ดัชนีกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ปรับขึ้น 2.43% มาอยู่ที่ 204.37 จุด เพิ่มขึ้น 4.84 จุด เมื่อเวลา 10.23 น. นำโดยหุ้น ESTAR พุ่ง 11.76% มาอยู่ที่ 0.38 บาท เพิ่มขึ้น 0.04 บาท มูลค่าซื้อขาย 2.70 ล้านบาท
- หุ้น SIRI บวก 6.33% มาอยู่ที่ 0.84 บาท เพิ่มขึ้น 0.05 บาท มูลค่าซื้อขาย 40.87 ล้านบาท
- หุ้น CPN บวก 5.42% มาอยู่ที่ 53.50 บาท เพิ่มขึ้น 2.75 บาท มูลค่าซื้อขาย 182.09 ล้านบาท
- หุ้น SENA บวก 4.84% มาอยู่ที่ 2.60 บาท เพิ่มขึ้น 0.12 บาท มูลค่าซื้อขาย 3.07 ล้านบาท
- หุ้น ORI บวก 3.85% มาอยู่ที่ 5.40 บาท เพิ่มขึ้น 0.20 บาท มูลค่าซื้อขาย 88.61 ล้านบาท
- หุ้น LH บวก 3.52% มาอยู่ที่ 7.35 บาท เพิ่มขึ้น 0.25 บาท มูลค่าซื้อขาย 226.63 ล้านบาท
บล.เอเซีย พลัส ระบุในบทวิเคราะห์ฯว่า หุ้นในกลุ่มพัฒนาที่อยู่อาศัย มีความคาดหวังว่าจะมีการผ่อนคลายมาตรการ อาทิเช่น มาตรการ LTV รวมถึงการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่จะเป็นผลประโยชน์ต่อภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพิ่มเติม หลังจากก่อนหน้านี้ได้มีมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็น บ้านดีมีดาวน์, การลดค่าธรรมเนียมการโอนฯ และจดจำนองสำหรับบ้านไม่เกิน 3 ล้านบาท รวมถึงการผ่อนปรน LTV สำหรับบ้านหลังแรก และบางส่วนสำหรับบ้านหลังที่ 2
แต่อย่างไรก็ดีมาตรการดังกล่าว ไม่ได้ส่งผลบวกต่อการสร้างยอด Presale และยอดโอนฯ อย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากปัญหาสำคัญเกิดจากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ชะลอตัว โดยเฉพาะในกลุ่มระดับกลาง-ล่าง ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ และสถานการณ์โควิด-19 ประกอบกับการเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของแบงก์ ยิ่งทำให้การเข้าถึงที่อยู่อาศัยมีความยากขึ้น สะท้อนจากผลประกอบการกลุ่มฯไตรมาส 1/63 ของผู้ประกอบการ 12 รายใหญ่ มีกำไรปกติ 5.35 พันล้านบาท (-43% yoy และ 52% qoq) ขณะที่แนวโน้มไตรมาส 2/63 คาดยังไม่ดีขึ้น จากผลกระทบของโควิด-19 ที่มีผลต่อธุรกรรมการขายและโอนฯ ส่งผลให้ผู้ประกอบการเน้นใช้กลยุทธ์ด้านราคาเพื่อระบายสต๊อก ซึ่งย่อมกดดันต่อมาร์จิ้น
แม้คาดหวังภาพรวมธุรกิจอสังหาฯในช่วงครึ่งปีหลังจะฟื้นตัวขึ้น ตามสถานการณ์โควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลาย ประกอบกับรอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่โดยปกติช่วงครึ่งปีหลังจะดีกว่าครึ่งปีแรก สืบเนื่องจากการมีหลายโครงการคอนโดฯ ใหม่มีกำหนดสร้างเสร็จพร้อมโอนฯ ในช่วงครึ่งหลังของปี โดยเฉพาะไตรมาส 4 แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังเรื่องสภาพเศรษฐกิจที่ยังอ่อนตัว และปัญหาเรื่องคุณภาพของ Backlog ว่าการโอนฯ ของลูกค้ามีประสิทธิภาพเพียงใด ซึ่งย่อมมีผลต่อการรับรู้รายได้และกระแสเงินสดของผู้ประกอบการตามมา
จากการที่ราคาหุ้นหลายตัวปรับลงมาแรงในช่วงที่ผ่านมา จนมี Valuation น่าสนใจ และอัตราเงินปันผลอยู่ในระดับสูงเฉลี่ย 5-8% เป็นปัจจัยหนุนต่อการลงทุนในหุ้นอสังหาริมทรัพย์ ภายใต้ภาวะดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาลง โดยตัวเลือกการลงทุนที่น่าสนใจ ได้แก่ LH (เป้า 8.00 บาท) ปันผลเฉลี่ย 6% และ AP (เป้า 6.30 บาท) มี PER ซื้อขายต่ำกว่า 6 เท่า นอกจากนี้การมี Backlog ระดับสูง หนุนให้ผลประกอบการไตรมาส 2/63 เติบโต YoY / QoQ และต่อเนื่องไตรมาส 3/63 สวนทางกับภาพรวมกลุ่มฯ
ขณะที่ LPN (เป้า 3.40 บาท) แนะนำขาย หลังราคาหุ้นดีดตัวขึ้นแรงตั้งแต่ต้นเดือน พ.ค. มากถึง 60% โดยปราศจากปัจจัยพื้นฐานสนับสนุน เนื่องจากภาพธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ยังเผชิญกับการทรุดตัว สะท้อนจากลดลงของระดับ Backlog มาอย่างต่อเนื่อง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 พ.ค. 63)
Tags: CPN, LH, ORI, SENA, SIRI, หุ้นอสังหา, หุ้นไทย, อสังหาริมทรัพย์, เอเซีย พลัส