ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ผลการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 20 พ.ค.63 ถูกส่งผ่านมายังอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์อีกครั้ง ซึ่งในรอบนี้ใช้เวลาประมาณ 1-2 วัน ก็เริ่มเห็นธนาคารพาณิชย์ไทยขนาดใหญ่ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR อัตราดอกเบี้ย MRR และอัตราดอกเบี้ย MOR ลงอย่างพร้อมเพรียงกัน ซึ่งอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ปรับลดลงดังกล่าว อาจมีผลช่วยลดภาระทางการเงินให้กับผู้ประกอบการและประชาชน ทั้งผู้ขอสินเชื่อใหม่และลูกหนี้เดิมที่ยังสามารถชำระคืนหนี้
รวมถึงเป็นทิศทางที่สอดคล้องกับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และลูกค้าบุคคลรายย่อยที่สถาบันการเงินทุกแห่งกำลังดำเนินการอยู่ แต่ในอีกด้านหนึ่ง การปรับลดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว อาจเป็นอีกปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันต่อผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งต้องรับมือกับโจทย์ที่มีความท้าทายมากขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 2/2563
การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR/MRR/MOR ของธนาคารพาณิชย์ในรอบนี้ อยู่ในกรอบประมาณ 0.125%-0.40% ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว จะช่วยบรรเทาภาระดอกเบี้ยจ่ายของลูกค้าธนาคารพาณิชย์ได้ทันที ซึ่งในปัจจุบัน ลูกค้ากว่า 50% ของพอร์ตสินเชื่อโดยรวม เป็นลูกค้าที่มีสัญญาสินเชื่อเป็นดอกเบี้ยลอยตัวอ้างอิงตามอัตราดอกเบี้ย MLR/MRR/MOR ขณะที่กลุ่มลูกค้าผู้ประกอบการที่ต้องการเบิกใช้สินเชื่อระยะสั้นเพิ่มขึ้นในระยะนี้ เพื่อเสริมสภาพคล่องและใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน ก็จะมีต้นทุนทางการเงินที่ลดลงด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ดี ผลจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงต้นปี ในขณะที่สินเชื่อปล่อยใหม่แทบทุกประเภทเติบโตในกรอบจำกัด (ยกเว้นสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่) ขณะที่พอร์ตสินเชื่อ SMEs และสินเชื่อรายย่อยบางส่วนอยู่ในช่วงการพักชำระดอกเบี้ยตามมาตรการช่วยเหลือลูกค้าของธนาคารพาณิชย์ ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า สถานการณ์ดังกล่าวจะเพิ่มแรงกดดันต่อทิศทางรายได้ดอกเบี้ยของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย
“อาจทำให้อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ดอกเบี้ยเฉลี่ย (Net Interest Margin: NIM) ชะลอลงมาอยู่ในกรอบ 2.15-2.35% ในไตรมาส 2/2563 เทียบกับ NIM ที่ 3.09% ในไตรมาสแรกที่ผ่านมา (แต่หากธนาคารพาณิชย์มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์บุคคลธรรมดาลงเป็นการทั่วไป 0.125% ก็อาจช่วยประคอง NIM ได้ประมาณ 6 bps. หรือ 0.06%)
จากการติดตามสถานการณ์สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในภาพรวม พบว่าสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ไทยมีสัญญาณเร่งตัวขึ้นต่อเนื่องในช่วงต้นไตรมาส 2/2563 โดยเบื้องต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในเดือนเม.ย. 2563 อาจเติบโต 5.2% YoY เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และมีแนวโน้มขยายตัวสูงตลอดทั้งไตรมาส 2/2563 ในกรอบประมาณ 5.0-6.0% ขยับขึ้นจากที่ขยายตัว 4.0% ในไตรมาสที่ 1/2563
