นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ร่วมประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 28 ผ่านระบบ Video Conference ในวันนี้ (25 พ.ค.) ว่าในการประชุมวันนี้ ทั้งสองฝ่ายได้บรรลุข้อตกลงกรอบวงเงินสัญญา 2.3 ในวงเงิน 50,633 ล้านบาท และชำระเป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ 80% เป็นเงิน 1,313.9 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 40,506 ล้านบาท และเงินสกุลบาท 20% เป็นจำนวน 10,126 ล้านบาท
จากเดิมวงเงิน 53,633 ล้านบาท ซึ่งจีนต้องการให้จ่ายเป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐทั้ง 100% โดยฝ่ายจีนปรับลดวงเงินค่าก่อสร้างในเรื่องระบบราง ระบบไฟฟ้าเครื่องกลลงไป 3 พันล้านบาท และยินยอมลดสัดส่วนการชำระเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ
“อย่าได้กังวลว่าบาทอ่อนตัว โครงการนี้ไม่ได้ชำระงวดเดียว ใช้เวลา 5 ปี ถึงปี 2568 ถ้าจากคาดการณ์ เงินดอลลาร์ แข็งค่าขึ้น แต่เมื่อไร รัฐบาลไทย และรัฐบาลจีน สามารถแก้ไขการระบาดโควิดได้ ทำให้การมีเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยน ตรงนี้ ในการกำหนดงวดงาน และการชำระ ให้พิจารณาการแข็งค่าของเงินบาทด้วย”
รมว.คมนาคม กล่าวว่า จะนำผลการประชุมวันนี้เข้ารายงานต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) และให้ร่างสัญญาแก่อัยการสูงสุดตรวจสอบ คาดใช้เวลา 3 เดือน โดยในเบื้องต้นที่ได้พูดคุยกับตัวแทนของจีน คาดจะสามารถลงนามไม่เกิน ต.ค.นี้ แต่หากทำได้เร็วก็จะรีบดำเนินการ อาจจะเป็นเดือน ส.ค. หรือ ก.ย.นี้ เพราะโครงการนี้ล่าช้าจากผลกระทบโควิด ทั้งนี้ จะมีจัดการลงนามขึ้นในไทย โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในพิธี หลังจากนั้นคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ภายในปีนี้
สำหรับการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย – จีน ครั้งที่ 29 ฝ่ายไทยได้เสนอเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมที่ประเทศไทย ในช่วงระยะเวลาไม่เกินเดือนต.ค.63
ทั้งนี้ โครงการโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย) ระยะที่1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. วงเงิน 179,413 ล้านบาท ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 5 ปี (ปี 61-66) ส่วนระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา -หนองคาย ระยะทาง 355 กม. งบประมาณ 211,757 ล้านบาท ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 5 ปี (ปี 63-68) ซึ่งอยู่ระหว่างออกแบบในรายละเอียด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 พ.ค. 63)
Tags: คมนาคม, รถไฟความเร็วสูง, รถไฟไทย-จีน, ศักดิ์สยาม ชิดชอบ