้นตัวแล้ว อาจจะกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจอีกครั้งก็ได้ หากเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นของคลังเข้าไป
นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวว่า ขณะนี้การบินไทยได้ยื่นแผนฟื้นฟูกับศาลแล้ว ซึ่งกฎหมายกำหนดว่าการยื่นแผนฟื้นฟูต้องใส่ชื่อคณะผู้ทำแผนไปด้วย ซึ่งทราบว่ามีรายชื่อ 6 คน ซึ่งผู้ทำแผนกับผู้บริหารจะเป็นกลุ่มเดียวกัน หรือ คนละกลุ่มก็ได้ อย่างไรก็ตามต้องรอให้ศาลอนุมัติแผนการฟื้นฟูเสียก่อน
โดยในส่วนของกระทรวงการคลัง ในฐานะผู้ถือหุ้นการบินไทย ก็ต้องรอให้ให้บริษัทดำเนินการตามแผนฟื้นฟู ส่วนในฐานะเจ้าหนี้จะส่งคนเข้าไปทำหรือบริหารแผนฟื้นฟูด้วยหรือไม่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 พ.ค. 63)
Tags: THAI, การบินไทย, ประภาศ คงเอียด, ฟื้นฟูกิจการ, ศักดิ์สยาม ชิดชอบ, ศาลล้มละลาย, สายการบิน, หุ้นไทย, อุตตม สาวนายน, แผนฟื้นฟูกิจการ