เอกชนมอง”นิคมฯ-อาหาร-ท่องเที่ยว” ยังหนุนเศรษฐกิจไทยปีนี้ แต่ชูเพิ่มศักยภาพสินค้า-แหล่งท่องเที่ยวชุมชน
น.ส.จรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น (WHA) เปิดเผยในงานสัมมนาใหญ่ประจำปี 2563 เรื่อง “เจาะอุตสาหกรรมเด่นขับเคลื่อนเศรษฐกิจปี 2020” ที่จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจว่า ในปี 63 จะมีทั้งกลุ่มธุรกิจที่ดี และกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ ขณะที่กลุ่มธุรกิจของบริษัทฯ ที่ประกอบด้วย 4 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจโลจิสติกส์ มองว่าในปีนี้จะยังเติบโตได้ต่อเนื่อง ตามการขยายตัวของธุรกิจ e-commerce ซึ่งต่างชาติก็มีความสนใจเข้ามาใช้ไทยเป็นฐาน เพื่อเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ (logistics hub) ในภูมิภาคเอเชียนี้
คลิปวิดีโอสัมภาษณ์: ส่องเทรนด์ ‘ทุนแดนมังกร’ กับโอกาสย้ายฐานผลิตเข้าไทย
ส่วนธุรกิจกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมก็มีความโดดเด่นอย่างมาก เนื่องจากได้รับอานิสงส์จากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน ทำให้เกิดการ Relocation ครั้งใหญ่ของฐานอุตสาหกรรม หรือการย้ายฐานการลงทุนของผู้ประกอบการในประเทศจีนมายังอาเซียน ซึ่งรวมถึงไทยด้วย เพื่อกระจายความเสี่ยง และเป็นการขยายตลาดไปในตัว
อย่างไรก็ตามปัจจัยที่ทำให้ผู้ประกอบการในจีนต้องการย้ายฐานการผลิต ไม่ได้มาจากปัจจัยของสงครามการค้าเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงเรื่องของต้นทุนค่าแรงในจีนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งประเทศไทยจะต้องถามตัวเองว่าจะอยู่ในสถานะใด ที่จะดึงกลุ่มทุนดังกล่าวเข้ามาในไทยให้ได้ โดยการจะดึงกลุ่มทุนเข้ามาจะต้องมาทั้งซัพพลายเชน
ทั้งนี้ การมีเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่เป็นการดึงความสนใจฐานทุนจากทั่วโลก โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่มาเป็นอันดับหนึ่ง คือ กลุ่มยานยนต์ รองลงมาคือ คอนซูเมอร์ และกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ที่เริ่มเห็นการเติบโตมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ขณะที่กลุ่ม ICT ก็เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่น่าจับตาดูในปีนี้
ด้านธุรกิจสาธารณูปโภคและพลังงาน ในปีนี้มองสถานการณ์ภัยแล้งเป็นโอกาส เช่น การนำน้ำที่เหลือจากการผลิตมารีไซเคิล ส่วนภาพของพลังงาน ที่น่าสนใจในประเทศไทย คือ พลังงานขยะ ซึ่งบริษัทก็ได้มีการเปิดตัวโรงไฟฟ้า Waste-to-energy (การผลิตไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม) เมื่อเดือนพ.ย.62 ด้วยงบลงทุนทั้งสิ้น 1,800 ล้านบาท มองว่าโรงไฟฟ้าดังกล่าวเป็นที่น่าสนใจอย่างมาก เนื่องจากใน EEC มีขยะชุมชนค่อนข้างมาก ขณะเดียวกันบริษัทก็มีการติดตั้ง sandbox microgrid ในนิคมอุตสาหกรรม เพื่อให้มีการซื้อขายพลังงานในนิคมอุตสาหกรรมได้ ทำให้ช่วยลดต้นทุนด้านพลังงานลง
ส่วนธุรกิจให้บริการด้านดิจิทัล บริษัทก็มีแผนที่จะทำ sandbox 5G ในนิคมอุตสาหกรรม เพื่อกระตุ้นให้ลูกค้าในนิคมฯ ใช้เทคโนโลยี 5G ให้เกิดประโยชน์
“ในปี 63 เรามองภาพดีกว่าปี 62 โดยคาดการขยายตัวทางเศษฐกิจ (GDP) ปีนี้จะอยู่ที่ 3% และทาง IMF ก็คาดการณ์ว่า GDP โลกจะดีขึ้นเล็กน้อยเป็น 3.4% ซึ่งอุตสาหกรรมปีนี้จะยังถูกขับเคลื่อนด้วย EEC และสงครามการค้าฯ ที่ส่งผลดี โดยการย้ายฐานการผลิตจากจีนมาไทย ในเดือนก.ย.62 ไทยได้มาแล้ว 8 บริษัท” น.ส.จรีพร กล่าว