โดยแรงหนุนของสินเชื่อหลักๆ จะมาจาก 2 ส่วน ได้แก่ 1. การเบิกใช้สินเชื่อเพิ่มขึ้นของลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งน่าจะใช้ช่องทางสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ทดแทนการระดมทุนผ่านตลาดหุ้นกู้ในช่วงที่ภาวะตลาดผันผวน และ 2. มาตรการช่วยเหลือลูกค้า ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะที่ผันผวนของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 อาทิ การปรับลดภาระผ่อนชำระต่อเดือน การพักชำระหนี้เงินต้น และการขยายเวลาการชำระหนี้ทั้งในส่วนที่ธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งดำเนินการเอง และมาตรการช่วยเหลือลูกค้าตามแนวทางของทางการ (อาทิ พักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยให้กับผู้ประกอบการ SMEs ที่เข้าเงื่อนไข) รวมไปถึงการปล่อยสินเชื่อใหม่เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาสภาพคล่องของผู้ประกอบการ SMEs ตามโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำของทางการ
ทั้งนี้ มาตรการช่วยเหลือลูกค้าดังกล่าว จะมีผลทำให้ยอดคงค้างสินเชื่อโดยรวมยังคงขยับขึ้น แม้ว่าภาพรวมของการปล่อยสินเชื่อใหม่ของธนาคารพาณิชย์ ในส่วนอื่นๆ โดยเฉพาะพอร์ตสินเชื่อรายย่อย จะเป็นไปอย่างระมัดระวังตามสถานการณ์ของเศรษฐกิจไทยก็ตาม แต่กระนั้นก็ดี ในสภาวะเช่นนี้ สินเชื่อที่เติบโตในระดับสูงดังกล่าว อาจไม่ได้ทำให้ผลตอบแทนจากการปล่อยสินเชื่อเกิดขึ้นอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยดังเช่นสภาวะปกติ เพราะเป็นการให้ความช่วยเหลือลูกค้าผ่านการปรับลดดอกเบี้ย และสินเชื่อใหม่ที่เกิดขึ้นเป็นสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเป็นพิเศษ
อย่างไรก็ดี ปัญหาคุณภาพหนี้ยังเป็นประเด็นที่ธนาคารพาณิชย์ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง เพราะแม้ว่าสัดส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPLs) ของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบจะขยับขึ้นมาที่ 3.05% ต่อสินเชื่อรวมในไตรมาสที่ 1/2563 ตามที่คาด แต่การเร่งตัวขึ้นของสัดส่วนสินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิต หรือหนี้ Stage 2 มาที่ 7.70% (จาก 2.79% ณ สิ้นปี 2562)
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินในเบื้องต้นว่า สัดส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพยังมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นในไตรมาสที่ 2/2563 นอกจากนี้ อีกประเด็นเฝ้าระวัง จะอยู่ที่หนี้ที่สถาบันการเงินเข้าช่วยดำเนินการปรับโครงสร้าง ซึ่งจากยอดรวมหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือจากสถาบันการเงิน 6.12 ล้านล้านบาท (ณ วันที่ 15 พ.ค.63) นั้น ประเมินว่าส่วนของธนาคารพาณิชย์อาจคิดเป็นประมาณ 30% ของสินเชื่อรวม ซึ่งคงต้องยอมรับว่ สถานการณ์ของลูกหนี้กลุ่มนี้ในระยะต่อไป ยังคงผันแปรตามเงื่อนไขการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจและสถานการณ์เฉพาะของแต่ละธุรกิจ อันจะมีนัยต่อทิศทางคุณภาพหนี้ รวมถึงภาระในการตั้งสำรองฯ ของธนาคารพาณิชย์ในระยะข้างหน้าด้วยเช่นกัน
“ในไตรมาสที่ 2/2563 เป็นช่วงเวลาที่สภาวะเศรษฐกิจไทยเผชิญความเสี่ยงมากขึ้น จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลต่อเนื่อง ทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องรับมือกับสภาพแวดล้อมการดำเนินงานที่เปลี่ยนแปลงไป พร้อมๆ กับภารกิจสำคัญในการดูแลให้ความช่วยเหลือลูกค้าผ่านมาตรการต่างๆ ทั้งในสภาพคล่องเพื่อหล่อเลี้ยงธุรกิจ และในด้านการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อลดภาระทางการเงิน ซึ่งในอีกด้านหนึ่งก็จะส่งผลทำให้ปัญหาคุณภาพหนี้ของธนาคารพาณิชย์เองได้รับการดูแลไปในเวลาเดียวกัน”
บทวิเคราะห์ระบุ
แม้ปัญหาเศรษฐกิจและมาตรการต่างๆ ที่ช่วยเหลือลูกค้า อาจทำให้การประคองผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/2563 เป็นโจทย์ที่ท้าทายของธนาคารพาณิชย์ อย่างไรก็ดี สถานะของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยยังมีความแข็งแกร่ง มีเงินกองทุนและเงินสำรองในระดับสูง ซึ่งเพียงที่จะรองรับความเสี่ยงต่างๆ ในระยะนี้ไปได้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 พ.ค. 63)
Tags: กนง., ดอกเบี้ยเงินกู้, ธนาคารพาณิชย์, ศูนย์วิจัยกสิกรไทย