น.ส.จรีพร กล่าวอีกว่า ผลสำรวจของ Business World ในเรื่องของปริมาณการลงทุนจากต่างประเทศอันเนื่องมาจากผลกระทบสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ พบว่าในปี 61 เงินทุนที่เข้ามาในอาเซียนจะมาสู่ประเทศไทยเป็นอันดับ 4 รองจากสิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม ส่วนบริษัทที่ย้ายฐานการลงทุนจากจีนออกไปทั่วโลก ในกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เข้ามาไทยเป็นอันดับ 4 รองจากเวียดนาม ไต้หวัน เม็กซิโก กลุ่มสินค้าอุปโภค บริโภค ย้ายเข้ามาลงทุนในไทยเป็นอันดับ 3 รองจากเวียดนาม ไต้หวัน ส่วนอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนย้ายมาไทยเป็นอันดับ 2 รองจากเวียดนาม
ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบการย้ายฐานการผลิตจากจีนมายังอาเซียนเป็นจำนวนโรงงาน อันดับ 1 เวียดนาม 26 โรง อันดับ 2 ไทย 8 โรง อันดับ 3 กัมพูชา 4 โรง อันดับ 4 มาเลเซีย 3 โรง และอันดับ 5 อินโดนีเซีย 2 โรง
อย่างไรก็ตาม เพื่อรักษาโมเมนตัมการขยายตัวด้านการลงทุน รัฐบาลจะต้องการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2563 และผลักดันการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ในพื้นที่ EEC และให้ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนและสนับสนุนการลงทุนภาคเอกชน รวมทั้งการเร่งขยายเขตการค้าเสรีในกรอบต่าง ๆ โดยเฉพาะความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่าสหรัฐอเมริกา เพื่อช่วยเหลือผู้ส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากความตึงเครียดทางการค้าและส่งเสริมการเติบโตของการส่งออกของไทย
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการจะต้องมุ่งเน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยการเตรียมกำลังแรงงานทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มคุณภาพของกำลังแรงงานของไทยเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
สำหรับสิ่งที่ต้องการให้ภาครัฐเข้ามาสนับสนุน คือ การอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบให้เกิดการหมุนเวียนต่อเนื่อง หลังจากที่สภาผู้แทนราษฎรผ่านร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 แล้ว และการสนับสนุนให้ภาคเอกชนไปลงทุนในต่างประเทศ เพื่อให้เงินบาทอ่อนค่าลง เป็นต้น
ด้านนายชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การเติบโตของนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยในปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 39.7 ล้านคน และมีรายได้อยู่ที่ 1.96 ล้านล้านบาท ซึ่งเติบโตต่ำกว่าคาดการณ์เล็กน้อย จากปัจจัยค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น และพฤติกรรมการท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเน้นการท่องเที่ยวด้วยตัวเองมากกว่า 60% จากเดิมที่พึ่งพาทัวร์ และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ประกอบกับโรงแรมเองก็ยังได้รับผลกระทบ เนื่องจากหลายประเทศมองไทยเป็นขุมทรัพย์ จึงมาลงทุนในไทย ทั้งการซื้อที่ดิน เพื่อทำหมู่บ้านแล้วเปิดให้เข้าพัก ทำให้อัตราการเข้าพักของโรงแรมปรับตัวลดลง ขณะเดียวกันยังเผชิญกับการแข่งขันกับรอบบ้าน ทั้ง เกาหลีใต้ เมียนมา เวียดนาม กัมพูชา และลาว ที่มีการดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าไปในประเทศดังกล่าวมากขึ้น
ทั้งนี้ แนะนำผู้ประกอบการท่องเที่ยวให้ปรับตัวโดยหาจุดเด่น เช่น ผู้ประกอบการทัวร์ ปรับขนาดการรับลูกค้าลงมาเป็น 2-4 คน หรือไม่ต้องรับกรุ๊ปใหญ่ และหาจุดเด่นของบริษัททัวร์เพื่อดึงดูดลูกค้า, การบริการที่ประทับใจ รวมถึงอย่ามองเพื่อนบ้านเป็นคู่แข่งแต่ให้มองเป็นคู่ค้า จากศักยภาพที่มีความพร้อมมากกว่าประเทศอื่น ๆ อีกทั้งภาครัฐควรเข้ามาสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงชุมชนให้มากขึ้น โดยเฉพาะการบริการเรื่องการคมนาคมให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และเข้าไปสอนการเพิ่มช่องทางการหารายได้จากการค้าผ่านออนไลน์ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน
พร้อมกันนี้มองการท่องเที่ยวในปีนี้ยังมีการเติบโตได้ต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเติบโตเป็น 41 ล้านคน และมีรายได้เพิ่มเป็น 2.1 ล้านล้านบาท โดยต้องการให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวมองทุกทางตันก็มักจะมีทางออกเสมอ
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า คาดการณ์การส่งออกสินค้าของไทยปี 63 จะเติบโตได้ 0-2% จาก 9 เดือนของปี 62 (ม.ค.-พ.ย.62) การส่งออกสินค้าของไทยมีมูลค่าอยู่ที่ 7.05 ล้านล้านบาท โดยส่วนหนึ่งมาจากการส่งออกสินค้าอาหารราว 1.02 ล้านล้านบาท ขณะที่ก็คาดการส่งออกสินค้าอาหารของไทยในปี 63 จะเติบโตได้ 2-5% จากปีก่อนที่ -1.3% ปรับตัวลงต่ำสุดในรอบ 4 ปี โดยปี 61 มีการเติบโตอยู่ที่ 9%
สำหรับอุตสาหกรรมอาหารที่จะเข้ามาขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ได้แก่ อาหารประเภท Meat Like โปรตีนแทนเนื้อสัตว์, Health Food อาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ, Food for Aged อาหารสำหรับผู้สูงอายุและโภชนาการแบบเฉพาะบุคคล, Local Food อาหารที่ใช้วัตถุดิบและส่วนผสมจากท้องถิ่น, Insect protein การแปรรูปแมลง, Smart & Eco Packaging การรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
ส่วนประเด็นที่ต้องติดตามในปีนี้ คือ การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน ในเฟสที่ 2 จะมีความราบรื่นหรือไม่, สถานการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลางจะยังเข้มข้นหรือไม่ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก จะฟื้นตัวได้ดีขึ้นเพียงใด หากเหตุการณ์ต่าง ๆ ส่งผลกระทบในวงที่จำกัด รวมถึงการย้ายฐานการผลิตของผู้ประกอบการในจีน มายังอาเซียน ในปีนี้จะเริ่มกิจการได้หรือไม่ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวนี้หากยังมีผลกระทบเชิงจิตวิทยาอยู่ ก็อาจจะกดดันกำลังซื้อผู้บริโภค และความมั่นใจได้
นายวิเชียร เปรมชัยสวัสดิ์ รองประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เทคโนโลยีที่จะเข้ามากระทบกับการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชนทุกคนจะมีอยู่ 3 ส่วน ได้แก่ IoT, AI และหุ่นยนต์ ซึ่ง 3 ส่วนนี้จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพจะต้องมีการเชื่อมต่อกับเทคโนโลยี 5G ซึ่ง 5G นี้จะส่งผลกระทบไปทุกอุตสาหกรรม โดยเฉพาะโรงงานต่างๆ ที่จะมีผลมากที่สุด เนื่องด้วยมองว่า 5G จะกลายเป็น GPT หรือ General Purpose Technology ที่เป็นเทคโนโลยีที่แพร่กระจายและคนส่วนใหญ่ต้องใช้ เช่น เครื่องพิมพ์, เครื่องจักรไอน้ำ, ไฟฟ้า, โทรเลข, ระบบขนส่งทางราง, รถยนต์ และอินเทอร์เน็ต รวมถึง iPhone ที่เข้ามาเปลี่ยนการใช้ชีวิตของคน
นอกจากนี้ 5G ยังมีความแตกต่างกับ 4G อย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องของความหน่วงที่ต่ำ ซึ่งก็จะเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม Latency และความเร็ว ที่จะเกี่ยวข้องกับความพึงพอใจของคน และจะกระทบกับอุตสาหกรรมที่ทำในเรื่องของ AR, VR เป็นต้น ซึ่งสามารถที่จะสอน หรือส่งภาพ หรือแสดงสิ่งที่ทำให้ทุกคนมองเห็นว่าสิ่งนั้นเป็นอย่างไร รวมถึงการคอนเน็กชั่น ที่จะกระทบกับการทำสมาร์ทซิตี้ การทำโฮมอินเทลริเจนท์ และ motility หรือความเคลื่อนไหว ก็จะช่วยให้การติดต่อสื่อสารในรถยนต์ขณะขับเคลื่อนดีขึ้น, network ในเรื่องของ 5G สามารถแบ่งเกรดได้ว่าเป็นธรรมดาหรือเป็นพรีเมียม
อย่างไรก็ตามมองว่า 5G เมื่อเกิดขึ้นจริงสิ่งแรกที่จะกระทบคือ โทรศัพท์มือถือ ที่ขณะนี้ยังไม่สามารถรองรับเทคโนโยลีดังกล่าว ซึ่งเชื่อว่าอุปกรณ์ต่างๆ น่าจะคงต้องใช้เวลาอีกสักพัก
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ม.ค. 63)
Tags: WHA, ท่องเที่ยว, นิคมอุตสาหกรรม, สงครามการค้า, อาหาร, อุตสาหกรรม